วิกิพีเดีย:ฝนตกไม่ทั่วฟ้า

ก็เมฆมีแค่นี้จะให้ฝนตกทั่วฟ้าได้อย่างไร

"ฝนตกไม่ทั่วฟ้า" เป็นสุภาษิตไทย หมายถึง ให้หรือแจกจ่ายอะไรไม่ทั่วถึงกัน[1]

ในวิกิพีเดียภาษาไทย ผมขอนำสุภาษิตดังกล่าวมาเปรียบกับเวลาที่ผู้เขียนพบว่างานเขียนของตนถูกลบไป แล้วมาอ้างเหตุผลว่า ทำไมหน้าอื่นจึงยังมีได้ อย่างนี้ผู้ที่มาลบถือว่าเลือกปฏิบัติหรือเปล่า เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดกับผมหลายครั้งแล้ว เป็นที่ไม่พอใจของผู้เขียน จึงขอถือโอกาสและพื้นที่มาเล่าสู่กันฟังครับ

สถานการณ์ แก้

วิกิพีเดียภาษาไทยมี 163,858 บทความ และมีทั้งหมด 1,081,390 หน้า แต่ด้านกำลังคน วิกิพีเดียภาษาไทยมีผู้ใช้เพียง 1,215 คนที่มีความเคลื่อนไหวในช่วง 30 วันหลังสุด เพราะฉะนั้นหากพิจารณาด้วยใจเป็นธรรมแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าวิกิพีเดียภาษาไทยขาดแคลนคนที่จะตรวจสอบทุกหน้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน และย่อมมีบางหน้าที่ถูกปล่อยปละละเลยทำให้มีเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องหลุดรอดไป

บทความบางกลุ่ม เช่น บทความบันเทิงหรือการเมือง ผู้ใช้มักต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ แม้ว่าคุณสุจริตใจแต่ย่อมมีผู้ขัดใจได้รับ "ความเดือดร้อน" เสมอ เช่น เวลาลบเนื้อหาอะไรที่เขาเคยเห็นว่ามีอยู่ในบทความทำนองเดียวกันอื่น จะมีคนโวยวายขึ้นทันทีว่าเลือกปฏิบัติ เพราะเขามีความเข้าในผิด ๆ ว่าเนื้อหาที่มีอยู่นานในวิกิพีเดียโดยไม่มีใครค้านเป็นเวลานาน แปลว่าได้รับความเห็นชอบจากชุมชนแล้วว่ามีได้ ทั้งนี้ บทความและผู้ใช้ที่มีปัญหานั้นเป็นส่วนน้อย และการสันนิษฐานว่าผู้อื่นสุจริตใจยังมีผลในที่นี้อยู่

ตัวอย่างกรณีที่เป็นปัญหา แก้

  • การลบคำนำหน้าชื่อ เช่น "นายกองใหญ่" ในบทความนักการเมือง
  • การลบผลงานโฆษณาของดารานักแสดง

จะเห็นได้ว่ากรณีข้างต้นไม่เข้ากับเกณฑ์เคร่งครัด เช่น อะไรที่ไม่ใช่สารานุกรม แต่มักเป็นเนื้อหาที่มีคู่มือแล้วว่าควรเขียนไปในทิศทางใด นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีปัญหาขึ้นมา เพราะผู้เขียนก็ไม่กล้าเด็ดขาด ส่วนผู้ทักท้วงก็ทักท้วงเสียงดังว่าไม่ใช่กฎตายตัว

ถึงผู้เขียนวิกิพีเดีย แก้

 
"The time is always right to do what’s right." – มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์

หากคุณเจอเหตุการณ์ทำนองนี้ ขอคุณอย่าหมดกำลังใจ และอธิบายเขาไปตามนี้ คุณไม่ควรรู้สึกแย่ที่ไปลบเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ เพราะหลักเกณฑ์เป็นสิ่งที่ชุมชนวิกิพีเดียอภิปรายและตกลงกันแล้ว สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าใดแต่ถ้าไปพบเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเมื่อไหร่ก็แก้ไขเมื่อนั้น คุณอาจยอมประนีประนอมได้บ้าง แต่อย่าถึงขั้นให้เขาถือสิทธิ์ขาดในบทความและอ้างความเป็นเจ้าของ หลักที่ผมใช้ประจำเวลาผู้ใช้กล่าวหาว่าผมไม่เป็นกลางคือ ผมจะท้าให้เขาหาสิ่งที่ผิดทำนองเดียวกันมาและแก้ไขไปพร้อมกัน หลายครั้งผมพยายามชักชวนให้คู่กรณีมาร่วมกันแก้ไขด้วยแต่ก็ไร้ผล แต่ก็นับว่าเป็นการช่วยเก็บกวาดทีละหลาย ๆ บทความ

หากเขาไม่พอใจกับหลักเกณฑ์ของวิกิพีเดีย ให้ท้าชวนเขามาอภิปรายเพื่อดูว่าจะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ได้หรือไม่ สำหรับผู้ใช้ที่มีปัญหามาก ควรปฏิบัติตามนโยบายการระงับข้อพิพาท หรือหากมีพฤติกรรมผิดร้ายแรงรวมถึงการโจมตีตัวบุคคล พยายามเลี่ยงการโจมตีตอบ และแจ้งผู้ดูแลระบบ

ถึงผู้ที่มาทักท้วง แก้

 
ทำไมเห็นช้างขี้แล้วต้องขี้ตาม?

การที่ผู้ใช้คนนั้นมาโฟกัสเฉพาะบทความใดบทความหนึ่งนั้น ไม่ใช่การเพ่งเล็ง ไม่ใช่การจองล้างจองผลาญ มันไม่เกี่ยวกับตัวคุณเลยด้วยซ้ำ นี่มันเกี่ยวกับการเขียนบทความในวิกิพีเดีย สิ่งที่เราอยากให้ผู้อ่านได้เห็น

หยุดเถอะครับ บทความไหนทำไม่ถูกต้องแล้วจะเอาอย่างทำไม เวลาที่คนอื่นเขาจะแก้ไขให้มันถูกต้อง ถ้าไม่ช่วยก็ไม่เป็นไรครับ แต่ขอความกรุณาอย่าขัดขวาง อย่าทำให้ผู้อื่นหมดกำลังใจทำสิ่งที่ถูกต้อง หรืออย่างน้อยก็ช่วยแจ้งเข้ามาก็ได้ว่ามีบทความไหนส่วนไหนต้องแก้ไข แล้วจะมีอาสาสมัครไปแก้ไขให้

อ้างอิง แก้

  1. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔