ความโดดเด่นวงศ์ตระกูล แก้

วงศ์ตระกูล ครอบครัวหรือนามสกุล มีความโดดเด่นสามารถสร้างเป็นบทความหรือหมวดหมู่ในวิกิพีเดียภาษาไทยได้ต่อเมื่อผ่านเกณฑ์ทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณดังนี้

  1. เชิงคุณภาพ ได้รับการกล่าวถึงอย่างสำคัญ (significant coverage) ในแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับหัวเรื่องนั้น ในที่นี้ "การกล่าวถึงอย่างสำคัญ" หมายความว่า แหล่งข้อมูลได้กล่าวถึงหัวเรื่องในรายละเอียดโดยตรง การกล่าวถึงอย่างสำคัญเป็นมากกว่าการกล่าวถึงในเชิงเกร็ด (trivial mention) แต่ไม่ถึงกับต้องเป็นหัวข้อหลักของแหล่งข้อมูลนั้น แหล่งอ้างอิงจากหนังสือรวมรายชื่อนามสกุลพระราชทานและประกาศพระราชทานนามสกุลจากราชกิจจานุเบกษา ยังไม่ใช่แหล่งอ้างอิงที่กล่าวถึงอย่างสำคัญ (แต่นำมาอ้างอิงได้และอาจนำข้อมูลดังกล่าวไปเก็บไว้บนวิกิซอร์ซแล้วทำลิงก์โครงการพี่น้องจากวิกิพีเดียเชื่อมโยงไปหา)
  2. เชิงปริมาณ จำนวนบทความบุคคลที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุดคือ
    • ห้าคน ในกรณีปกติ
    • สามคน ในกรณียกเว้นคือ สามชั่วอายุคนไม่ว่าจะติดต่อกัน (เช่น ปู่ พ่อ ลูก) หรือเว้นช่วง (เช่น ทวด แม่ หลาน) ที่ยกเว้นให้ในกรณีนี้เพราะในสามชั่วอายุคนกินเวลายาวนานเพียงพอ ทำให้เป็นที่รับรู้เป็นวงกว้างในสังคม และเป็นปัจจัยให้เกิดความโดดเด่นได้

ทั้งนี้สำหรับบทความวงศ์ตระกูลหรือนามสกุลอาจพิจารณาจากจำนวนบทความบุคคลที่ผ่านเกณฑ์สร้างบทความได้ แต่สำหรับหมวดหมู่ให้พิจารณาจากบทความที่มีอยู่แล้วเท่านั้น

รูปแบบ แก้

สำหรับตระกูลหรือนามสกุลที่โดดเด่น มีลักษณะการเขียนที่ต่างกันไปดังนี้

  1. บทความประเภทนามสกุล ต้องอาศัยความโดดเด่นของแต่ละคนในสกุลเป็นองค์รวม อธิบายเนื้อหาว่าโดยรวมบุคคลในสกุลนั้น ๆ มีความโดดเด่นร่วมกันอย่างไร เช่น ประกอบอาชีพนั้นแทบทุกคน บุคคลแต่ละคนในตระกูลมีความโดดเด่น มีบทความแยกย่อย (แต่ละบุคคลผ่านเกณฑ์ความโดดเด่น) จำนวนบทความของบุคคลในตระกูลต้องผ่านเกณฑ์เชิงปริมาณข้างต้น (ดู en:Chaplin family, en:Bernoulli family, en:Jackson family)
  2. หากบุคคลนั้นเป็นผู้มีชื่อเสียงมาก จนมีแหล่งอ้างอิงทุติยภูมิมากมายที่กล่าวถึง ครอบครัวอย่างละเอียด สามารถเขียนแยกเป็นบทความเกี่ยวกับครอบครัวได้ ยกตัวอย่างเช่นบทความ en:Einstein family บิดา มารดา และญาติอื่น ๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีชื่อเสียง แต่ไอน์สไตน์ซึ่งเป็นคนที่มีชื่อเสียงมาก จึงมีอ้างอิงทุติยภูมิที่กล่าวถึงครอบครัวเขาอย่างละเอียด แต่จะไม่แยกเขียนเป็นบทความบุคคลแยกออกไป เนื่องจากยังไม่โดดเด่น ไม่มีผลงานเพียงพอ จึงได้สร้างบทความเขียนเกี่ยวกับครอบครัวรวม แต่สามารถเปลี่ยนทางชื่อบุคคล มาที่บทความครอบครัวได้
  3. หมวดหมู่นามสกุล เป็นหมวดหมู่ที่อยู่ในทุกหน้าบทความของผู้ที่ใช้นามสกุลนั้นและมีความเกี่ยวพันธ์กันทางเครือญาติ
  4. หมวดหมู่บุตร สำหรับกรณีกษัตริย์ ผู้มีอำนาจหรือชื่อเสียง ที่มักมีบุตรจำนวนมาก ทั้งนี้ให้ทำหมวดหมู่เพียงชั่วอายุคนเดียว ไม่ควรทำหมวดหมู่ไปถึงชั้นหลานเพราะไม่จำเป็นและอาจซ้ำซ้อน
  5. บทความรายชื่อ คล้ายกับหมวดหมู่ ให้พิจารณาตาม en:Wikipedia:Manual of Style/Stand-alone lists และ en:Wikipedia:Notability_(people)#Lists_of_people ซึ่งจะได้เขียนเป็นภาษาไทยและรับรองโดยชุมชนในโอกาสต่อไป

อนึ่งการเขียนพงศาวลีหรือลำดับวงศาคณาญาตินั้น อาจรวมไว้ในบทความบุคคลที่เกี่ยวข้องหรืออาจอยู่ในบทความนามสกุลหรือบทความครอบครัวก็ได้ตามความเหมาะสม การมีพงศาวลีที่มีหลักฐานอ้างอิงครบถ้วนไม่ใช่เหตุอ้างว่านามสกุลหรือบุคคลมีความโดดเด่นแต่อย่างใด

ข้อควรระวัง แก้

อนึ่งแม้บทความจะมีความโดดเด่นเพียงพอ เพื่อความเป็นกลางของบทความวิกิพีเดียภาษาไทยมีนโยบายอื่นที่ผู้เขียนบทความบุคคลหรือวงศ์ตระกูลพึงระวังดังนี้

  • อัตชีวประวัติ หากผู้เขียนเป็นญาติหรือบุคคลที่ใกล้ชิดในวงศ์ตระกูลนั้น เนื้อหามักจะไม่เป็นกลางและน้ำหนักการเขียนมักจะมีลักษณะการชื่นชม และในหลายครั้งเนื้อหาที่เขียนถึงวงศ์ตระกูล มักเยิ่นเย้อ ใส่รายละเอียดทุกอย่าง หลักการสังเกตอย่างง่าย เนื้อหามากมายเหล่านั้นมักไม่มีอ้างอิงทุติยภูมิ อ้างอิงจากคำบอกเล่าในตระกูล และหนังสือตีพิมพ์งานฌาปนกิจ ไม่ถือเป็นอ้างอิงทุติยภูมิ
  • การขัดกันแห่งผลประโยชน์ แม้ผู้เขียนมิได้เป็นญาติแต่มีส่วนได้เสียอย่างใดอย่างหนึ่งกับเรื่องที่เขียนจนทำให้เกิดอคติในการเขียน ก็พึงงดเว้นการเขียนหรือการแก้ไขบทความนั้นเสีย

เมื่อไม่ผ่านเงื่อนไข แก้

ถ้าคุณเห็นว่าบทความบุคคลไหนไม่ผ่านเกณฑ์ คุณสามารถช่วยติดป้าย

  • {{ใคร}} ถ้าบุคคลนั้น อาจจะเป็นบุคคลสำคัญที่มีความโดดเด่นแต่ไม่ได้อธิบายไว้ว่าคนนั้นสำคัญอย่างไร เผื่อให้ผู้เขียนกลับมาแก้ไข
  • {{ลบ}} ถ้าบุคคลนั้นไม่ใช่บุคคลสำคัญที่มีความโดดเด่น โดยจะทำการแจ้งผู้ดูแลระบบให้ลบบทความออกจากระบบ
  • นอกจากนี้คุณเองสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ โดยนำแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือมาเพิ่มเติม แสดงถึงความสำคัญของตัวบทความได้

เมื่อบทความถูกลบ แก้

โดยสรุปแล้วในหน้านี้กล่าวถึงสาเหตุที่ส่วนใหญ่ที่บทความเกี่ยวกับบุคคลถูกลบสามประการคือ

  1. ขาดความโดดเด่น เช่น ไม่มีแหล่งอ้างอิง ไม่ผ่านเกณฑ์เชิงคุณภาพหรือเชิงปริมาณ
  2. เขียนไม่ถูกรูปแบบ เช่น ไม่มีความโดดเด่นร่วมกันในตระกูล
  3. ไม่เป็นกลาง เช่น เขียนโดยผู้มีส่วนได้เสีย

หากบทความของท่านถูกลบและต้องการส่งเข้ามาใหม่ในวิกิพีเดียหรือต้องการหาที่เผยแพร่ในเว็บไซต์อื่น โปรดอ่าน