วิถี พานิชพันธ์

อาจารย์ วิถี พานิชพันธ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีล้านนา เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อดีตรองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษประจำภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นผู้อำนวยการสถาบันศึกษาและสืบสานศิลปวัฒนธรรมสถาปัตยกรรมล้านนา (ไต) มหาวิทยาลัยพะเยา

Professor Vithi Phanichphant

ประวัติ แก้

นายวิถี พานิชพันธ์ (9 มีนาคม พ.ศ. 2489 - ) เดิมชื่อนายบุญทิวา พานิชพันธ์ เป็นบุตรของนายบุญเที่ยง พานิชพันธ์ กับนางปทุม มหาวรรณ เป็นชาวจังหวัดลำปางโดยกำเนิด สมรสกับ รศ.ดร.สุคนธ์ พานิชพันธ์ มีบุตรสองคนคือนายภูริน พานิชพันธ์ และนายภูเบ็ง พานิชพันธ์

การศึกษา แก้

อาจารย์วิถี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี Bachelor of Arts จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส เมื่อ พ.ศ. 2511 และปริญญาโท Master of Arts สาขา Environmental Design จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส พ.ศ. 2513


ประวัติการทำงาน แก้

อาจารย์วิถีก่อตั้งภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2526 มีบทบาทโดดเด่นด้านการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา ทั้งในด้านของการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมดั้งเดิม และการสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ในรูปแบบศิลปะร่วมสมัย ศิษย์เก่าที่ได้รับถ่ายทอดแนวความคิดไปจาก อ.วิถี เหล่านี้ ออกไปสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างมากมาย และได้รับการตอบสนองจากสังคมอย่างกว้างขวาง เช่น ด้านงานประเพณี “ประเพณีสลุงหลวง จังหวัดลำปาง” ซึ่งมีความโดดเด่นด้านการนำเสนอด้วยรูปแบบริ้วขบวน หรือในด้านการแสดงนาฏศิลป์ อย่างการฟ้อนเทวดา ฟ้อนปิติ ฟ้อนถวายมือ ฟ้อนผางประทีปพม่า เป็นต้น ซึ่งเป็นการแสดงที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่บนพื้นฐานความดีงามอย่างเดิม นอกจากนั้นในส่วนของงานดนตรีล้านนาร่วมสมัย วง ”ช้างสะตน” www.changsaton.com ซึ่งเป็นศิษย์จากภาควิชาศิลปะไทยเช่นกัน ก็ได้รับความนิยม และเป็นที่ยอมรับทั้งระดับภูมิภาคและระดับสากล

การแสดงออกพร้อมทั้งการส่งเสริมให้ลูกศิษย์เป็นผู้นำเสนอต่อสาธารณชนโดย อ.วิถี พานิชพันธ์ เป็นไปอย่างสอดคล้องกับยุคสมัย ปัจจุบันได้ปรากฏบทบาทและหน้าที่ด้านการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่แพร่หลายทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรหลายแห่งมีการจัดการชุมชน ศิลปกรรมและวัฒนธรรมชุมชนเพื่อสร้างเสริมภาพลักษณ์ของท้องถิ่น และหลายแห่งมีบัณฑิตจากภาควิชาศิลปะไทยเข้าไปมีส่วนร่วมปรากฏการณ์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตและให้คำนิยามเอาไว้ว่าเป็น “กระแสนีโอล้านนา” ซึ่งไม่ใช่การกลับมาของรากเหง้า แต่เป็นการสร้างสรรค์ต่อยอดมาจากรากที่มีอยู่ ไม่ใช่การทำขึ้นมาลอย ๆ อ.วิถี คือผู้มีส่วนสำคัญในการทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

รศ.ดร.สมพงษ์ วิทยศักดิ์พันธุ์ หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงชีวิตและการทำงานของ อ.วิถี ว่า ในยุคแรก ๆ ของชีวิตการทำงานในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ชีวิต อ.วิถี อาจแบ่งได้เป็นสองภาค โดยภาคหนึ่งเป็นช่วงเวลาของการสอนหนังสือ ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นช่วงเวลาของการแสวงหา เป็นการออกไปสัมผัสกับธรรมชาติ ออกไปสัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยจะสะพายกล้องถ่ายภาพไปด้วย โดยถ่ายเป็นภาพสไลด์ และนำมาล้างดู และอธิบายภาพนั้นซ้ำอีกที ซึ่งทำให้ อ.วิถี มีความซาบซึ้ง และมองเห็นแง่มุมต่างๆจากภาพเหล่านั้นยุคต่อจากนั้นเป็นช่วงเวลาของการสร้างฐาน โดย อ.วิถี ใช้เวลาไม่กี่ปีในการสร้างฐานของศิลปะไทยขึ้นมา ซึ่งถูกตั้งคำถามขึ้นมาว่าเป็นศิลปะไทยจริงหรือ โดยหากภาควิชาศิลปะไทยไม่มี อ.วิถี อยู่ ศิลปะไทยอาจอยู่ในรูปแบบของศิลปะไทยเดิม แต่ด้วยมุมมองที่ต่างจากคนอื่น ศิลปะไทยที่เป็นอยู่ในตอนนี้ จึงเป็นศิลปะไทยที่ประกอบด้วยวิญญาณของ อ.วิถี อย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่น่าสนใจคือการมองด้วยมุมมองที่แตกต่าง ผสมผสานกับรากเหง้าของความเป็นคนล้านนา และการเข้าไปเรียนรู้และสัมผัสด้วยตัวเอง ทดลองด้วยตัวเอง และพยายามจะสร้างสรรค์สิ่งที่ตัวเองเห็นว่าดีงามขึ้นมา

แต่ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เด่นชัดขึ้นมา เกิดขึ้นในยุคของการสร้างศิษย์ ในช่วงเวลาที่โลกาภิวัฒน์ยังไม่เข้ามามากเท่านี้ ช่วงเวลาที่เชียงใหม่ยังไม่บูมเท่านี้ การสร้างสีสันด้านศิลปวัฒนธรรมโดยลูกศิษย์ลูกหาที่แพร่กระจายออกไป สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับสังคมในวงกว้าง สิ่งที่ อ.วิถี ทำคือการเพาะเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ให้แพร่กระจายออกไป สิ่งที่ อ.วิถีสร้างขึ้นมานั้น ไม่ได้สร้างขึ้นมาลอย ๆ แต่ใช้เวลานับสิบ ๆ ปี ในการลงไปคลุกคลีอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ได้รู้จักศิลปะ ได้รู้จักชีวิตผู้คน จนสามารถที่จะอธิบายได้ว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร การที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมานั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีพื้นฐานที่ดี จึงจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีขึ้นมาได้ และนั่นคือสิ่งที่ อ.วิถี พานิชพันธ์ ทำมาตลอดชีวิต

ผลงานตีพิมพ์ แก้

Title ผ้าและสิ่งถักทอไท / วิถี พานิชพันธ์ Publisher เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม; 2547 Subject ผ้าไทย, การทอยกดอก, หัตถกรรมสิ่งทอ, การทอผ้า

Title วิถีล้านนา / วิถี พานิชพันธ์ Publisher Imprint กรุงเทพฯ :โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์; 2548. ISBN 974-9575-90-3 Subject ภูมิหลังแผ่นดินล้านนา, วัฒนธรรมข้าวเหนียว, ชาติพันธุ์ของชาวล้านนา, บ้านพักอาศัยและสิ่งปลูกสร้าง, เรื่องเล่าและตำนานในล้านนา, สังคมและวัฒนธรรมปัจจุบัน, ล้านนาประเพณีดั้งเดิมที่ยังคงอยู่, ไทย (ภาคเหนือ)--ความเป็นอยู่และประเพณี

Title: จิตรกรรมเวียงต้า / วิถี พานิชพันธ์ Publisher อนุสาร อ.ส.ท. 33, 4 (พ.ย. 35) 24-27 : ภาพประกอบ Subject: จิตรกรรมไทย -- ไทย -- แพร่

Title: หำยนต์ เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย / วิถี พานิชพันธ์ Publisher: สยามอารยะ 2, 20 (ส.ค.37) 122-126 Subject: สถาปัตยกรรมไทย -- ไทย

Title: ไทเขินแห่งเชียงตุง / วิถี พานิชพันธ์ Publisher Imprint: โครงการจัดตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต) มหาวิทยาลัยพะเยา, 2556. ISBN 978-616-7820-01-9 Subject:1. ไทเขิน--ความเป็นอยู่และประเพณี. 2. พุทธศาสนา--เชียงตุง (พม่า).

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

แหล่งข่าว แก้

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๖๕, ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๙๕, ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๔๐๕, ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓