ศาสนาซูเมอร์ เป็นศาสนาพหุเทวนิยมที่นับถือปฏิบัติโดยชาวซูเมอร์ อันเป็นแหล่งอารยธรรมแรกในเมโสโปเตเมียที่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร[3] ชาวซูเมอร์ถือว่าเทพของตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นไปของธรรมชาติและสังคม ก่อนหน้าที่จะมีระบอบกษัตริย์ นครรัฐซูเมอร์ถูกปกครองโดยผู้นำทางศาสนาและนักบวช[4] ถึงแม้ว่าต่อมาตำแหน่งผู้นำจะถูกแทนที่ด้วยกษัตริย์ แต่นักบวชก็ยังคงมีอำนาจมาก ในช่วงแรกศาสนสถานของซูเมอร์เป็นสิ่งปลูกสร้างง่าย ๆ บนยกพื้น ภายในมีเพียงห้องเดียว ก่อนจะพัฒนาเป็นพีระมิดแบบขั้นบันไดที่ด้านบนเป็นวิหาร เรียกว่าซิกกุรัต[5]

จารึกบนกำแพงแสดงภาพการกรวดน้ำโดยนักบวชเปลือยและศาสนิกชนในเมืองอูร์ ประมาณ 2500 ปีก่อนคริสตกาล[1][2]

ชาวซูเมอร์เชื่อว่าจักรวาลเกิดจากการสรรค์สร้างโดยเทพ เริ่มจากนัมมู เทพีแห่งน้ำให้กำเนิดเทพ 2 องค์คือ อัน เทพแห่งสวรรค์ และคิ เทพีแห่งโลก[6] ต่อมาอันกับคิมีโอรสด้วยกันคือเอนลิล เทพแห่งลมผู้แยกสวรรค์ออกจากโลกและอ้างตนเป็นผู้ปกครองโลก[7] ขณะที่มนุษย์ถูกสร้างโดยเองกี เทพแห่งน้ำผู้เป็นโอรสของนัมมูกับอัน[8] หลังสวรรค์–โลกแยกจากกัน สวรรค์กลายเป็นที่สงวนสำหรับเทพ ส่วนมนุษย์หลังเสียชีวิตวิญญาณจะไปยังยมโลกที่มืดมิดและหนาวเหน็บ เรียกว่า Kur ซึ่งปกครองโดยเทพีอีเรชคิกัล เวลาต่อมาชาวซูเมอร์เชื่อว่าพระนางปกครองร่วมกับพระสวามีเนอร์กัล ผู้เป็นเทพแห่งความตาย[9]

เทพที่สำคัญของปวงเทพซูเมอร์ได้แก่ เทพอันแห่งสวรรค์ เทพเอนลิลแห่งลมและพายุ เทพเองกีแห่งน้ำและวัฒนธรรมมนุษย์ เทพีนินฮูร์ซักแห่งการเจริญพันธุ์และผืนดิน เทพอูตูแห่งดวงอาทิตย์และความยุติธรรม และเทพนันนาแห่งดวงจันทร์ ในช่วงที่จักรวรรดิแอกแคดเรืองอำนาจในซูเมอร์ มีการนับถืออินันนา เทพีแห่งความรักและความงามอย่างกว้างขวางในพระนามอิชตาร์ และต่อมาพระนางได้รับตำแหน่งราชินีแห่งสวรรค์[10] การนับถือเทพีอิชตาร์ยืนยาวมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 3–5 เมื่อศาสนาคริสต์แผ่อิทธิพลเข้ามาในเมโสโปเตเมีย[11]

ศาสนาซูเมอร์มีอิทธิพลอย่างมากต่อความเชื่อของชาวเมโสโปเตเมียยุคต่อมา แนวคิดหลายอย่างในศาสนาซูเมอร์ปรากฏในคติความเชื่อและเรื่องปรัมปราของชาวแอกแคด ฮูร์เรีย บาบิโลเนีย และอัสซีเรีย[12][13] นอกจากนี้ นักปรัมปราวิทยาเปรียบเทียบยังพบความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องปรัมปราของชาวซูเมอร์กับงานยุคหลังอย่างช่วงต้นของคัมภีร์ฮีบรู[14]

อ้างอิง แก้

  1. For a better image: [1]
  2. Art of the First Cities: The Third Millennium B.C. from the Mediterranean to the Indus (ภาษาอังกฤษ). Metropolitan Museum of Art. 2003. p. 74. ISBN 978-1-58839-043-1.
  3. Andrews, Evan (December 18, 2015). "What is the oldest known piece of literature?". HISTORY. สืบค้นเมื่อ November 15, 2020.
  4. Nijssen, Daan (May 12, 2018). "Evolution of Sumerian kingship". Ancient World Magazine. สืบค้นเมื่อ November 15, 2020.
  5. "Ziggurat". Britannica. August 2, 2019. สืบค้นเมื่อ November 15, 2020.
  6. Glassman, Ronald M. (2017). The Origins of Democracy in Tribes, City-States and Nation-States. New York City, United States: Springer. p. 334. ISBN 9783319516950.
  7. "Enlil". Britannica. สืบค้นเมื่อ November 15, 2020.
  8. Mark, Joshua J. (January 9, 2017). "Enki". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 15, 2020.
  9. Mark, Joshua J. (January 11, 2017). "Ereshkigal". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 15, 2020.
  10. Mark, Joshua J. (October 15, 2010). "Inanna". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 15, 2020.
  11. Parpola 2004, p. 17.
  12. "Sumerian Literature". Electronic Text Corpus of Sumerian Literature. สืบค้นเมื่อ 2009-06-22.
  13. "Mesopotamia: the Sumerians". Washington State University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-03. สืบค้นเมื่อ 2009-06-22.
  14. Kramer, Samuel Noah (1972). Sumerian Mythology: A Study of Spiritual and Literary Achievement in the Third Millennium B.C. (Rev. ed.). Philadelphia: University of Pennsylvania Press. ISBN 0812210476.