สะพานวรเสรษฐ เป็นสะพานข้ามคูวัดเบญจมบพิตร คูเดียวกับสะพานพระรูป สะพานถ้วย และสะพานงา แต่ไม่ได้อยู่ในสะพานชุดเดียวกัน สะพานนี้อยู่นอกรั้ววัดบนถนนนครปฐมที่มาจากหน้าทำเนียบรัฐบาล สิ้นสุดที่หน้าวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ข้ามคูวัดตอนที่จะบรรจบกับคลองเปรมประชากร[1] ตั้งอยู่ในท้องที่แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

สะพานวรเสรษฐ
เส้นทางถนนนครปฐม
ข้ามคูวัดเบญจมบพิตร
ที่ตั้งแขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง
แผนที่

ประวัติ แก้

สะพานวรเสรษฐสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2444 โดยพระอัยยิกาเธอกรมหลวงวรเสรษฐสุดาทรงบริจาคราชทรัพย์และให้สร้างตามแบบของกรมโยธาธิการ เป็นสะพานหนึ่งในจำนวน 5 สะพานในบริเวณวัดเบญจมบพิตร ได้แก่ สะพานถ้วย สะพานงา และสะพานพระรูป (อยู่ในวัดเบญจมบพิตร) สะพานโสภาคย์ และสะพานวรเสรษฐ (อยู่ด้านหน้านอกวัดเบญจมบพิตร)[2]

กรมศิลปากรประกาศขึ้นเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2518 แต่มิได้กำหนดเขตที่ดิน[3]

สถาปัตยกรรม แก้

สะพานวรเสรษฐเป็นสะพานคอนกรีตประกอบด้วยเสาด้านละ 4 ต้น ลักษณะเสาเป็นรูปสี่เหลี่ยมปลายหัวเสาตัดตรง ระหว่างเสาคู่กลางประดับด้วยเหล็กหล่อเป็นลวดลายพันธ์ุพฤกษาแบบตะวันตก ขนาดของตัวสะพาน ประมาณ 5.50x9.30 เมตร ที่ราวสะพานด้านทิศตะวันตกมีแผ่นป้าย สพานวรเสรษฐ ติดอยู่

ราวสะพานฝั่งตะวันตกยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีร่องรอยการซ่อมบริเวณหัวเสาของสะพานเป็นบางส่วน ตัวสะพานด้านตะวันออกซึ่งประกอบด้วยเสาคอนกรีตและลวดลายเหล็กหล่อ โดยเสาคอนกรีตต้นด้านเหนือ (ที่ขนาบเหล็กหล่อ) บริเวณหัวเสาชำรุดเหลือเพียงครึ่งเดียวแต่ยังคงปรากฎร่องรอยของรูสำหรับเสียบเดือยของเหล็กหล่ออยู่ สำหรับตัวสะพานส่วนที่ต่อจากเสาต้นดังกล่าวทรุดตัวไปทางตะวันออก (ด้านคลองแยก) เกิดเป็นรอยแยกขาดจากตัวเสาบริเวณผนังดีรอยร้าว ส่วนเสาสะพานต้นด้านใต้สภาพหัวเสาหลุดและตกลงไปในคลอง (ยังเห็นอยู่ในคลอง) ส่วนลูกกรงที่เป็นลวดลายเหล็กหล่อขาดหายไปเหลือเพียงส่วนฐานของลายซึ่งอยู่ในสภาพถูกตัดและขาดในระดับเดียวกัน[4]

อ้างอิง แก้

  1. โรม บุนนาค. "รู้ยังอยู่ไหนบ้าง! ๑๗ สะพานสวยงามสร้างสมัย ร.๔ ร.๕ ร.๖ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน!!". ผู้จัดการออนไลน์.
  2. กรมศิลปากร.ทะเบียนโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล.กรุงเทพฯ โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2535.
  3. "กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.
  4. "สะพานวรเสรษฐ". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.