สามเณรปัญหา หรือสามเณรปัญหาปาฐะ เป็นหนึ่งในบทสวดสำคัญที่รวบรวมอยู่ในภาณวาร เรียกอีกชื่อว่า กุมารปัญหา อยู่ในขุททกปาฐะ ของขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก เป็นการถามตอบระหว่างสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับท่านโสปากะ ผู้บรรพชาเป็นสามเณร และต่อมา สำเร็จพระอรหันต์ เมื่ออายุได้ 7 ขวบ เป็นคำตอบและคำถามจำนาน 10 ข้อ ไล่ไปตามจำนวน 1 - 10 โดยจำนวนนั้นๆ แสดงข้อธรรมต่างๆ อย่างเฉียบคม ถือเป็นหลักจดจำ และนำไปปฏิบัติตามได้อย่างดียิ่ง จึงรวมไว้ในบทสวดมนต์หลวง หรือภาณวาร สำหรับพุทธบริษัทได้สวดสาธยาย เพื่อจดจำนำไปปฏิบัติเพื่อความหลุกพ้นต่อไป

ประวัติพระโสปากะ แก้

เนื้อความของสามเณรปัญหามีขนาดสั้น และกล่าวถึงเพียงข้อธรรมอันเป็นคำถาม-ตอบทั้ง 10 ข้อ มิได้ระบุถึงที่มาหรือประวัติของท่านโสปากะ ขณะที่ปรมัตถโชติกา อันเป็นอรรถกถาอธิบายขุททกปาฐะก็ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับท่านแต่อย่างใด แต่ประวัติของพระโสปากะกลับไปปรากฏในปรมัตถทีปนีอรรถกถาแห่งเถรคาถา ซึ่งอธิบายคาถาของพระโสปาะ เพื่อครั้งอุปสมบทแล้ว (ดู โสปากเถรคาถาจ สัตตกนิบาต ในขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา ของพระสุตตันตปิฎก) นอกจากนี้ ยังมีพระโสปากะอีกท่านในจตุตถวรรค ซึ่งมีชาติกำเนิดคล้ายคลึงกัน คือกำเนิดในป่าช้า (ดู โสปากเถรคาถา จตุตถวรรค ในขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา ของพระสุตตันตปิฎก)

อรรถกถาพรรณนาว่า ท่านเกิดและเติบโตในป่าช้าในเมืองราชคฤห์ จึงได้ชื่อ โสปากะ อย่างไรก็ตาม "อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ท่านเกิดในตระกูลพ่อค้า ส่วนคำว่าโสปากะ เป็นแต่เพียงชื่อ คำนั้นผิดจากบาลีในอุทาน เพราะกล่าวไว้ว่า เมื่อถึงภพสุดท้าย เราเกิดในกำเนิดโสปากะ ดังนี้" [1]

ในอรรถกถาของโสปากเถรคาถา ได้พรรณนาเรื่องราวของท่านไว้ว่า เมื่อเกิดได้ 4 เดือนบิดาท่านได้สิ้นชีวิตลง ผู้เป็นอาจึงเลี้ยงไว้ ต่อมาเมื่อเจริญวัยได้ 7 ขวบ ผู้เป็นอาโกรธว่า ทะเลาะกับลูกของตน จึงนำตัวไปยังป่าช้า แล้วใช้เชือกผูกมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกันอย่างแน่นหนาติดกับร่างของคนตาย แล้วจากไปหวังจะให้สุนัขจิ้งจอกกินเป็นอาหาร อย่างไรก็ตาม ด้วยบุญบารมีของท่านที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ สัตว์ร้ายจึงไม่อาจทำอันตรายแก่ท่านได้ [2]

ในราตรีนั้น "พระศาสดาทรงตรวจดูเวไนยสัตว์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตอันโพลงอยู่ในภายในหทัยของเด็ก จึงทรงแผ่พระโอภาสทำให้เกิดสติแล้วตรัสอย่างนี้ว่ามาเถิดโสปากะ อย่ากลัว จงแลดูตถาคต เราจะยังเธอให้ข้ามพ้นไป ดุจพระจันทร์พ้นจากปากราหูฉะนั้น.ทารกตัดเครื่องผูกให้ขาดด้วยพุทธานุภาพ ในเวลาจบคาถา ได้เป็นพระโสดาบัน ได้ยืนอยู่ตรงหน้าพระคันธกุฎี" [3]

ต่อมามารดาของท่านไม่เห็นบุตร จึงไต่ถามเอาจากผู้เป็นอา ครั้นอาไม่ยอมตอบจึงไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาค ด้วยเข้าใจว่า "เขาเล่าลือว่าพระพุทธเจ้าทรงรู้อดีต อนาคต และปัจจุบัน ถ้ากระไรเราเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามความเป็นไปแห่งบุตรของเรา จึงได้ไปยังสำนักของพระศาสดา" ครั้นแล้วเมื่อมารดาได้พบสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงได้แสดงธรรมจนนางสำเร็จพระโสดาบัน ส่วนท่านโสปากะกุมาร ได้สำเร็จพระอรหันต์ ครั้งนั้น " ฝ่ายมารดาก็ได้เห็นบุตร ร่าเริงดีใจ ได้ฟังว่าบุตรนั้นเป็นพระขีณาสพ จึงให้บวชแล้วก็ไป" [4]

ที่มาแห่งการแสดงธรรม แก้

ในเวลาต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงมีพระประสงค์จะทรงอนุญาตอุปสมบทแก่ท่านโสปากะ จึงมีพระดำรัสถามปัญหา 10 ข้อ ซึ่งอรรถกถาพรรณนาว่า "มีพระดำรัสถามปัญหา 10 ข้อโดยมีอาทิว่า เอกํ นาม กึ อะไรชื่อว่าหนึ่ง ดังนี้ ฝ่ายท่านโสปากะนั้น ถือเอาพระพุทธประสงค์ เทียบเคียงกับพระสัพพัญญุตญาณ ทูลแก้ปัญหาเหล่านั้น โดยนัยมีอาทิว่า สพฺเพ สตฺตาอาหารฏฺฐิติกา สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร ดังนี้ ด้วยเหตุนั้นนั่นแลปัญหาเหล่านั้นจึงชื่อว่า กุมารปัญหา พระศาสดาทรงมีพระทัยโปรดปรานเพราะการพยากรณ์ปัญหาของเธอ จึงทรงอนุญาตการอุปสมบท ด้วยเหตุนั้น อุปสมบทนั้นจึงชื่อว่า ปัญหพยากรณอุปสมบท อุปสมบทด้วยการพยากรณ์ปัญหา" [5]

เนื้อหา แก้

เนื้อหาของสามเณรปัญหาในขุททกปาฐะมีความกระชับ เอ่ยถึงเพียงข้อธรรม ซึ่งมีจำนวนหัวข้อตามจำนวนตัวเลข 1 - 10 โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้


อะไรเอ่ยชื่อว่า 1 สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร, อะไรเอ่ยชื่อว่า 2 นามและรูป, อะไรเอ่ยชื่อว่า 3 เวทนา 3, อะไรเอ่ยชื่อว่า 4 อริยสัจ 4, อะไรเอ่ยชื่อว่า 5 อุปาทานขันธ์ 5, อะไรเอ่ยชื่อว่า 6 อายตนะภายใน 6, อะไรเอ่ยชื่อว่า 7 โพชฌงค์ 7, อะไรเอ่ยชื่อว่า 8 อริยมรรคมีองค์ 8, อะไรเอ่ยชื่อว่า 9 สัตตาวาส 9, อะไรเอ่ยชื่อว่า 10 ท่านผู้ประกอบด้วยองค์ 10 เรียกว่าพระอรหันต์

คำอธิบาย แก้

เนื่องจากเป็นการเอ่ยถึงเพียงข้อธรรม พระอรรถกถาจารย์จึงต้องขยายความเพิ่มเติมในปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ ไว้อย่างละเอียด ซึ่งโดยสังเขปคำอธิบายข้อธรรมต่างๆ ทั้ง 10 ข้อมีดังต่อไปนี้

  1. อะไรเอ่ยชื่อว่า 1 สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร อรรถกถาอธิบายว่า "สัตว์ทั้งหลายที่ตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร เพราะอรรถว่าเป็นปัจจัยในขันธ์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แต่เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ พึงทราบว่า เมื่อขันธ์ทั้งหลาย เกิดแก่และตายอยู่" [6]
  2. อะไรเอ่ยชื่อว่า 2 นามและรูป อรรถกถาอธิบายว่า "ภิกษุละอัตตทิฏฐิความเห็นว่าเป็นตนได้ ด้วยการเห็นเพียงนามรูปแล้ว เมื่อหน่ายโดยมุขคือการพิจารณาเห็นอนัตตา ย่อมจะเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ ย่อมบรรลุปรมัตถวิสุทธิได้" [7]
  3. อะไรเอ่ยชื่อว่า 3 เวทนา 3 กล่าววคือ สุขเวทนา, ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา อรรถกถาอธิบายว่า "ภิกษุละสุขสัญญา ความสำคัญว่าสุข ด้วยการเห็นเวทนาทั้งสามเป็นทุกข์ ... ย่อมจะเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ ย่อมบรรลุปรมัตถวิสุทธิได้" [8]
  4. อะไรเอ่ยชื่อว่า 4 อริยสัจ 4 กล่าวคือ ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค อรรถกถาอธิบายว่า "ความแห่งบทของอริยสัจเหล่านั้นมีดังนี้ ความตัดขาดภวตัณหา ย่อมมีได้ เพราะความตรัสรู้ตามและแทงตลอดอริยสัจเหล่านี้ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า - ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจนี้นั้น อันเราตถาคตตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้ว ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ อันเราตถาคต ตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้ว ภวตัณหาเราตถาคตก็ถอนได้แล้ว ตัณหา ที่นำไปในภพ ก็สิ้นแล้ว บัดนี้ การเกิดอีกไม่มีกันละ ดังนี้" [9]
  5. อะไรเอ่ยชื่อว่า 5 อุปาทานขันธ์ 5 กล่าวคือ รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ อรรถกถาอธิบายว่า "เมื่อพิจารณาโดยความเกิดความดับ (ของอุปาทานขันธ์ 5) เป็นอารมณ์ ได้อมตะด้วยวิปัสสนาแล้ว ย่อมทำให้แจ้งอมตะ คือพระนิพพาน โดยลำดับ" [10]
  6. อะไรเอ่ยชื่อว่า 6 อายตนะภายใน 6 กล่าวคือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ อรรถกถาอธิบายว่า " ภิกษุพิจารณาอายตนะภายใน 6 โดยความเป็นของว่าง ตามพระบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า สุญฺโญ คาโม บ้านว่าง นี้เป็นชื่อของอายตนะภายใน 6 ดังนี้ โดยความเป็นของเปล่าและโดยความเป็นของลวง เพราะตั้งอยู่ได้ไม่นาน เหมือนฟองน้ำและพยัพแดดฉะนั้น ก็หน่าย ทำที่สุดทุกข์โดยลำดับ ย่อมเข้าถึงที่ซึ่งมัจจุราชมองไม่เห็น" [11]
  7. อะไรเอ่ยชื่อว่า 7 โพชฌงค์ 7 กล่าวคือสติ, ธรรมะ, วิริยะ, ปีติ, ปัสสัทธิ, สมาธิ, อุเบกขา อรรถกถาอธิบายว่า "พระโยคาวจร เมื่อเจริญทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ 7 เหล่านี้อย่างนี้ไม่นานนัก ก็จะเป็นผู้ได้คุณมีความหน่ายโดยส่วนเดียวเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน" [12]
  8. อะไรเอ่ยชื่อว่า 8 อริยมรรคมีองค์ 8 หรือมรรคมีองค์แปด กล่าวคือสัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ, สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ อรรถกถาอธิบายว่า "เมื่อเจริญมรรคมีประเภท 8 และมีองค์ 8 นี้อย่างนี้ ย่อมทำลายอวิชชา ทำวิชชาให้เกิด ทำให้แจ้งพระนิพพาน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน " [13]
  9. อะไรเอ่ยชื่อว่า 9 สัตตาวาส 9 กล่าวคือภพภูมิทั้ง 9 คือ นานาตฺตกายภูมิ, เอกตฺตกายภูมิ, นานตฺตสญฺญีภูมิ, เอกตฺตสญฺญีภูมิ, อสญฺญีภูมิ, อากาสานญฺจายตนภูมิ, วิญฺญาณญฺจายตนภูมิ, อากิญฺจญฺญายตนภูมิ, เนวสญฺญานาสญฺญายตนภูมิ อรรถกถาอธิบายว่า "ธรรม 9 ควรกำหนดรู้ คือ สัตตาวาส 9 หน่ายด้วยการเห็นเป็นเพียงกองสังขารล้วนๆ คลายกำหนัดด้วยการเห็นอนิจจลักษณะด้วยตีรณปริญญา หลุดพ้นด้วยการเห็นทุกขลักษณะ เห็นที่สุดโดยชอบด้วยการเห็นอนัตตลักษณะ ตรัสรู้ความเป็นธรรมชอบ ด้วยปหานปริญญา ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้" [14]
  10. อะไรเอ่ยชื่อว่า 10 ท่านผู้ประกอบด้วยองค์ 10 เรียกว่าพระอรหันต์ อรรถกถาอธิบายว่า พระอรหันต์ประกอบด้วยมรรคมีองค์ 8 และสัมมาญาณเป็นองค์ที่ 9 และ สัมมาวิมุตติ เป็นองค์ที่ 10 ยังให้ท่านเป็นพระอเสขะ คือผู้ไม่ต้องศึกษาอีก คือไม่ต้องศึกษาไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญาอีกต่อไป เพราะได้ศึกษาจบโดยได้บรรลุอรหันตผลแล้ว [15]

อ้างอิง แก้

  1. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม 2 ภาค 3 ตอน 3 - หน้าที่ 262
  2. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม 2 ภาค 3 ตอน 3 - หน้าที่ 262 - 263
  3. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม 2 ภาค 3 ตอน 3 - หน้าที่ 263
  4. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม 2 ภาค 3 ตอน 3 - หน้าที่ 263 - 265
  5. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม 2 ภาค 3 ตอน 3 - หน้าที่ 265 - 266
  6. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 99 - 100
  7. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 101 - 102
  8. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 103
  9. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 106
  10. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 107
  11. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 108
  12. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 110 - 111
  13. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 112
  14. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 114
  15. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 116

บรรณานุกรม แก้

  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม 2 ภาค 3
  • ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1