สถานค้ากามชายแห่งถนนเคลฟแลนด์

สถานค้ากามชายแห่งหนึ่งบนถนนเคลฟแลนด์ (Cleveland) ย่านฟิตซโรเวีย (Fitzrovia) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจค้นพบโดยบังเอิญใน พ.ศ. 2432 และกลายเป็นกรณีอื้อฉาวอย่างใหญ่หลวงเพราะนอกจากการร่วมเพศเดียวกันเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายอังกฤษในขณะนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่ยังสืบสาวไปพบอีกว่าลูกค้าของสถานค้ากามดังกล่าวล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงสังคมตลอดจนพระบรมวงศ์อังกฤษ ซึ่งกรณีอื้อฉาวนี้ได้รับการประณามจากประชาคมว่าเป็นการที่ผู้มีชาติตระกูลสูงข่มเหงผู้มีชาติตระกูลต่ำกว่า และยังถูกใช้เป็นข้อกล่าวหาในการทำลายชื่อเสียงระหว่างกันของบุคคลอังกฤษสมัยนั้นด้วย

การค้นพบสถานค้ากามชาย แก้

 
พนักงานสอบสวนเฟรเดอริก จอร์จ แอบเบอร์ลีน ภาพจากหนังสือฉบับหนึ่งในสมัยนั้น

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2432 ขณะที่พลตำรวจลุก แฮงส์ (Police Constable[1] Luke Hanks) กำลังสอบสวนโจรรายหนึ่งซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้จากที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขกลางแห่งกรุงลอนดอนนั้น พลตำรวจลุกได้ค้นตัวชายวัยสิบห้าปีคนหนึ่งผู้เกี่ยวพันกับคดีนี้ด้วย ชื่อ ชาลส์ โทมัส สวินสกาว (Charles Thomas Swinscow) พบว่านายชาลส์มีเงินในครอบครองจำนวนสิบสี่ชิลลิง ซึ่งโดยปรกติแล้วนายชาลส์ต้องทำงานรับจ้างส่งหนังสือพิมพ์หลายสัปดาห์จึงจะมีเงินเท่านี้ได้ และขณะนั้นมีกฎข้อบังคับห้ามผู้รับจ้างส่งหนังสือพิมพ์พกพาเงินสดในระหว่างทำงานเพื่อมิให้ไหลไปปนกับเงินของลูกค้า นายชาลส์ยอมรับว่าตนได้รับเงินนี้มาจากการรับจ้างให้บริการทางเพศที่สถานค้ากามชายแห่งหนึ่งบนถนนเคลฟแลนด์ ซอยสิบเก้า (19 Cleveland Street) อันมีนายชาลส์ แฮมมอนด์ (Charles Hammond) เป็นผู้ดำเนินกิจการ นายชาลส์ โทมัส สวินสกาว กล่าวต่อว่านายเฮนรี นิวเลิฟ (Henry Newlove) ผู้ทำงานเป็นเสมียน ณ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขดังกล่าว เป็นผู้แนะนำตนให้แก่นายชาลส์ แฮมมอนด์ นอกจากนี้ ชายวัยสิบเจ็ดปีสองคนซึ่งทำงานเป็นลูกจ้างของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขนี้ ได้แก่ นายจอร์จ อาลมา ไรท์ (George Alma Wright) และนายชาลส์ เออร์เนสต์ ทิกบรูม (Charles Ernest Thickbroom) ยังได้ร่วมกับตนรับจ้างให้บริการทางเพศอีกด้วย

ในขณะนั้น การร่วมเพศเดียวกันยังเป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอยู่ในประเทศอังกฤษ พลตำรวจลุกจึงเรียกตัวนายจอร์จ อาลมา ไรท์ และนายชาลส์ เออร์เนสต์ ทิกบรูม มาสอบสวน ซึ่งต่างก็ให้การสอดคล้องกันกับคำให้การของนายชาลส์ โทมัส สวินสกาว พลตำรวจลุกจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยทันที ซึ่งผู้บังคับบัญชาของพลตำรวจลุกได้มอบหมายให้นายเฟรเดอริก จอร์จ แอบเบอร์ลีน (Frederick George Abberline) พนักงานสอบสวน ดำเนินคดีนี้ต่อไป

หลังจากรวบรวมพยานหลักฐานพร้อมมูลแล้ว ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2432 นายเฟรเดอริกจึงขอหมายจับจากศาลเพื่อไปจับกุมนายเฮนรี นิวเลิฟ และนายชาลส์ แฮมมอนด์ ยังสถานค้ากามดังกล่าวในข้อหากระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2428 (Criminal Law Amendment Act 1885) ซึ่งบัญญัติว่า การร่วมเพศเดียวกันของชาย ตลอดจนการจัดหาบุคคลมาเพื่อสนองการดังกล่าว และการพยามยามกระทำการเช่นว่า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีสถานหนึ่ง และอาจต้องรับโทษให้ทำงานโยธาอีกสถานหนึ่ง อย่างไรก็ดี เมื่อไปถึงสถานค้ากามชายที่ถนนเคลฟแลนด์ นายเฟรเดอลิกพบว่านายชาลส์ แฮมมอนด์ ได้ปิดสถานที่และหลบหนีไปแล้ว ส่วนนายเฮนรี นิวเลิฟ นั้นได้ตัวที่เมืองแคมเด็น (Camden Town) ณ บ้านของมารดานายเฮนรีเอง

ต่อมา นายเฮนรีได้ให้ความร่วมมือแก่ทางราชการ โดยได้ไปเกลี้ยกล่อมให้นายชาลส์ แฮมมอนด์ ซึ่งหลบหนีไปยังบ้านของพี่ชายตนที่ย่านเกรฟเซนด์ (Gravesend) ยอมมอบตัวแต่โดยดี

ลูกค้าที่มีชื่อเสียงของสถานค้ากามชาย แก้

 
ลอร์ดอาเทอร์ ซอเมอร์เซ็ต สมาชิกราชวงศ์อังกฤษ ลูกค้าคนสำคัญรายหนึ่งของสถานค้ากามชายนี้

นายเฮนรี นิวเลิฟ ยังได้เปิดเผยแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกว่า ลูกค้าคนสำคัญของสถานค้ากามชายนี้ เป็นต้นว่า ลอร์ดอาเทอร์ ซอเมอร์เซ็ต (Arthur Somerset) และเฮนรี ฟิตซรอย (Henry FitzRoy) ผู้รั้งบรรดาศักดิ์เอิร์ลแห่งอูสตัน ตลอดจนนายพันเอกคนหนึ่งซึ่งใช้นามแฝงว่า "แชร์วัวส์" (Jervois) เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทูลเชิญลอร์ดอาเทอร์มาสอบปากคำ แต่มิได้ดำเนินการอื่นใดมากไปกว่านี้และมีทีท่าว่าจะประวิงการดำเนินคดีลอร์ดอาเทอร์ด้วย

เชิงอรรถและอ้างอิง แก้

  1. พึงทราบว่ายศ "Police Constable" ซึ่งแปลว่า "พลตำรวจ"นี้ เทียบได้กับยศพลทหารไทยในปัจจุบัน มิใช่ยศของข้าราชการตำรวจชั้นสูง