วันสตรีไทย ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546[1] จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันมหามงคล 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีพระวิริยะอุตสาหะ ตรากตรำบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อให้คนไทยได้มีอาชีพ และได้พระราชทานให้วันที่ 1 สิงหาคมเป็น "วันสตรีไทย" ของทุกปี เพื่อให้ผู้หญิงไทยมีโอกาสแสดงถึงความรู้ ความสามารถในการพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันสังคม และให้สามารถเทียบเท่าสตรีสากลของหลายประเทศที่เจริญแล้ว

ซึ่งทุกวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี จะมีการประกาศถึงเกียรติประวัติของสตรีชั้นแนวหน้าของโลกทั้งที่มีชีวิต และที่เสียชีวิตไปแล้ว เช่น ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์, แม่ชีเทเรซา แห่งประเทศอินเดีย, ประธานาธิบดี เมกาวาตี ซูการ์โนปูตรี แห่งอินโดนีเซีย และนางอองซานซูจี ของพม่าที่เรียกร้องประชาธิปไตยกับประเทศ ส่วนในประเทศไทยมีอยู่หลายท่าน เช่น คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นางปวีณา หงสกุล

วันสตรีไทยถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง เพราะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงไทยออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันสตรีมีบทบาทมากขึ้น มีความสามารถทัดเทียมผู้ชาย เป็นที่ยอมรับจากสังคม จะเห็นได้จากหน่วยงานราชการและภาคเอกชนเริ่มมีสตรีเข้าไปเป็นหัวหน้างานมากขึ้น รวมถึงการเข้าไปมีบทบาทในการบริหารประเทศชาติ สตรีไทยในยุคปัจจุบัน จึงต้องเป็นสตรีที่มีความรู้ความสามารถครบถ้วนทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการบริหาร การจัดการ การเป็นแม่ที่ดีของลูก เป็นภรรยาที่ดีของสามี และเป็นแม่ศรีเรือนที่ดี พร้อมทั้งต้องก้าวทันกับยุคสมัย เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม

อ้างอิง

แก้