สัตยาเคราะห์เกลือ

การเดินขบวนเกลือ (อังกฤษ: Salt March) หรือ สัตยาเคราะห์เกลือ (อังกฤษ: Salt Satyagraha) หรือ การเดินขบวนทาณฑี (อังกฤษ: Dandi March) เป็นการก่อการดื้อแพ่งโดยสันติในอินเดียใต้อาณานิคมอังกฤษ นำโดยมหาตมา คานธี การเดินขบวนระยะเวลา 24 วัน เริ่มต้นในวันที่ 12 มีนาคม และสิ้นสุดเมื่อ 5 เมษายน 1930 เพื่อเป็นการเรียกร้องโดยตรงในการต่อต้านภาษีและเป็นการประท้วงโดยสันติต่อต้านการผูกขาดอุตสาหกรรมเกลือของอังกฤษในอินเดีย การเดินขบวนนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการจุดประกายให้ผู้คนมาเข้าร่วมขบวนการต่อต้านเจ้าอาณานิคมด้วยสันติวิธี การเดินขบวนเริ่มต้นโดยคานธีและอาสาสมัครอีก 78 คนที่เขาวางใย ระยะทางเดินเท้ารวม 387 กิโลเมตร (240 ไมล์) จากสาพรมตีอาศรมไปยังทาณฑี (ในเวลานั้นคือนวสารี ปัจจุบันอยู่ในรัฐคุชราต)[1] ได้มีชาวอินเดียอีกจำนวนมากเข้าร่วมการเดินขบวนระหว่างทาง คานธีกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเกลือของเจ้าอาณานิคมอังกฤษที่เวลา 8:30 นาฬิกา ตอนเช้าของวันที่ 6 เมษายน 1930 และได้จุดประกายให้เกิดการดื้อแพ่งหมู่โดยชาวอินเดียนับล้านคนต่อกฎหมายเกลือของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ[2]

การเดินขบวนเกลือ
คานธีนำขบวนสัตยาเคราะห์เกลือ
วันที่12 มีนาคม 1930 – 5 เมษายน 1930
ที่ตั้งสาพรมตี อะห์มดาบาด คุชราต
ชื่ออื่นการเดินขบวนเกลือทาณฑี, สัตยาเคราะห์เกลือ
ผู้เข้าร่วมมหาตมา คานธี และอีก 78 บุคคล

หลังคานธีผลิตเกลือโดยการระเหยน้ำทะเลที่ทาณฑี ซึ่งเป็นการทำขัดต่อกฎหมายเกลือของอังกฤษ เสร็จสิ้น คานธีได้เดินเท้าต่อไปทางใต้ เลียบทางชายหาด ผลิตเกลือและเข้าปราศรัยในการพบปะตลอดทาง พรรคคองเกรสเตรียมการสัตยาเคราะห์ครั้งใหญ่ที่ธารสนะซอลต์เวิกส์ (Dharasana Salt Works) ราว 40 km (25 mi) ทางใต้ของทาณฑี กระนั้น คานธีถูกจับกุมเสียก่อนในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 4 ย่าง 5 พฤษภาคม 1930 ไม่กี่วันก่อนสัตยาเคราะห์ใหญ่ที่ธารสนะ การเดินขบวนไปยังทาณฑีและสัตยาเคราะห์ที่ธารสนะได้เรียกความสนใจจากทั่วโลกมาสู่ขบวนการเอกราชอินเดีย มีการรายงานข่าวถึงกรณีนี้มากมาย ขบวนการสัตยาเคราะห์ต่อต้านภาษีเกบือดำเนินต่อไปอีกราวหนึ่งปี ก่อนจะสิ้นสุดเมื่อคานธีถูกปล่อยตัวจากคุกและมีการเจรจากับอุปราช ลอร์ดเออร์วิน ที่การประชุมราวด์เทเบิลครั้งที่สอง[3] แม้มีชาวอินเดียกว่า 60,000 คนที่ถูกคุมขังระหว่างขบวนการสัตยาเคราะห์[4] กระนั้น อังกฤษก็ไม่ได้ยินยอมต่อข้อเรียกร้อง[5]

ขบวนการสัตยาเคราะห์เกลือของอินเดียมีรากฐานมาจากหลักการประท้วงโดยสันติวิธีที่คานธีเรียกว่า "สัตยาเคราะห์" (แปลโดยหยาบว่า แรงหรือพลังแห่งความจริง)[6] ในต้นปี 1920 คองเกรสแห่งชาติอินเดียเลือกสัตยาเคราะห์เป็นกลวิธีหลักในการเรียกร้องเอกราชจากอินเดีย และมอบหมายคานธีให้เป็นผู้นำการจัดสัตยาเคราะห์ เขาได้เลือกรัฐบัญญัติเกลือปี 1882 ของอังกฤษเป็นเป้าหมายแรกของสัตยาเคราะห์ การเดินขบวนเกลือไปยังทาณฑีและการทุบตีผู้เข้าร่วมการเดินขบวนจากตำรวจเจ้าอาณานิคมได้รับความสนใจในข่าวทั่วโลก เป็นหลักฐานถึงความมีประสิทธิภาพของกลวิธีสัตยาเคราะห์[7] คำสอนเรื่องสัตยาเคราะห์และการเดินขบวนไปทาณฑีของคานธีมีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้นำขบวนการสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกา มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนีบร์, เจมส์ เบเวิล และสมาชิกคนอื่นในขบวนการสิทธิพลเมืองในทศวรรษ 1960s[8] การเดินขบวนนี้ถือเป็นการต่อต้านครั้งสำคัญที่สุดต่ออังกฤษนับตั้งแต่ขบวนการปฏิเสธความร่วมมือในปี 1920–22 และเป็นการก่อการครั้งสำคัญทันทีหลังการประกาศเอกราชและการปกครองตนเอง ปูรณสวราช ของคองเกรสแห่งชาติอินเดียเมื่อ 26 มกราคม 1930[9]

อ้างอิง แก้

  1. "Salt March". Oxford Encyclopedia of the Modern World. Oxford University Press. 2008. ISBN 978-0-19-517632-2. สืบค้นเมื่อ 4 January 2021.
  2. "Mass civil disobedience throughout India followed as millions broke the salt laws", from Dalton's introduction to Gandhi's Civil Disobedience, Gandhi and Dalton, p. 72.
  3. Dalton, p. 92.
  4. Johnson, p. 234.
  5. Ackerman, p. 106.
  6. "Its root meaning is holding onto truth, hence truth-force. I have also called it Love-force or Soul-force." Gandhi (2001), p. 6.
  7. Martin, p. 35.
  8. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ King, p. 23
  9. Eyewitness Gandhi (1 ed.). London: Dorling Kindersaley Ltd. 2014. p. 44. ISBN 978-0241185667. สืบค้นเมื่อ 3 September 2015.

บรรณานุกรม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้