วิธีโลกี (โลกี มาจาก loci ในภาษาละติน แปลว่า "สถานที่ต่าง ๆ") หรือ การเดินทางผ่านความจำ หรือ ปราสาทแห่งความจำ เป็นกลวิธีช่วยจำแบบหนึ่งที่เพิ่มความจำโดยอาศัยการสร้างมโนภาพของสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ที่คุ้นเคยในการเพิ่มขีดความสามารถในการระลึกข้อมูล วิธีนี้มีการใช้ในศาสตรนิพนธ์เชิงวาทศิลป์กรีกและโรมันโบราณ (ใน เรโตริกาอัดเฮเรนนิอุม ของผู้เขียนนิรนาม เดโอราโตเร ของกิแกโร และ อินสติตูตีโอโอราโตเรีย ของกวินตีเลียน) ผู้ชนะเลิศการแข่งขันความจำหลายคนได้อ้างใช้วิธีโลกีเพื่อระลึกหน้าตาคน ตัวเลข และรายการศัพท์

กิแกโรอธิบายวิธีโลกีในเอกสารบทสนทนาของตน ชื่อว่า เดโอราโตเร ("ว่าด้วยนักพูด")

คำว่า "วิธีโลกี" สามารถพบได้ในงานวิจัยชำนัญพิเศษทางด้านจิตวิทยา ประสาทชีววิทยา และความจำ แต่คำนี้ก็มีการใช้ทั่วไปอย่างน้อยเริ่มตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 ในผลงานทางด้านวาทศิลป์ ตรรกศาสตร์ และปรัชญา[1] จอห์น โอคีฟกับลินน์ เนเดิลเขียนว่า

'วิธีโลกี' เป็นกลวิธีที่อาศัยจินตนาการที่รู้จักโดยชาวกรีกและโรมันโบราณ เยตส์ (ค.ศ. 1966) อธิบายวิธีนี้ในหนังสือของตนชื่อ ศิลปะแห่งความจำ ส่วนลูเรีย (ค.ศ. 1969) ก็ได้อธิบายวิธีนี้เช่นกัน ผู้ใช้กลวิธีนี้จะจำแผนผังของตึกหรือสิ่งปลูกสร้างแห่งใดแห่งหนึ่ง หรือร้านค้าตามท้องถนนต่าง ๆ หรือสถานที่ใดก็ได้ที่มีโลกัส (สถานที่) ที่ต่างกันหลายที่ เมื่อต้องการระลึกสิ่งของกลุ่มหนึ่ง ผู้ใช้กลวิธีนี้จะ 'เดิน' ผ่านโลกัสเหล่านี้ในจินตนาการของตนเองและนำสิ่งของทีละชิ้นไปไว้ในแต่ละโลกัสเหล่านั้นในใจ โดยต้องสร้างมโนภาพเพื่อเชื่อมโยงสิ่งของชิ้นหนึ่งกับลักษณะเด่นใดก็ได้ของโลกัสแห่งนั้น หลังจากนั้น การระลึกสิ่งของชิ้นนั้นต้องอาศัย 'การเดิน' ผ่านโลกัสต่าง ๆ เพื่อให้โลกัสใดโลกัสหนึ่งช่วยปลุกฤทธิ์มโนภาพสิ่งของที่ต้องระลึก ประสิทธิพลังของกลวิธีนี้ มีหลักฐานสนับสนุนอย่างหนักแน่น (รอสส์และลอว์เรนส์ ค.ศ. 1968, โคอวิตส์ ค.ศ. 1969, 1971, บริกก์ส ฮอว์คินส์ และโครวิตส์ ค.ศ. 1970, ลี ค.ศ. 1975) และข้อบกพร่องอันน้อยนิดในการใช้วิธีนี้ก็มีหลักฐานสนับสนุนเป็นอย่างดีเช่นกัน[2]

วิธี แก้

เรโตริกาอัดเฮเรนนิอุม (วาทศิลป์สำหรับเฮเรนเนียส[3]) และเอกสารโบราณอื่นโดยมากแนะนำให้ใช้วิธีโลกีกับการเข้ารหัสอย่างละเอียดต่าง ๆ เช่นการเพิ่มรูปภาพ เสียง และรายละเอียดอื่นในการมโนภาพของสิ่งของต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพลังให้แก่สามารถในการจำ[4][5] อย่างไรก็ตาม อีกมุมมองหนึ่งคือ ความจำเชิงพื้นที่มีพลังสูงอยู่แล้ว ดังนั้นการนำสิ่งของต่าง ๆ ไปไว้สถานที่ต่าง ๆ ในใจ ไม่ว่าเป็นสถานที่จริงหรือในจินตนาการ โดยไม่ต้องเพิ่มรายละเอียดให้กับสิ่งของเหล่านั้น ก็อาจมีประสิทธิผลได้

วิธีโลกีรูปแบบอื่นอาจอาศัยการใช้สถานที่ในจินตนาการอย่างเดียว เช่น บ้าน วัง ถนน และเมือง นักวิชาการหลายคนเชื่อว่า การใช้สถานที่ในจินตนาการเหล่านี้ อาจมีความยุ่งยากในตอกแรก แต่กระบวนการหลังจากนั้นก็จะเหมือนวิธีโลกีแบบดั้งเดิม โดยประโยชน์ของการสร้างเมืองในจิตนาการนี้ คืออาจใช้เมืองแต่ละเมืองเป็นตัวแทนของหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งที่อยากจำหรือศึกษา และการกระทำเช่นนี้ อาจเป็นการจัดข้อมูลแบบมีประสิทธิภาพและอาจเป็นการทบทวนข้อมูลอย่างเป็นปกติที่ง่ายขึ้น ซึ่งทั้งสองอาจเป็นสิ่งจำเป็นในการเก็บข้อมูลไว้ในความทรงจำระยะยาว[6][7]

อ้างอิง แก้

  1. เช่น ในการอภิปรายเรื่อง "ความจำเฉพาะที่" เจมิซันกล่าวว่า "ประโยคหรือบทร้อยกรองช่วยระลึกมีประโยชน์มากกว่าวิธีโลกี" อเล็กแซนเดอร์ เจมิซัน, A Grammar of Logic and Intellectual Philosophy, A. H. Maltby, 1835, p112
  2. O'Keefe, John; Nadel, Lynn (December 7, 1978). The Hippocampus as a Cognitive Map'. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0198572060. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-27. สืบค้นเมื่อ 2021-08-29.
  3. Gaius Herennius ปัจจุบันไม่มีใครรู้ว่าเป็นใคร
  4. Galinsky, Douglas Boin/Karl. "Rhetorica ad Herennium Passages on Memory". www.utexas.edu.
  5. "Quintilian on Memory - Art of Memory Blog". artofmemory.com. 25 November 2010.
  6. Bremer, Rod (September 20, 2011). The Manual - A guide to the Ultimate Study Method (USM). Cambridge, United Kingdom: Fons Sapientiae Publishing. ISBN 978-0956990709.
  7. "New Project: Use Memory Techniques to Learn Brazilian Portuguese - Art of Memory Blog". artofmemory.com. 18 December 2010.