สตริกต์ลี บอลรูม

สตริกต์ลี บอลรูม (อังกฤษ: Strictly Ballroom [1]) เป็นภาพยนตร์ออสเตรเลียที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2535 เป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของบาซ เลอห์มานน์ ซึ่งประสบความสำเร็จจากเรื่องนี้ และต่อมาได้กำกับภาพยนตร์เรื่อง โรมิโอ + จูเลียต (2539) และ มูแลงรูจ! (2544) ภาพยนตร์สามเรื่องของเลอห์มานน์ รวมเรียกว่าภาพยนตร์ไตรภาค "The Red Curtain Trilogy"

สตริกต์ลี บอลรูม
หน้าปกดีวีดี
กำกับบาซ เลอห์มานน์
เขียนบทบาซ เลอห์มานน์
แอนดรูว์ โบเวล
เครก เพียร์ซ
อำนวยการสร้างTristram Miall
Antoinette Albert
นักแสดงนำพอล เมอร์คิวริโอ
ทารา มอริซ
บิล ฮันเตอร์
เกีย คาริดีส
กำกับภาพSteve Mason
ตัดต่อJill Bilcock
ดนตรีประกอบDavid Hirschfelder
ผู้จัดจำหน่ายMiramax Films
วันฉาย20 สิงหาคม ค.ศ. 1992 (ออสเตรเลีย)
ความยาว94 นาที
ประเทศธงของประเทศออสเตรเลีย ออสเตรเลีย
ภาษาภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง3 ล้านเหรียญ

สตริกต์ลี บอลรูม เดิมเป็นละครเวที เขียนบทโดยบาซ เลอห์มานน์ และแอนดรูว์ โบเวล แสดงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2529 [2] และประทับใจผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชื่อ เท็ด อัลเบิร์ต จึงติดต่อขอซื้อสิทธิ์การสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2532 และมอบหมายให้เลอห์มานน์เป็นผู้เขียนบทและกำกับ โดยชื่อภาพยนตร์สื่อความหมายถึงการเต้นบอลรูม ที่มีท่าเต้นตามแบบแผนชัดเจน

ภาพยนตร์ได้ออกฉายในระดับ Un Certain Regard ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 1992 และได้รับรางวัลในระดับเยาวชน [3]

เรื่องย่อ แก้

ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนักเต้นบอลรูมแดนซ์ชาวออสเตรเลีย ชื่อ สกอต เฮสติงส์ (พอล เมอร์คิวริโอ) มารดาเป็นครูสอนเต้นรำ จึงได้รับการฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก เป็นนักเต้นที่มีพรสวรรค์ มีเทคนิคการเต้นสูง แต่ไม่ชอบเต้นตามแบบแผน นำท่าเต้นที่คิดเองออกมาใช้ระหว่างการแข่งขัน จนเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมทั้งห้อง แต่ไม่ถูกใจแบร์รี ไฟฟ์ (บิล ฮันเตอร์) ประธานจัดการแข่งขัน และตัดสินไม่ให้คู่ของสกอตได้รางวัลชนะเลิศ สร้างความไม่พอใจให้กับคู่ซ้อม คือ ลิซ (เกีย คาริดีส) ที่ไม่ยอมเต้นกับสกอตอีกต่อไป สกอตต้องการจะเต้นในการแข่งขันเต้นบอลรูมระดับชาติ Pan-Pacific Grand Prix จึงต้องเร่งหาคู่เต้นคนใหม่มาแทน แต่ก็หาคู่เต้นไม่ได้ มีเพียง ฟราน (ทารา มอริซ) นักเต้นสมัครเล่นที่เพิ่งหัดเต้นได้ไม่นาน ที่เสนอตัวเป็นคู่ซ้อมให้กับสกอต

หลังจากฝึกซ้อมเต้นด้วยกันไประยะหนึ่ง และสร้างสนิทสนมกันจนเกิดเป็นความคุ้นเคย ฟรานเริ่มเต้นด้วยความมั่นใจมากขึ้น สกอตได้ทำความรู้จักกับครอบครัวของฟราน ที่เป็นชาวยิปซีเชื้อสายสเปน และได้เรียนรู้การเต้นพาโซ โดเบล พร้อมกับตระหนักว่าฟรานนั้นมีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าร่วมเต้นประกวดได้

สกอตมารู้ความจริงในภายหลังว่า ดัก เฮสติงส์ (แบร์รี ออตโต) บิดาของตนนั้น เดิมเป็นนักเต้นบอลรูมแข่งขันมาก่อน โดยเต้นจับคู่กับ เชอร์ลีย์ เฮสติงส์ (แพท ทอมสัน) มารดา ดักมีนิสัยเหมือนกับสกอต คือไม่ชอบเต้นตามแบบแผน ในการแข่งขันระดับชาติ เชอร์ลีย์จึงเลือกจับคู่เต้นกับ เลส เคนดัล (ปีเตอร์ วิตฟอร์ด) แทน เพราะเธอโน้มน้าวใจว่าท่าเต้นแปลกประหลาดของดักจะเป็นสาเหตุให้เธอไม่ชนะการแข่งขัน ดักรู้สึกสะเทือนใจจึงเลิกเต้นรำมาตั้งแต่นั้น

ในวันแข่งขันเต้นบอลรูมระดับชาติ สกอตต้องชั่งใจว่าจะเลือกใครเป็นคู่เต้น ระหว่างเต้นกับลิซตามแบบแผนเพื่อให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ กับเต้นกับฟรานด้วยท่าพาโซ โดเบล ที่ซ้อมด้วยกันมาระยะหนึ่ง ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจได้ โดยการกระตุ้นจากดักว่า "การเต้นด้วยจังหวะของตัวเองแล้วไม่ชนะนั้น ไม่ใช่ความผิดพลาด โอกาส(ที่จะเต้นจังหวะของตัวเอง) มาถึงแล้ว หากเรามีชีวิตอยู่กับความกลัว(แพ้) แล้วทิ้งโอกาสนั้นไป ก็จะเสียใจไปตลอดชีวิต"

การเต้นนอกแบบแผนของสกอตกับฟรานถูกขัดขวางโดยแบร์รี ไฟฟ์กับพวก ทั้งโดยปิดเสียงดนตรี ประกาศเชิญออกจากฟลอร์เต้น แต่กลับได้รับความชื่นชมจากผู้ชมทั้งห้อง ที่ตบมือให้จังหวะแทนจังหวะดนตรี ภาพยนตร์จบลงที่ดักปรับความเข้าใจกับเชอร์ลีย์ได้ในท้ายที่สุด และเต้นรำด้วยกันเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

ดนตรีประกอบภาพยนตร์ แก้

เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ มีเพลงหลักอยู่ 6 เพลงที่ใช้ประกอบการเต้น คือเพลงวอลต์ซ "The Blue Danube" ของโยฮันน์ ชเตราสส์ ที่สอง เพลง "Love is in the Air", "Standing In The Rain" และ "Yesterday's Hero" ของ จอห์น พอล ยัง นักแต่งเพลงชาวออสเตรเลีย, เพลง "Perhaps, Perhaps, Perhaps" ของดอริส เดย์ และเพลง "Time After Time" เพลงฮิตของ ซินดี ลอเปอร์ ดนตรีประกอบภาพยนตร์ได้รับรางวัลบาฟตา ประจำปี 1992 [4]

อ้างอิง แก้

  1. ในประเทศไทย ดีวีดีวางจำหน่ายในชื่อ "สก็อตกับฟราน วันนั้นจะไม่ลืม " [1]
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-10. สืบค้นเมื่อ 2021-08-29.
  3. "Festival de Cannes: Strictly Ballroom". festival-cannes.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-06. สืบค้นเมื่อ 2009-08-15.
  4. http://www.imdb.com/title/tt0105488/awards

แหล่งข้อมูลอื่น แก้