สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ทดแทนการปลูกฝิ่น สถานีวิจัยแห่งแรก[1]ของโครงการหลวงอยู่บนเทือกเขาแดนลาว ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่[2] มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,400 เมตร และมียอดดอยสูงถึง 1,928 เมตร พื้นที่รับผิดชอบประมาณ 26.52 ตารางกิโลเมตร หรือ 16,577 ไร่ อากาศดี จัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2512[3] ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ว่า “ให้เขาช่วยตัวเอง” เปลี่ยนพื้นที่จากไร่ฝิ่นมาเป็นแปลงเกษตรเมืองหนาวที่สร้างรายได้ดีกว่าเก่าก่อนและไม่ผิดกฎหมาย

ประวัติ แก้

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ที่หมู่บ้านผักไผ่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และได้เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาเผ่ามูเซอ ซึ่งในสมัยนั้นยังไว้แกละถักเปียยาว แต่งกายสีดำ สะพายดาบ ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่ง สำคัญต่อระบบนิเวศ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่น ๆ ของประเทศได้

จึงมีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศที่หนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับ พระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่ในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวงจนถึงพ.ศ. 2560 ใช้เป็นสถานีวิจัย และทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิด ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอกเมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขา ในการนำพืช เหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามว่า "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง"

สภาพทั่วไป แก้

 
พันธุ์พืชเมืองหนาวในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
 
ภาพรวมของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ตั้งอยู่ในเขตบ้านคุ้ม หมู่ที่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร มีพื้นที่ใช้ทำการเกษตรประมาณ 1,800 ไร่ มีหมู่บ้านชาวเขาที่สถานีฯ ให้การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพรวม 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหลวง บ้านคุ้ม บ้านนอแล บ้านปางม้า บ้านป่าคา และบ้านขอบด้ง ซึ่งประกอบไปด้วยประชากร 4 เผ่าได้แก่ ไทยใหญ่ มูเซอดำ ปะหล่อง และจีนฮ่อ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 17.7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 องศาเซลเซียสในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุด –3 องศาเซเซียสในเดือนมกราคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,075 มิลลิเมตรต่อปี

การดำเนินงานของสถานี แก้

  1. งานศึกษาวิจัย ไม้ผลเขตหนาว และขยายพันธุ์พืชชนิดต่างๆ
  2. งานเผยแพร่และฝึกอบรม เป็นแหล่งวิชาการปลูกพืชบนที่สูงที่สำคัญ เป็นสถานที่ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และเกษตรกรของมูลนิธิฯ
  3. งานพัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกร เป็นการดำเนินงานส่งเสริม และพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร บริเวณรอบสถานี โดยมีส่วนราชการต่างๆ ร่วมดำเนินงานในรูปคณะทำงานศูนย์พัฒนา โครงการหลวง กิจกรรมที่สำคัญได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำ การวางแผน การใช้ที่ดิน การส่งเสริมการปลูกไม้ผล ผัก ชา การฟื้นฟูระบบนิเวศ การฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ และการปลูกป่าชาวบ้าน

การเดินทาง แก้

การเดินทาง สามารถเดินทางขึ้นดอยอ่างขางได้ทั้งหมด 3 เส้นทาง แต่เส้นทางที่ใช้เป็นหลัก มีอยู่เส้นทางเดียวคือ ขึ้นดอยอ่างข่างที่กิโลเมตรที่ 137 ณ วัดหาดสำราญ

การเดินทางโดยรถยนต์ แก้

การเดินทางโดยรถยนต์สามารถเดินทางไปได้หลาย 3 เส้นทาง ดังนี้

  1. ขึ้นดอยอ่างขาง ณ วัดหาดสำราญ กม 137 สามารถใช้เส้นทาง เชียงใหม่-ฝาง (เส้นทางหลวงหมายเลข 107) มาถึงปากทางขึ้นดอยอ่างขาง ให้เลี้ยวซ้ายตามถนน ซึ่งค่อนข้างลาดชัน มีทางโค้งและสูงช้น
  2. ขึ้นดอยอ่างขาง ณ อำเภอเชียงดาว กม 79 จากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง (ทางหลวงหมายเลข 107) เดินทางเรื่อยมาจนถึงอำเภอเชียงดาว บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 79 จะพบทางแยก (เส้นทางหมายเลข 1) เลี้ยวซ้ายผ่าน ต.เมืองงาย บ้านอรุโณทัย บ้านหลวง เส้นทางค่อนข้างแคบแต่ไม่ลาดชัน
  3. เส้นทางจากอำเภอฝาง-หมู่บ้านนอแล มีระยะทางสั้นที่สุด แต่มีความลาดชัดมากและไหล่ทางชำรุด เป็นหลุมบ่อ พื้นถนนเป็นหินกรวด เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเลียบแนวชายแดนไทย-พม่า ตลอดทางจะมีด่านทหาร และพบเห็นทั้งค่ายทหารของไทย และพม่า บริเวณสองริมฝั่งหุบเขา ไม่แนะนำให้ไปโดยเด็ดขาด

การเดินทางโดยรถประจำทาง แก้

  1. เดินทางจาก จังหวัดเชียงใหม่ - ดอยอ่างขาง สามารถโดยสารรถประจำทางสายเชียงใหม่-ฝาง หรือ เชียงใหม่-ท่าตอน มาลงที่ปากทางดอยอ่างขาง หน้าวัดหาดสำราญ กิโลเมตรที่ 137 จากนั้นใช้บริการรถสองแถว รถตู้ หรือรถมอเตอร์ไซด์ขึ้นดอยอ่างขางอีกครั้งหนึ่ง หรือเดินทางด้วยรถตู้ประจำทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปยังอ่างขาง ได้เช่นกัน
  2. เดินทางจาก จังหวัดเชียงราย - ดอยอ่างขาง สามารถเดินทางโดยใช้เส้นทาง เชียงราย - ดอยอ่างขางได้เช่นกัน

อ้างอิง แก้

  1. "อ่างขาง โครงการหลวงแห่งแรก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-14. สืบค้นเมื่อ 2023-12-14.
  2. นักท่องเที่ยวสัมผัสความหนาวที่ดอยอ่างขาง - ชมใบไม้เปลี่ยนสี
  3. “ดอยอ่างขาง” โครงการหลวงแห่งแรกจากการเสด็จประพาสต้น

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

19°54′08″N 99°02′25″E / 19.90210°N 99.04017°E / 19.90210; 99.04017