วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ)

วัดในจังหวัดนครสวรรค์

วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) ปัจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระบรมธาตุ (เกยไชย) เป็นวัดในตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ริมฝั่งแม่น้ำยม ณ บริเวณสบกันของแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่าน มีเนื้อที่ 26 ไร่ 2 งาน 92 ตารางวา ได้ตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. 2390 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2400 ซึ่งเจ้าคณะผู้ปกครองฝ่ายสงฆ์ได้ปกครองดูแลตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

วัดเกยไชยเหนือ
แผนที่
ที่ตั้งหมู่ 4 ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายเถรวาท
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ. 1906–1912 อย่างน้อยที่สุดซึ่งปรากฏ หลักฐานคือ พระบรมธาตุเจดีย์ ทรงระฆังคว่ำ แบบลังกาฐานแปดเหลี่ยม ไม่ทำเสาหาน และยังพบหลักฐานสำคัญอีกหนึ่งอย่าง คือ ใบเสมาคู่ ลายเทพนม และลายดอกไม้ที่ทำจากหินชนวน เป็นต้น เดิมวัดแห่งนี้เรียกว่า วัดพระบรมธาตุ ดังปรากฏในเอกสารตรวจการคณะสงฆ์ มณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2457 เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เสด็จเยี่ยมวัดแห่งนี้ ดังปรากฏข้อความว่า

เช้าเกือบ 3 โมง เรือเคลื่อนจากทำนบหน้าวัดชุมแสง ล่องลงมาตามลำน้ำน่าน มีเรือราษฎรราว 10 ลำเศษ เลี้ยวเข้าไปในลำน้ำยมอันแยกจากลำน้ำน่าน เข้าไปราวเส้นหนึ่ง ถึงวัดพระบรมธาตุ เรือพระที่นั่งหยุดทอดหน้าวัดเสด็จขึ้นทอดพระเนตร วัดนี้มีโบสถ์ก่อใบสีมาใช้หินสลักเป็นลายต่างๆ เช่น ลายเทพนมบ้าง ลายดอกไม้บ้าง มีเจดีย์ รูปกลมสูงราว 3 วาเศษอยู่องค์หนึ่ง ฐานแปดเหลี่ยม ซึ่งหมายเอาว่าเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ ทราบว่าถึงหน้าเทศกาล ชาวบ้านประชุมนมัสการเป็นงานปี แล้วทรงประทานของแจกแก่พระสงฆ์ เจ้าอาวาสและราษฎรผู้มาคอยเฝ้าอยู่แล้วเสด็จกลับลงเรือพระที่นั่ง

ในปี พ.ศ. 2460 วัดพระบรมธาตุ ได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ตามการปกครองของบ้านเมือง โดยใช้ ชื่อว่า “วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ)” จากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติ แก้

ประวัติการปฏิสังขรณ์หรือการก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร มีแต่คำบอกเล่าของชาววัดสืบต่อๆ กันมา ว่าการปฏิสังขรณ์หรือการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้ มีความสัมพันธ์กับการสร้างวัดโพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ สมเด็จพระเจ้าเสือ แห่งกรุงศรีอยุธยาพระราชวงศ์บ้านพลูหลวง (พ.ศ. 2246–2251) และพระราชพงศาวดารของกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า พระเจ้าเสือ ประสูติ ณ บ้านโพธิ์ประทับช้าง แขวงเมืองพิจิตร เมื่อครั้งพระเพทราชา (พระบิดา) พาพระมารดา (นางกุลธิดาราชธิดาของพระเจ้าเชียงใหม่) ซึ่งมีพระครรภ์แก่ตามเสด็จสมเด็จพระนารายณ์มานมัสการพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลก เมื่อพระเจ้าเสือเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงระลึกถึงที่ประสูติตามคำพระมารดาตรัสเล่าจึงโปรดให้ สมุหนายกเกณฑ์ผู้คนลำเลียงสิ่งของ เช่น อิฐ ปูนขาว กาวหนัง เชือก ฯลฯ บรรทุกเรือมาก่อสร้างวัด ณ บริเวณดังกล่าว ใช้เวลาประมาณสองปีเศษ จึงแล้วเสร็จสิ้น

บ้านเกยไชย มีปรากฏชื่ออีกครั้งในสมัยพระเจ้าตากสิน เมื่อครั้งเสด็จมาปราบชุมนุมพิษณุโลกหลักฐานระบุว่า กองทัพหลวงพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้ง ณ ตำบลเกยชัย (คำว่า “ชัย” สะกดตามหลักฐานในพระราชพงศาวดาร) กองทัพธนบุรีปะทะกองทัพพิษณุโลกในครั้งนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงได้รับบาดเจ็บที่พระชงฆ์ (หน้าแข้ง) เพราะต้องปืนจึงถอยทัพกลับไปก่อน

จากหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เชื่อได้ว่า วัดแห่งนี้มีอยู่มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา ตราบจนกระทั่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเสด็จมามนัสการพระบรมธาตุดังได้กล่าวมาแล้วอนึ่งควรระบุไว้ในที่นี้ด้วยว่าเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 เกยไชยมีฐานะเป็นอำเภอภายหลังจากอำเภอพันลานเปลี่ยนไปเป็นตำบลแล้ว ซึ่งอำเภอเกยไชยตามพระราชกิจจานุเบกษา เล่ม 20 หน้า 498 ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2446 (ร.ศ. 122) โดยขณะนั้นมีหลวงผดุงแดนสวรรค์ เป็นนายอำเภอ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง เมื่อมีการย้ายอำเภอไปที่ชุมแสง ฐานะของเกยไชยจึงเปลี่ยนไปเป็นตำบล ในขณะที่ชุมแสงได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอมาจนถึงปัจจุบัน

จากคำบอกเล่าของพระครูนิทานธรรมประนาท (เที่ยง ปหฏฺโฐ) อดีตเจ้าอาวาสวัดเกยไชยเหนือ ระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. 2513 สมัยพระครูนิรภัยวิเทต (หลวงพ่อทองอยู่) ได้พาชาวบ้านทำการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุเจดีย์ ได้พบว่ายอดพระเจดีย์ประดับด้วยขันลงหิน 5 ใบคว่ำ ประกอบกันเป็นตุ้ม ครั้งนั้น ได้พบพระธาตุสีแดง มีลักษณะเป็นแก้วผลึกใส มีขนาดยาว 1 นิ้ว[1] เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร 1 องค์ รูปพรรณสัณฐานคล้ายคลึงกับพระบรมธาตุขององคุลีมาล เข้าใจว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์คงบรรจุไว้ทั้ง พระบรมธาตุ และพระธาตุของพระสาวก

อดีตเจ้าอาวาสยังเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2533 ในระหว่าง งานผูกสีมา – ฝังลูกนิมิตอุโบสถหลังใหม่ ได้เกิดปรากฏการณ์ประหลาด มีน้ำเดือดผุดเกิดขึ้น ณ บริเวณท่าน้ำหน้าพระบรมธาตุ เป็นเวลาประมาณ 2 – 3 วัน แล้วหายไป ชาวบ้านพากันมาดูมากมายต่างเชื่อกันว่าเป็นการแสดงปาฏิหาริย์ของพระบรมธาตุความศักดิ์สิทธิ์ของพระบรมธาตุเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วไปงานสมโภชพระบรมธาตุมีสืบเนื่องมาโดยตลอด จัดเป็นประจำทุกๆ ปี ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรก เป็นงานปิดทองไหว้พระ ห่มผ้าองค์หลวงพ่อพระบรมธาตุ และเทศกาลกินตาล ในวันขึ้น 14 – 15 ค่ำ เดือน 5 และครั้งที่สอง จัดขึ้นในวันแรม 1 – 2 ค่ำ เดือน 11 เป็นงานปิดทององค์พระบรมธาตุ และงานแข่งขันเรือประเพณี เท่าที่สืบค้นได้วัดแห่งนี้ มีรายนามผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ดังนี้[2]

  1. พระอาจารย์ปั่น (พ.ศ. 2400 – 2430)
  2. พระสมุห์สอน (พ.ศ. 2430 – 2466)
  3. พระครูนิรภัยวิเทต (ทองอยู่ ปญฺญาวฑฺฒโน, พ.ศ. 2466 – 2524)
  4. พระครูนิทานธรรมประนาท (เที่ยง ปหฏฺโฐ, พ.ศ. 2524 – 2546)
  5. พระครูนิธานปุญญาภิวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอ ชุมแสง (พ.ศ. 2546 – 2565)
  6. พระครูศรีภัทรนิโรธ (พ.ศ. 2565 – ปัจจุบัน)

อ้างอิง แก้