ความกลัวสงครามโลกครั้งที่สาม
ซึ่งเกรงว่าจะเป็นสงครามทำลายล้างมวลมนุษยชาติ

สงครามคือกิจกรรมของมนุษย์

การทหาร เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของรัฐ มีหน้าที่หลักเพื่อปกป้องอธิปไตยของรัฐ และอาจถูกใช้เพื่อเป้าหมายอื่นซึ่งเป็นผลประโยชน์แก่รัฐ นักการทหารชาวจีนแห่งยุคโบราณ ซุนวู – เจ้าของตำราพิชัยสงครามอันลึกซึ้ง – ได้สรุปว่า "การทหาร เกี่ยวพันถึงความเป็นความตายของชาติรัฐ"

มิติของการทหารนั้น ไม่อาจวัดเพียงแค่การมีกองกำลังติดอาวุธเท่านั้น หากแต่ยังเกี่ยวข้องถึง เศรษฐกิจ การเมือง และการทูตของรัฐอีกด้วย สงครามมักจะยุติลงเมื่อฝ่ายหนึ่งประสบความล้มเหลวทางด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธี จนต้องยอมจำนนหรือถูกยึดครอง การทหารมักเป็นเครื่องหมายของการใช้กำลังตัดสินปัญหาและเป็นจุดกำเนิดของความขัดแย้งต่าง ๆ – ภายหลังสงครามแต่ละครั้งยุติลง ผลที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบลูกโซ่ทั้งทางการเมือง ภูมิประเทศและเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการยุติของสงครามโลกครั้งที่สอง บทบาทของทหารได้เปลี่ยนไป การรุกรานชาติรัฐอื่นด้วยกำลังทหารไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป ทำให้บทบาทของทหารเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยด้วยเช่นกัน – จากการทำสงครามเพื่อรัฐ ก็กลายเป็นการปฏิบัติการเพื่อมนุษยชาติ เช่น ปฏิบัติการรักษาสันติภาพในหลายพื้นที่ของโลกของกองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติ หรือปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสพภัยธรรมชาติในประเทศ

แต่ว่าแม้บทบาทของการทหารจะเปลี่ยนไปอย่างไร กองทัพก็จะยังคงเป็นเครื่องมือของรัฐ ในการใช้แสนยานุภาพ เพื่อปกปักรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและอธิปไตยของชาติอยู่ดังเดิม ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปสักเท่าใดก็ตาม

แม้นตั้งมั่นในยามสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ