ศาลเจ้าพ่อช้างเผือก

ศาลเจ้าพ่อช้างเผือก เป็นศาลเจ้าเล็กๆ ตั้งอยู่ริมคูเมืองด้านทิศเหนือ ตรงมุมถนนมนัสตัดกับถนนพลแสน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา[1]

ศาลเจ้าพ่อช้างเผือก
Chang Phueak Shrine
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทศาลเจ้า
เมืองริมคูเมืองด้านทิศเหนือ ถนนพลแสน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
ประเทศไทย ประเทศไทย
พิกัด14°58′46″N 102°06′12″E / 14.979556°N 102.103420°E / 14.979556; 102.103420

ประวัติ แก้

ในสมัยรัชกาลที่ 1 เกิดช้างเผือกพัง (เพศเมีย) 2 ช้าง คล้องได้ในแขวงเมืองภูเขียว ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา กรมการเมืองภูเขียวนำช้างมามอบให้เจ้าพระยานครราชสีมา เพื่อนำไปถวายในหลวงต่อไป และได้นำช้างมาพักอยู่นอกเมืองทางด้านเหนือผูกไว้กับเสาที่ได้นำมาด้วย เมื่อนำช้างเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้เอาเสาไปด้วย หลังจากพนักงานกรมคชบาลตรวจลักษณะช้างแล้วนำความกราบบังคมทูลถวายรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้ขึ้นระวางรับไว้เป็นพระราชพาหนะและพระราชทานนามว่า พระอินทรไอยราช้าง และ พระเทพกุญชรช้าง

พระอินทรไอยรา แก้

พระอินทรไอยรา พระยาช้างที่พระยานครราชสีมานำทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นช้างพังเผือกตรี ลูกเถื่อน สมโภชขึ้นระวาง ณ เดือนสี่ ปีขาล 1156 (พ.ศ. 2337) พระราชทานนามว่า พระอินทรไอยรา รัตนาเคนทร์ คเชนทรบดินทร์ อินทรังสรรค์ อนันตคุณ สมบูรณเลิศฟ้า

ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ณ เดือนสี่ ปีวอก 1174 (พ.ศ.2355) ได้พระราชทานนามใหม่ว่า พระอินทรไอยรา คชาชาติฉัททันต์ พิศผิวพรรณเผือกตรีสียอดตองตากแห้ง วิศณุแกล้งรังรักษ์ มงคลลักษณเลิศฟ้า

พระเทพกุญชร แก้

พระเทพกุญชร เป็นช้างเผือกพังเอก ลูกเถื่อน สมโภชขึ้นระวาง ณ เดือนสอง ปีระกา 1163 (พ.ศ.2344) พระราชทานนามว่า พระเทพกุญชร บวรศรีเศวต เอกชาติฉัททันต์ อนันตคุณ สมบูรณเลิศฟ้า

ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ณ เดือนสอง ปีวอก 1174 (พ.ศ.2355) ได้พระราชทานนามใหม่ว่า พระเทพกุญชร บวรศรีเศวต อมเรศนฤมิตร เผือกผ่องพิศโสภณ มิ่งมงคลนาเคนทร์ คเชนทรเฉลิมขวัญ ชาติฉัททันต์สูงศักดิ์ วิไลลักษณเลิศฟ้า

เสาที่ผูกช้างเผือก แก้

เสาที่ผูกช้างเผือกเป็นไม้ตะเคียนหิน ไม่ปรากฏเป็นหลักฐานว่าขุดฝังเพื่อผูกช้างในวันเดือนปีใด แต่ที่ว่าอยู่นอกเมืองทางด้านเหนือนั้น ก็คือทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโรงเรียนสุรนารีวิทยาปัจจุบัน (มุมโรงเรียนสุนารีวิทยา ตรงข้ามกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัด)

เนื่องจากเป็นเสาที่ผูกช้างเผือกซึ่งถือว่าเป็นสัตว์มงคลคู่บ้านคู่เมือง จึงมีผู้คนไปสักการะกราบไว้ เอาผ้าแพรไปผูก ชาวเมืองเรียกกันว่า หลักช้างเผือก ในช่วงนั้นยังมีลักษณะไม่เป็นศาลเจ้า เป็นเพียงเพิงหลังคาสังกะสีเท่านั้น

ประมาณปี พ.ศ.2504 มีการขยายถนนมิตรภาพด้านหน้าโรงเรียนสุรนารี โดยบริษัทฝรั่งเป็นผู้ก่อสร้างให้รื้อถอนเสาหลักช้างเผือกออก โดยยอมให้มีการตั้งศาลทำพิธีย้ายไปตั้งที่ฝั่งตรงข้าม ในพื้นที่ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดปัจจุบัน ต่อมานายช่างฝรั่งคนนั้นขับรถไปประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ผู้คนเชื่อกันว่า เป็นเพราะไปถอนเสาหลักช้างเผือก

เนื่องจากหลักช้างเผือก เป็นที่เคารพชาวเมือง แต่ตั้งอยู่ในที่ไม่เหมาะสม และมีภูมิทัศน์ที่ไม่สวยงาม จึงย้ายมาตั้งอยู่ตรงมุมถนนมนัสตัดกับถนนพลแสน ในที่สวนสาธารณะริมคูเมืองของเทศบาลนครนครราชสีมาในปัจจุบัน ห่างจากที่เดิมประมาณ 100 เมตร

ต่อมาการตั้งชื่อถนนเส้นจากที่ตั้งเสาหลักช้างเผือกเดิม ซึ่งเริ่มจากถนนมิตรภาพตรงไปผ่านโรงพยาบาลมหาราชถึงบ้านประโดกและบ้านหมื่นไวย จึงให้ชื่อถนนเส้นนี้ว่า ถนนช้างเผือก[2]

อ้างอิง แก้

  1. ศาลเจ้าพ่อช้างเผือก, สารสนเทศท้องถิ่นนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี .สืบค้นเมื่อ 25/9/2565
  2. ศาลเจ้าพ่อช้างเผือก, นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๐ วันพุธที่ ๓ - วันอังคารที่ ๙ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ .สืบค้นเมื่อ 25/9/2565