วิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

วิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง (Urban Community Development College) เป็นหน่วยงานในสังกัดของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กรุงเทพมหานคร

วิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
Urban Community Development College, Navamindradhiraj University
คติพจน์วิชาการและวิชาชีพสร้างคุณภาพชีวิต
สถาปนา21 พฤศจิกายน 2556
ผู้อำนวยการรองศาสตราจารย์รัตน์ สงวนพงษ์
ที่อยู่
198 ซอยสามเสน 13 (ฝั่งราชวิถี) ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
เว็บไซต์ucdc.nmu.ac.th

ประวัติ แก้

วิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง แรกเริ่มกำเนิดขึ้นในชื่อ วิทยาลัยชุมชนเมืองแห่งกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2555) กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถบริหารและจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและระดับอนุปริญญาได้ทุกระดับตามความพร้อมของท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพประชาชนกรุงเทพมหานคร ให้ความสำคัญด้านการจัดการศึกษาในลำดับต้น ๆ และมีนโยบายส่งเสริม สนับสนุนการให้บริการการศึกษาทุกระดับและทุกกลุ่มเป้าหมายโดยเน้นการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนเมืองเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองโดยเฉพาะการเตรียมคนด้านอาชีพเพื่อสร้างคนให้ตรงกับงาน โดยได้ให้ความเห็นไว้ในการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 27/2555 เมื่อวันอังคารที่ 28 สิงหาคม 2555 “เพื่อประโยชน์ของกรุงเทพมหานครสมควรให้มีการศึกษาแนวทางและจัดทำรายละเอียดโครงสร้างของวิทยาลัยชุมชนให้ชัดเจน และนำไปพิจารณาร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชว่าสามารถดำเนินการเข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัยได้หรือไม่” และจากการประชุมเพื่อหาแนวทางดำเนินงานร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร วิทยาลัยชุมชนเมืองแห่งกรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ผลการประชุมสรุปให้มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชรับวิทยาลัยชุมชนเข้าสู่กระบวนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยได้

ต่อมาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2556 สภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้อนุมัติให้จัดตั้ง “วิทยาลัยชุมชนเมืองแห่งกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 6 และภาระหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ตามมาตรา 7 (5) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พ.ศ. 2553” มีฐานะเป็นส่วนงานเทียบเท่าคณะและเพื่อการจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาและฝึกอบรมทั้งสายวิชาการและวิชาชีพเพื่อพัฒนากรุงเทพมหานคร ทั้งให้โอกาสทางการศึกษาตามความต้องการคของประชาคมเมือง ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 130 ตอนพิเศษ 190 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2556

วิทยาลัยชุมชนเมืองแห่งกรุงเทพมหานคร (Urban Community College of Bangkok) จึงถือกำเนิดขึ้นในฐานะจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นส่วนเทียบเท่าคณะในสังกัดมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชจัดการเรียนการสอนสายวิชาการ วิชาชีพ และวิจัย เพื่อพัฒนาเมือง จัดหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมืองและสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณี

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 สภามหาวิทยาลัยฯ มีมติอนุมัติให้ วิทยาลัยชุมชนเมืองแห่งกรุงเทพมหานคร (Urban Community College of Bangkok) เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง (Urban Community Development College) นับแต่นั้นเป็นต้นมา[1]

วัตถุประสงค์ แก้

มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเป็นสถาบันส่งเสริมสนับสุนการเรียนรู้ของประชาชนให้ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญา อีกทั้งยังเป็นแหล่งฝึกอบรมหลักสูตรสาขาวิชาที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนและได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ดังนี้

 “สร้างโอกาสทางการศึกษา พัฒนาอาชีพชุมชนเมือง”

เปิดสอน แก้

วิทยาลัยชุมชนเมืองแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดสอนในหลักสูตรต่าง ๆ ดังนี้

หลักสูตรฝึกอบรม

  • เทคนิคการพัฒนาเด็กแรกเกิดถึง 3 ปี
  • การพัฒนาคุณภาพชีวิตผผู้สูงอายุในเมือง
  • ธุรกิจอาหารปลอดภัย
  • การบริหารจัดการอาคารสูง
  • การบริหารจัดการหมู่บ้านจัดสรร
  • ตัวแทนออกของมาตราฐาน (ชิปปิ้ง)
  • ภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพ
  • ภาษาพม่าเพื่ออาชีพ
  • ภาษาจีนเพื่ออาชีพ
  • ภาษาญี่ปุ่นเพื่ออาชีพ

หลักสูตรระยะสั้น (สำหรับทดสอบภาคปฏิบัติ)

  • วิชาช่างบริการตรวจเช็คเครื่องยนต์เบื้องต้น
  • วิชาซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า
  • วิชาซ่อมคอมพิวเตอร์
  • วิชาการใช้โปรแกรมตกแต่งภาพ
  • วิชาเสื้อผ้าสตรี
  • วิชาตัดเสื้อผ้าสมัยนิยม
  • วิชาอาหารไทยและขนมไทย
  • วิชาอาหารว่าง
  • วิชาการทำขนมปัง
  • วิชานวดแผนไทย (นวดตัว)
  • วิชานวดแผนไทย (นวดฝ่าเท้า)

หลักสูตรระดับปริญญาตรี

  • การจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรอาคาร
  • เทคโนโลยีบัณฑิต กลุ่มวิชาเอกการซ่อมบำรุงระบบราง
  • เทคโนโลยีบัณฑิต กลุ่มวิชาเอกการซ่อมบำรุงทรัพยากรอาคาร
  • ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาเด็กปฐมวัย

อ้างอิง แก้