สัทธัมมปัชโชติกา

สัทธัมมปัชโชติกา คือคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความนิทเทส ในขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก แบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาคที่ 1 อธิบายความในมหานิทเทส และภาคที่ 2 อธิบายความในจูฬนิทเทส ผลงานของพระเทวะ [1] [2] อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลบางแห่งระบุว่า เป็นผลงานของพระอุปเสนะ รจนาขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 1,100 [3] นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่า นามของพระเทวะที่ปรากฏในอารัมภกถาสัทธัมมปัชโชติกา คือพระเถระผู้ที่อารธนาผู้ที่รจนาคัมภีร์นี้ คือพระอุปเสนะให้แต่งตำราขึ้นมาอธิบายเนื้อความของนิทเทส ในขุททกนิกาย โดยใช้แนวทางของสำนักมหาวิหาร อันเป็นคณะสงฆ์หลักของลังกาทวีปในขณะนั้น [4] ทั้งนี้ คัมภีร์ฎีกา หรือคัมภีร์ขยายความของคัมภีร์สัทธัมมปัชโชติกา รจนาโดยพระวัชรพุทธิ [5]

เนื้อหา แก้

สัทธัมมปัชโชติกา เป็นการขยายความข้อธรรม ด้วยการยกถ้อยคำหรือถ้อยความในนิทเทสนั้นๆ มาอธิบายโดยพิสดาร นอกจากนี้ ยังอรรถธิบายศัพท์สำคัญที่ปรากฏในมหานิทเทส และจูฬนิทเทส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายความคำศัพท์ในลักษณะเดียวกับพจนานุกรมและสารานุกรมในเวลาเดียว โดยให้ความกระจ่างทั้งในด้านนิรุกติศาสตร์ และไวยากรณ์ รวมถึงความกระจ่างด้วยการยกตัวอย่างเทียบเคียงด้วยคำศัพท์อื่นๆ บ้าง ด้วยวัตถุอื่นๆ บ้าง และด้วยอุปมาอย่างรวบรัดแต่ลึกซึ้งเห็นภาพ โดยสังเขปแล้ว สัทธัมมปัชโชติกามีลักษณะคล้ายพจนานุกรมเชิงสารานุกรม (Encyclopedic dictionary) ทางพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันพระอรรถกถาจารย์ยังใช้อุปมาอุปมัยทางภาษาที่ลึกซึ้งเห็นภาพ มีความงดงามเชิงกวีพจน์ นับเป็นจุดเด่นสำคัญของคัมภีร์สัทธัมมปัชโชติกา

ตัวอย่างเนื้อหา แก้

การอธิบายเชิงนิรุกติศาสตร์ แก้

ตัวอย่างการอธิบายขยายความศัพท์ที่สำคัญหรือน่าสนใจในนิทเทส เช่นในอรรถกถากามสุตตนิทเทสที่ 1 มีการยกคำศัพท์อธิบายในเชิงนิรุกติศาสตร์และนัยยะทางธรรม ดังนี้ "ชื่อว่า สหชาโต เพราะอรรถว่าเกิดในขณะเดียวกัน, ชื่อว่า สัตว์ เพราะอรรถว่า ข้อง เกี่ยวข้อง ข้องแล้วในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปารมณ์เป็นต้น, ชื่อว่า นระ เพราะอรรถว่า นำไปสู่สุคติแลทุคคติ, ชื่อว่า มาณพ เพราะอรรถว่า เป็นลูก คือเป็นบุตรของพระมนู, ชื่อว่า ชีว เพราะอรรถว่า ทรงไว้ซึ่งชีวิตินทรีย์" [6]

การอธิบายด้วยการขยายความหมาย แก้

ตัวอย่างการแจกแจงความนัยของศัพท์ เช่นในอรรถกถาทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส มีการยกตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดภาพพจน์ ในกรณีของคำว่า บังสุกุล ที่อรรถกถาจารย์ได้อธิบายไว้ว่า ที่เรียกผ้าชนิดหนึ่งว่าบังสุกุล เพราะ "เป็นเหมือนเกลือกกลั้วด้วยฝุ่นในที่นั้นๆ ด้วยอรรถว่า ฟุ้งไป เพราะตั้งอยู่บนฝุ่นทั้งหลายในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง มีถนน ป่าช้า และกองหยากเยื่อเป็นต้น" ต่อมาพระอรรถกถาจารย์อธิบายอีกนัยหนึ่งว่า "ชื่อว่าบังสุกุล เพราะอรรถว่า ถึงภาวะน่าเกลียดเหมือนฝุ่น ท่านอธิบายว่า ถึงความเป็นของน่ารังเกียจ การทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลที่มีคำไขอันได้แล้วอย่างนี้ ชื่อว่า บังสุกุล การทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้นภิกษุนั้นถึงชื่อว่า บังสุกูลิก ผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุล องค์แห่งภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลนั้นชื่อบังสุกูลิกังคะ" [7]

การอธิบายโดยอุปมาอุปมัย แก้

อีกหนึ่งตัวอย่างของการอุปมาแสดงภาพพจน์ อยู่ในอรรถกถาคุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ 2 ซึ่งอธิบายลักษณะของสมาธิดังนี้ว่า "บรรดาวิตกและวิจารเหล่านั้น วิตกมีลักษณะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ วิจารมีลักษณะประคองจิตไว้ในอารมณ์ วิตกและวิจารเหล่านั้น แม้เมื่อไม่แยกกันในอารมณ์อะไรๆ วิตกเข้าถึงจิตก่อนด้วยอรรถว่าหยาบและเป็นธรรมชาติถึงก่อน ดุจการเคาะระฆัง วิจารตามพัวพันด้วยอรรถว่าละเอียดและด้วยสภาพตามเคล้า ดุจเสียงครางของระฆัง ก็วิตกมีการแผ่ไปในอารมณ์นี้ เป็นความไหวของจิตในเวลาที่เกิดขึ้นครั้งแรก ดุจการกระพือปีกของนกที่ต้องการจะบินไปในอากาศ และดุจการโผลงตรงดอกปทุมของภมรที่มีใจผูกพันอยู่ในกลิ่น, วิจารมีความเป็นไปสงบ ไม่เป็นความไหวเกินไปของจิต ดุจการกางปีกของนกที่ร่อนอยู่ในอากาศ และดุจการหมุนของภมรที่โผลงตรงดอกปทุม ในเบื้องบนของดอกปทุม" [8]

การอธิบายด้วยการชี้แจงข้อธรรม แก้

ตัวอย่างการขยายความข้อธรรม เช่นในอรรถกถากามสุตตนิทเทสที่ 1 ได้แจกแจงศัพท์โดยอธิบายในเชิงธรรมไว้ว่า "ชื่อว่า สัทธาพละ เพราะอรรถว่า ไม่หวั่นไหวในความไม่เชื่อ, วีริยพละ เพราะอรรถว่า ไม่หวั่นไหวในความเกียจคร้าน, ชื่อว่า สติพละ เพราะอรรถว่า ไม่หวั่นไหวในความลืมสติ, ชื่อว่า สมาธิ เพราะอรรถว่า ให้ยึดมั่น ... พึงเห็นว่า ความตั้งมั่นแห่งใจเหมือนความหยุดนิ่งของเปลวประทีปในที่สงัดลม ชื่อว่า สมาธิพละ เพราะอรรถว่า ไม่หวั่นไหวในความฟุ้งซ่าน (และ) ชื่อว่า ปัญญา เพราะอรรถว่า รู้ชัด รู้ชัดอะไร? รู้ชัดอริยสัจทั้งหลายโดยนัยเป็นต้นว่า นี้ทุกข์ ดังนี้" [9]

การอธิบายโดยยกข้อมูลประกอบ แก้

ตัวอย่างการขยายความโดยให้ความรู้ตามบริบทแวดล้อม เช่นที่ปรากฏในอรรถกถาคุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ 2 ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ความว่า "เทวดาเหล่านั้นชื่อว่า จาตุมมหาราชิกา เพราะอรรถว่า มีมหาราชทั้ง 4 กล่าวคือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และท้าวกุเวร เป็นใหญ่ ชื่อว่า เทพเพราะอรรถว่า รุ่งเรืองด้วยรูปเป็นต้น เทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกาเหล่านั้นอยู่ท่ามกลางสิเนรุบรรพต, บรรดาเทวดาเหล่านั้น พวกที่อยู่ที่บรรพตก็มีพวกที่อยู่ในอากาศก็มี อยู่ต่อๆ กันไปถึงจักรวาลบรรพต เทวดาเหล่านี้คือ พวกขิฑฑาปโทสิกะ พวกมโนปโทสิกะ พวกสีตวลาหกะ พวกอุณหวลาหกะ จันทิมเทพบุตร สุริยเทพบุตร แม้ทั้งหมดอยู่เทวโลกชั้นจาตุมมหาราชิกาทั้งนั้น" เป็นต้น [10]

อ้างอิง แก้

  1. วรรณคดีบาลี หน้า 77
  2. วรรณคดีบาลี หน้า 81
  3. The Buddha's Philosophy หน้า 176
  4. สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส. หน้าที่ 33
  5. ดู PRIMARY TEXTS BY AUTHORS WHOSE DATES ARE UNKNOWN ใน http://faculty.washington.edu/kpotter/xtxtdu.htm เก็บถาวร 2012-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เล่ม 5 ภาค 1 หน้า 74 - 75
  7. สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เล่ม 5 ภาค 1 หน้า 454 - 455
  8. สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เล่ม 5 ภาค 1 หน้า 301
  9. สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เล่ม 5 ภาค 1 หน้า 126 - 127
  10. สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เล่ม 5 ภาค 1 หน้า 343

บรรณานุกรม แก้

  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • G F Allen. ( 2008). The Buddha's Philosophy: Selections from the Pali Canon and an Introductory Essay. London. Routledge.
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เล่ม 5 ภาค 1