สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

เครดิตยูเนียน (อังกฤษ: credit union) เป็นสถาบันการเงินที่สมาชิกเป็นเจ้าของ และบริหารงานโดยสมาชิก มีจุดประสงค์ในการระดมเงินออมเพื่อใช้สำหรับเป็นทุนให้บริการแก่สมาชิกในรูปแบบของสินเชื่อโดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม และไม่เน้นผลกำไรสูงสุด ผลกำไรที่ได้จะถูกจัดสรรเป็นสวัสดิการต่างๆ ให้แก่สมาชิก

เครดิตยูเนียน แตกต่างจากสถาบันการเงินอื่น ๆ ตรงที่สมาชิกของเครดิตยูเนี่ยนเป็นเจ้าของเครดิตยูเนี่ยน และสมาชิกจะเป็นผู้เลือกตัวแทนที่เป็นสมาชิกด้วยกันขึ้นมาเป็นกรรมการดำเนินการเพื่อบริหารเครดิตยูเนี่ยน โดยหลักการประชาธิปไตยหนึ่งคนหนึ่งเสียง โดยไม่มีการคำนึงถึงจำนวนหุ้นที่ได้ลงทุนในเครดิตยูเนี่ยน

เครดิตยูเนี่ยนในประเทศไทย

แก้

เครดิตยูเนี่ยนในประเทศไทยจัดตั้งขึ้นในรูปแบบของสหกรณ์ ที่เรียกว่า สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ประเทศไทยได้กำหนดให้เครดิตยูเนี่ยนเป็นสหกรณ์ประเภทที่ 7[1] และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ถือเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย[2]

เครดิตยูเนี่ยน สมาชิกจะต้องสะสมค่าหุ้น ๆ ละ 10 บาท เป็นจำนวนกี่หุ้นขึ้นอยู่กับที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อตอนสมัคร และจะต้องสะสมหุ้นสม่ำเสมอทุกเดือน และการดำเนินกิจการจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับกิจกรรมของธนาคาร ได้แก่รับฝากเงินจากเงินสมาชิก การให้สินเชื่อแก่สมาชิก รายได้หลักของเครดิตยูเนี่ยนจะเกิดจากรายได้จากดอกเบี้ยรับ และผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากจะถูกจัดสรรในรูปของทุนสำรองของเครดิตยูเนี่ยน ทุนสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้บริการแก่สมาชิก เงินปันผลสำหรับการถือหุ้นของสมาชิก เงินเฉลี่ยคืนจากการใช้บริการเงินกู้ของสมาชิก เป็นต้น

รูปแบบของเครดิตยูเนี่ยนในประเทศไทย

  1. สหกรณ์ออมทรัพย์
  2. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

ความแตกต่างของทั้ง 2 แบบคือสหกรณ์ออมทรัพย์มักถูกจัดตั้งขึ้นในหน่วยงาน โดยมากสมาชิกจะมีเงินเดือนประจำและถูกหักเป็นเปอร์เซ็นต์จากเงินเดือนเพื่อสะสมเป็นค่าหุ้นทุกๆ เดือน ในขณะที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มักถูกจัดตั้งตามแหล่งชุมชน หมู่บ้าน กลุ่มที่ทำกิจกรรมร่วมกัน หรือกลุ่มสมาคมเดียวกัน เช่น กลุ่มเอ็นจีโอ (NGO) กลุ่มผู้พิการตาบอด กลุ่มผู้ทำธุรกิจขายตรง เป็นต้น

บุคคลทั่วไป ที่อยู่ในวงศ์สัมพันธ์เดียวกัน สามารถรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน และสามารถขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์ประเภทเครดิตยูเนี่ยนได้ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542

ประวัติ

แก้

การรวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินการตามแนวคิดของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เป็นการรวมคนจากย่านชุมชนแออัดห้วยขวาง ดินแดง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2508[3]ใช้ชื่อว่า “เครดิตยูเนี่ยนแห่งศูนย์กลางเทวา” แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์

สหกรณ์ที่ได้รับการจดทะเบียนแห่งแรก คือ "สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแม่มูล จำกัด" จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2522 ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเดิมเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ในชุมชน จึงอยู่ในรูปย่อยของประเภท "สหกรณ์ออมทรัพย์" และต่อมาได้รับการกำหนดให้เป็นประเภท "สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน" ตามกฎกระทรวง กำหนดประเภทสหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียน พ.ศ. 2548

อ้างอิง

แก้
  1. กฎกระทรวง เรื่องกำหนดประเภทของสหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียน พ.ศ. 2548,http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2548/00168340.PDF
  2. ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2550,http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2550/E/084/17.PDF
  3. หนังสือ 40 ปี เครดิตยูเนี่ยนศูนย์กลางเทวา

แหล่งเชื่อมโยงภายนอก

แก้