สัทธัมมปกาสินี หรือ สัทธัมมัปปกาสินี (สทฺธมฺมปฺปกาสินี) เป็นคัมภีร์อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค ในขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก แบ่งเป็น 2 ภาค อธิบายความในปฏิสัมภิทามรรคทั้งหมด เป็นผลงานของพระมหานามะแต่งตามคำอาราธนาของมหานามอุบาสก [1] ทั้งนี้ ชื่อคัมภีร์มีความหายว่า อรรถกถาที่ประกาศพระสัทธรรมให้แจ่มแจ้ง ให้รู้ชัด เป็นคำอธิบายขยายความของพระคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคให้แจ่มแจ้งชัดเจนนั่นเอง [2]

ผู้รจนา แก้

ผู้รจนาคัมภีร์นี้คือพระมหานามะเถระ เป็นชาวลังกา แห่งสำนักมหาวิหาร คณะสงฆ์หลักของลังกาทวีปในยุคสมัยนั้น และเป็นสำนักเดียวกับพระพุทธโฆสะ หรือพระพุทธโฆษาจารย์ โดยพระเถระผู้รจนาได้กล่าวไว้ในตอนท้ายของคัมภีร์นี้ว่า ท่านอุตรมันตีอุบาสก ได้สร้างบริเวณะ หรือเสนาสนะขึ้นในสำนักมหาวิหาร ท่านได้พำนักอยู่ในอุตตรมันตีบริเวณะนี้ และได้แต่งอรรถกถาสัทธัมมปกาสินีจนแล้วเสร็จในปีที่ 3 หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าโมคคัลลานะ กษัตริย์แห่งลังกาทวีป [3]

อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ลังกาที่มีพระนามโมคคัลลานะและครองราชสมบัติในสมัยกรุงอนุราธปุระเป็นราชธานี มีถึง 2 พระองค์ องค์ที่ 1 สิ้นพระชนม์พ.ศ. 1038 ส่วนองค์ที่ 2 สิ้นพระชนม์พ.ศ. 1090 จึงมีผู้สันนิษฐานว่า คัมภีร์สัทธัมมปกาสินี น่าจะสามารถกำหนดอายุคร่าวๆ อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 ส่วนคัมภีร์จูฬคันถวงศ์ ระบุว่า พระมหานามะรจนาคัมภีร์นี้ โดยได้รับการอาราธนาโดยอุบาสกที่มีชื่อเดียวกับท่าน คือมหานามะ [4]

ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาบางท่านให้ข้อสันนิษฐานว่า สัทธัมมปกาสินี อาจรจนาขึ้นระหว่างปีพ.ศ. 1042 - 1102 แม้ว่าจะหาข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องปีที่รจนาไม่ได้ แต่สิ่งที่แน่นอนประหารหนึ่งก็คือ คัมภีร์นี้ถูกรจนาขึ้นในช่วงหลังยุคพระพุทธโฆสะ [5] โดยพระมหานามะเองนั้นก็นับได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้สืบทอดแนวทางของพระพุทธโฆสะ อันเป็นพระอรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ [6]

เนื้อหา แก้

เนื้อเรื่องเริ่มต้นด้วยคัมถารัมภกถา คือคำเริ่มคัมภีร์ และต่อมาพรรณนาความในปฏิสัมภิทามรรคปกรณ์ไว้อย่างละเอียด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ 1. มหาวรรค คือหมวดขนาดใหญ่, 2. มัชฌมิวรรค คือหมวดขนาดกลาง หรือเรียกว่า ยุคนันธวรรค และ 3. จุลวรรค คือหมวดเล็ก หรือเรียกว่า ปัญญาวรรค และได้มีคำลงท้ายที่เรียกว่า นิคมกถา [7]

เนื้อหาหลักของสัทธัมมปกาสินี เป็นการขยายความข้อธรรมที่พระสารีบุตรได้แสดงไว้ในปฏิสัมภิทามรรคอย่างละเอียดพิสดารยิ่งขึ้น มีการอธิบายลักษณะของขันธ์ 5 และลักษณะธรรมต่างๆ มีการอธิบายแนวทาง กระบวนการ หรือมรรค และผลแห่งการปฏิบัติธรรมโดยละเอียด เช่นการอธิบายลักษณะของสุขโสมนัส ว่า เกิดขึ้นเพราะอาศัยทุกข์ คือ ความยินดีในทุกข์ ความไม่เที่ยงแห่งทุกข์ความแปรปรวน เป็นธรรมดาแห่งทุกข์ คือ โทษแห่งทุกข์ การนำออกซึ่งฉันทราคะการละฉันทราคะในทุกข์ คือ อุบายเครื่องสลัดออกแห่งทุกข์ นิพพานนั้นแล คือ อุบายเครื่องสลัดออกแห่งทุกข์ (อรรถกถาสัจนิทเทส) [8]

ตัวอย่างการอธิบายหลักธรรมและการปฏิบัติธรรมและผลของการปฏิบัติธรรมเช่น การอธิบายถึงลักษณะของศีลว่า มีความสะอาดเป็นปัจจุปัฏฐาน มีหิริ และโอตตัปปะ เป็นปทัฏฐาน (อรรถกถาสีลมยญาณุทเทส) [9] มีการอธิบายว่า เจโตปริยญาณ คือญาณในการกำหนดด้วยใจ ด้วยการแผ่ไป (อรรถกถาเจโตปริยญาณุทเทส) [10] การอธิบายลักษณะของวิปัสสนูปกิเลส ว่ามี 10 ประการ คือโอภาส - แสงสว่าง, ญาณ - ความรู้, ปีติ - ความอิ่มใจ, ปัสสัทธิ - ความสงบ, สุข - ความสุข, อธิโมกข์ - ความน้อมใจเชื่อ, ปัคคหะ - ความเพียร, อุปัฏฐาน - ความตั้งมั่น, อุเบกขา - ความวางเฉย และนิกันติ - ความใคร่ เป็นต้น [11]

โดยสังเขปแล้ว สัทธัมมปกาสินีเป็นดั่งคู่มือในการปฏิบัติตามมรรคอันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ และพระสารีบุตรอัครสาวกได้รวบรวม และพรรณนาไว้อย่างเป็นระบบ นับเป็นวรรณกรรมเชิงอรรถาธิบายแนวทางปฏิบัติทางศาสนาที่ล้ำค่ายิ่ง สำหรับผู้แสวงหาหนทางหลุดพ้นตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อ้างอิง แก้

  1. *คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. หน้า 77
  2. โครงการปริวรรตอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่น. (2531) หน้า 27
  3. โครงการปริวรรตอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่น. (2531) หน้า 28
  4. โครงการปริวรรตอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่น. (2531) หน้า 28
  5. Gombrich, Richard F. และ Scherrer-Schaub, Cristina Anna. (2008) หน้า 25
  6. Bimala Charan Law. (1923). หน้า 95 - 96
  7. โครงการปริวรรตอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่น. (2531) หน้า 29
  8. สัทธัมมปกาสินี อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค หน้า 260
  9. สัทธัมมปกาสินี อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค หน้า 44
  10. สัทธัมมปกาสินี อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค หน้า 144
  11. สัทธัมมปกาสินี อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค หน้า 374

บรรณานุกรม แก้

  • Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.
  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • โครงการปริวรรตอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่น. (2531). สัทธัมมปกาสินี. กรุงเทพมหานคร. มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ
  • Gombrich, Richard F. และ Scherrer-Schaub, Cristina Anna. (2008). Buddhist studies : Papers of the 12th World Sanskrit Conference 2003. Delhi : Motilal Banarsidass.
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สัทธัมมปกาสินี อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เล่ม 7 ภาค 1