สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ฮวต ตาต วชิรปญฺโญ)
สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี ฮวต ตาต วชิรปญฺโญ (เขมร: សម្តេចព្រះមហាសុមេធាធិបតី ហួត តាត វជិរបញ្ញោ; อังกฤษ: Huot Tat; ค.ศ.1892–1975) อดีตเจ้าอาวาสวัดอุณาโลม กรุงพนมเปญ และอดีตสมเด็จพระสังฆราชในคณะมหานิกาย (ค.ศ.1969-1975) เป็นพระนักปราชญ์ที่มีความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนา นิพนธ์หนังสือทางด้านพระพุทธศาสนาจำนวนมาก และถือว่าเป็นพระสงฆ์ที่ทำงานร่วมกับสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ) ในช่วงการปกครองของฝรั่งเศส มีบทบาทในการแปลคัมภีร์พระไตรปิฎกจากภาษาบาลีเป็นภาษาเขมร มีส่วนร่วมในการร่วมเรียบเรียงพจนานุกรมภาษาเขมรที่ถูกสำคัญต่อประวัติศาสตร์ด้านอักษรศาสตร์เขมร ร่วมกับสมเด็จชวน ณาต และถูกใช้อยู่ในปัจจุบัน
สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ฮวต ตาต วชิรปญฺโญ) | |
---|---|
สมเด็จพระสังฆราช ในคณะมหานิกาย | |
ดำรงพระยศ | ค.ศ. 1970-1975 |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ) |
ถัดไป | สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (เทพ วงศ์) |
สถิต | วัดอุณาโลม |
นิกาย | มหานิกาย |
ประสูติ | ค.ศ. 1892 จังหวัดกำปงสปือ |
สิ้นพระชนม์ | ค.ศ. 1975 จังหวัดกำปงสปือ |
พระชนก | ฮกเส็ง |
พระชนนี | แงต |
ในระหว่างที่เขมรแดงเข้าปกครองประเทศด้วยระบบคอมมิวนิสต์ และมีนโยบายในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และมีแนวคิดในเรื่องการปราบปรามฝ่ายศาสนา มีหลักฐานว่าท่านถูกทหารเขมรแดงนำขึ้นรถไป และถูกสังหารในบริเวณจังหวัดกำปงสปือ ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือประวัติสังเขปพุทธศาสนาบัณฑิต กล่าวไว้ว่า "ในต้นปี 1975 พระองค์ได้ไปกับพระสงฆ์ทั้งมวล ไปยังเขตอุดงค์ จังหวัดกำปงสปือ และคาดว่าพระองค์ได้มรณกรรมที่แห่งนี้" [1] ค.ศ.1979 เป็นช่วงเขมรแดงที่ปกครองภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์ ภายใต้แนวคิด "ปฏิวัติ" เปลี่ยนแปลง ตามหลักฐานที่ปรากฏว่า "...โฆษกของรัฐบาลนี้ได้ประกาศอ้างว่า "ประวัติศาสตร์กว่าสองพันปีของกัมพูชา" ได้ยุติลงแล้ว รวมไปถึงการเงิน การตลาด การศึกษาอย่างเป็นทางการ พุทธศาสนา หนังสือ ทรัพย์สินส่วนบุคคล สไตล์การแต่งกายที่หลากหลายและเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ไม่มีรัฐบาลใดได้เคยพยายามเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายเช่นนี้ และอย่างรวดเร็วเช่นนี้มาก่อน ไม่เคยมีใครมุ่งไปสู่อนาคตอย่างไม่ผ่อนปรน หรือมีอคติเข้าข้างคนยากจนขนาดนี้..." ภายใต้อุดมคติและแนวคิด "....สร้างลัทธิสังคมนิยมที่ไร้ต้นแบบ..." [2]
ประวัติ
แก้เกิดวันอาทิตย์ 15 ค่ำ ปีมะโรง จัตวาศก พ.ศ. 2435 ค.ศ. 1892 ในหมู่บ้านตลาดอุดงค์ (ភូមិផ្សារឧដុង្គ) จังหวัดกำปงสปือ มีบิดานามว่า ฮกเส็ง (ហុក សេង) หรือเรียกกันว่า ฮวต (ហួត) มารดาชื่อว่า แงต (ង៉ែត) อายุ 7 ปี ฮวต ตาต ได้ไปศึกษาที่วัดในสำนักของพระธรรมโฆษาจารย์ เมียส (មាស) และบวชเป็นสามเณรในขณะอายุ 13 ปี และได้ศึกษาในสำนักของพระธรรมลิขิต โส (ស៊ូ)
ใน พ.ศ. 2456 / ค.ศ.1912 ในขณะที่มีอายุ 20 ปี สามเณรฮวต ตาต ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดอุณาโลม โดยมีสมเด็จพระมหาสังฆราช (เนิล เตียง) (សម្តេចព្រះសង្ឃរាជ និល ទៀង) เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชได้ 15 วันได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสังฆวิชชา (ព្រះគ្រូសង្ឃវិជ្ជា) ฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชนิล เตียง พระอุปัชฌาย์
ค.ศ.1919 พระฮวต ตาต ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมการเรียบเรียงพจนานุกรมเขมร (គណៈកម្មការរៀបចំវចនានុក្រមខ្មែរ) ใน ค.ศ.1945 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอธิบดีเถรสภา (ព្រះអធិបតីថេរសភា) คัมภีร์พระพุทธศาสนา พระไตรปิฎก ที่แต่เดิมเป็นภาษาบาลี ได้รับการแปลเป็นภาษาเขมร โดยสมเด็จพระธรรมลิขิต (แก อุก) (សម្តេច កែ អ៊ុក) เป็นประธานในขณะนั้น โดยมีพระฮวต ตาต และพระชวน ณาต เป็นกำลังสำคัญ
ใน ค.ศ.1948 พระภิกษุ ฮวต ตาต ได้รับการแต่งตั้งเป็นจางวางโรงเรียนภาษาบาลีชั้นสูง และเป็นสมาชิกกลุ่มชุมนุมพระไตรปิฎก ใน ค.ศ.1949 (พ.ศ. 2492) ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระโพธิวงศ์ (ព្រះពោធិវ័ង្ស) ในขณะที่อายุได้ 75 ปี ใน ค.ศ.1955 ได้ดำรงตำแหน่งอัคคอธิการ ในพุทธิกศึกษาแห่งประเทศกัมพูชา (ពុទ្ធិកសិក្សាក្នុងប្រទេសកម្ពុជា) พร้อมได้รับการแต่งตั้งเป็นสากลอธิการ (សាកលវិទ្យាធិការ) ในพุทธิกมหาวิทยาลัย (ពុទ្ធិកសកលវិទ្យាល័យ) ในขณะเดียวกันท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระโพธิวงศ์ (សម្តេចព្រះពោធិវ័ង្ស) ในปีมะโรง ค.ศ.1965 (พ.ศ. 2508) [3] ก่อนหน้านี้มีหลักฐานว่าท่านได้รับการแต่งตั้งในสมณศักดิ์ที่ พระวิสุทธิวงศ์ พระราชาคณะเกียรติยศ (ព្រះវិសុទ្ធិវង្ស រាជាគណៈកិត្តិយស) พระศากยวงศ์ (ព្រះសក្យវង្ស) และพระมหาวิมลธรรม (ព្រះមហាវិមលធម្ម)
ในขณะที่สมเด็จพระสังฆราชชวน ณาต ได้มรณภาพลงในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ.1969 ขณะพระชันษา 86 ปี ที่วัดอุณาโลม และสมเด็จพระโพธิวงศ์ ฮวต ตาต พระชันษา 78 ปี ในปีระกา พ.ศ. 2513 ค.ศ.1970 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาสุเมธาธิบดี พระสังฆราชในคณะมหานิกาย
อ้างอิง
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ ประวัติสมเด็จพระสังฆราชฮวต ตาต (ภาษาเขมร)[ลิงก์เสีย]
- ↑ เดวิด แชนด์เลอร์, ประวัติศาสตร์กัมพูชา, (กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโครงการตำรามนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์,2546) , หน้า 330.
- ↑ ព្រះរាជជីវប្រវត្តិ សម្តេចព្រះសង្ឃរាជ หนังสือพระราชประวัติสมเด็จพระสังฆราช [ภาษาเขมร]