สตรีหลับ (เฟอร์เมร์)

สตรีหลับ หรือ สตรีหลับที่โต๊ะ[2] (อังกฤษ: A Girl Asleep หรือ A Woman Asleep at Table) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยโยฮันส์ เวร์เมร์จิตรกรคนสำคัญชาวเนเธอร์แลนด์ของสมัยบาโรก ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันที่นครนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา

สตรีหลับ
ศิลปินโยฮันส์ เวร์เมร์[1]
ปีค.ศ. 1657
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน, นครนิวยอร์ก

ภาพ “สตรีหลับ” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1657 เป็นภาพแรกๆ ที่เวร์เมร์เขียน อิทธิพลการเขียนของแรมบรังด์ในงานเขียนในช่วงนี้จะเห็นได้อย่างง่ายดายจากการใช้สีอันเรืองรองและการใช้ฝีแปรงสีหนา (impasto) บนภาพ

เนื้อหาของภาพ

แก้

ทางด้านซ้ายของภาพเป็นโต๊ะที่ปูด้วยพรมตะวันออก บนโต๊ะมีจานเดลฟท์ที่เต็มไปด้วยผลไม้, เหยือกขาว และแก้วที่ล้มอยู่ด้านหน้า อีกด้านหนึ่งเป็นสตรีที่นั่งงีบโดยยันหัวไว้กับแขนขวาที่เท้าอยู่บนโต๊ะ มือซ้ายเกาะโต๊ะ ด้านขวาของภาพเป็นพนักเก้าอี้ ไกลออกไปเป็นประตูที่เปิดอยู่ครึ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้ดูมองทะลุไปยังห้องอีกห้องหนึ่งได้

องค์ประกอบของภาพสัมพันธ์โดยตรงกับแรมบรังด์ ภาพวาดลายเส้นภาพหนึ่งชื่อ “เด็กสาวหลับที่หน้าต่าง” เป็นภาพที่วางท่าคล้ายคลึงกัน ภาพนี้และแบบลักษณะนี้นำไปใช้โดยนิโคลัส แมร์สในภาพ “สาวใช้ขี้เกียจ” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1655 (หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน) หรือในภาพ “สาวใช้ในบ้าน” ที่เขียนในปีต่อมา (พิพิธภัณฑ์เซนต์หลุยส์) สันนิษฐานกันว่านิโคลัส แมร์สยังคงพำนักอยู่ในเดลฟท์หลังจากที่ออกจากห้องเขียนภาพของแรมบรังด์อาจจะจนถึงปี ค.ศ. 1653 หรืออาจจะหลังจากนั้นก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่ดอร์เดร็คท์ แต่จะอย่างไรก็ตามโอกาสที่เวร์เมร์จะได้เห็นภาพร่างของแรมบรังด์นั้นมีมาก การใช้แสงและการใช้สีหนักหนาเป็นเทคนิคของการเขียนภาพแบบแรมบรังด์โดยตรงของต้นคริสต์ทศวรรษ 1640

จากการตรวจสอบทางด้านลักษณะการเขียนทำให้ทราบว่าเวร์เมร์เปลี่ยนการเขียนไปเป็นอันมากระหว่างการเขียนภาพ เดิมในภาพมีชายอีกคนหนึ่งในห้องถัดไปแทนที่จะเป็นกระจก และหมาตรงประตู และภาพบนผนังก็มีขนาดใหญ่กว่า ซี่งเป็นภาพของคิวปิดที่ปรากฏในภาพเขียนอื่นของเวร์เมร์

วอลเตอร์ ลีดทค์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเวร์เมร์ให้ความเห็นว่า ภาพเขียนที่แสดงการหลับและฝัน (และอาจจะดื่มไวน์ที่เห็นจากแก้วที่ล้มลง) ทำให้สาวใช้ละเลยหน้าที่ที่จะเห็นได้จากเฟอร์นิเจอร์ที่เกะกะและโต๊ะที่ไม่เรียบร้อย นอกจากนั้นสาวใช้ก็ยังทิ้งประตูเปิดไว้ ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นคุณสมบัติของสตรี และบ้านช่องที่ปล่อยละเลยโดยปราศจากการป้องกัน ภาพเขียนในหัวข้อเกี่ยวกับสาวใช้ในท่าต่างๆ เป็นที่นิยมเขียนกันในบรรดาจิตรกรชาวดัตช์ รวมทั้งอีกภาพหนึ่งของเวร์เมร์เอง “สตรีเทนม” และภาพ “ไดแอนาและผู้ติดตาม”[2]

ตามความเห็นของลีดทค์การมีสุนัขก็เป็นนัยยะว่า พร้อมที่จะมีความสัมพันธ์เช่นสุนัขตามถนน แต่เวร์เมร์เขียนกระจกและกำแพงแทนที่ชายและสุนัขที่หายไป เก้าอี้ที่มีเบาะวางขวางไว้อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของความเกียจคร้าน หรืออาจจะเพิ่มมีแขกมาหา ความคิดที่ว่าอาจจะมีคนอีกคนหนึ่งก่อนหน้านั้นสนับสนุนโดยเหยือกไวน์และแก้วที่อยู่บนโต๊ะ และอาจจะมีมีดและซ่อมอยู่ด้วย จานผลไม้เดลฟท์แบบจีนเป็นสัญลักษณ์ของการล่อใจ นอกจากนั้นสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในภาพโดยทั่วไปดังกล่าวก็เป็นที่เข้าใจกันในสมัยนั้นว่าเกี่ยวข้องกับการรับรองแขก[2]

ภาพเขียนอาจจะเป็นของ Pieter Claesz van Ruijven ผู้อุปถัมภ์งานของเวร์เมร์ผู้เป็นเจ้าของภาพ “สตรีเทนม” ด้วย ทั้งสองภาพต่างก็เป็นภาพที่มีสัญลักษณ์และนัยยะถึงความสัมพันธ์ทางเพศของสาวใช้ แต่เป็นการแสดงในทางที่เข้าอกเข้าใจมากกว่าที่จะเป็นการติเตียนอย่างที่เคยเป็นมา[2]

ประวัติความเป็นเจ้าของ

แก้

ภาพเขียนภาพนี้เป็นภาพหนึ่งในหลายภาพของเวร์เมร์ที่ขายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1696 ในบรรดาทรัพย์สมบัติของยาค็อป ดิสเซียส (ค.ศ. 1653-ค.ศ. 1695) เชื่อกันว่าเดิมภาพนี้เป็นของพ่อตาของดิสเซียส Pieter Claesz van Ruijvenผู้เป็นผู้อุปถัมภ์งานของเวร์เมร์ ผู้คงจะยกให้ลูกสาวผู้ยกให้ดิสเซียสต่อ ประวัติการเป็นเจ้าของจากนั้นก็ไม่เป็นที่ทราบจนกระทั่งตกมาเป็นของจอห์น วอเตอร์ลู วิลสันในปารีสหลังปี ค.ศ. 1873 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1881 หอแสดงภาพเซดเดิลไมเยอร์ในปารีสก็ซื้อภาพ แต่ภายในปลายปีเดียวกันก็ขายต่อให้แก่รูดอล์ฟ คานน์ที่ปารีสเช่นกัน คานน์เป็นเจ้าของภาพมาจนถึงปี ค.ศ. 1907 ในปี ค.ศ. 1908 ก็ขายให้แก่เบนจามิน อาลท์มันผู้เป็นเจ้าของภาพมาจนถึงปี ค.ศ. 1913 ก่อนที่จะยกให้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน[2]

อ้างอิง

แก้
  1. Web Gallery of Art: Johannes Vermeer
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Liedtke, Walter, with Michael C. Plomp and Axel Rüger, Vermeer and the Delft School, pp 369-371; New York: The Metropolitan Museum of Art and New Haven and London: Yale University Press, 2001 (catalogue of an exhibition of the same name New York, March 8-May 27, 2001 and at the National Gallery, London, June 20-September 16, 2001

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้