วัดสามวิหาร

วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดสามวิหาร เป็นวัดในพระพุทธศาสนาเถรวาท สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 56 หมู่ 4 บ้านคลองบางขวด ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเนื้อที่ทั้งหมด 14 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา เดิมมีชื่อ วัดสามพิหาร ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนเป็น วัดสามวิหาร เนื่องจากเดิมนั้นมี 3 วิหาร คือวิหารพระนอน วิหารพระนั่ง และวิหารพระยืน แต่ปัจจุบันนี้ เหลืออยู่ 2 วิหาร คือ วิหารพระนอนและวิหารพระนั่ง เท่านั้น มีประวัติการสร้างนับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ประมาณ พ.ศ. 1920 ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพระงั่ว) [1] ที่มีชื่อว่า วัดสามวิหาร เพราะมีวิหาร 3 หลัง คือ วิหารพระนอน วิหารพระนั่ง (ปางมารวิชัย) และวิหารพระยืนที่ไม่ปรากฏในปัจจุบัน[2]

วัดสามวิหาร
แผนที่
ที่ตั้งบ้านคลองบางขวด ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพระงั่ว) ประมาณ พ.ศ. 1920 ตามตำนานกล่าวว่า หม่อมหลวงชีดำได้สร้างขึ้นเพื่อจะบรรจุอัฐิของพระมารดา และญาติ ๆ ต่อมาจึงได้ร่วมกับพี่น้อง 2 พระองค์ สร้าง คือ เจ้าฟ้าขาวและเจ้าฟ้าเขียว โดยแบ่งกันสร้างดังนี้

หม่อมหลวงชีดำ สร้างพระนอนและวิหาร        

เจ้าฟ้าขาว สร้างหลวงพ่อขาวและวิหาร                      

เจ้าฟ้าเขียว สร้างพระยืน และวิหาร         

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 1930 เดิมชื่อว่า “วัดสามพิหาร” ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนเป็น “วัดสามวิหาร” เนื่องจากเดิมนั้นมี 3 วิหาร คือวิหารพระนอน วิหารพระนั่ง และวิหารพระยืน แต่ปัจจุบันนี้ เหลืออยู่ 2 วิหาร คือ วิหารพระนอนและวิหารพระนั่ง เท่านั้น  ส่วนวิหารพระยืนนั้นได้สลักหักพังไปตามกาลเวลา และไม่มีผู้ใดได้สร้างทดแทนอีกเลย

พงศาวดาร

แก้

วัดสามวิหาร มีปรากฏเรื่องในพงศาวดาร 2 ครั้ง

ครั้งแรก ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทรงยกทัพผ่านค่ายโพธิ์สามต้นมาตามทุ่งเพนียดคล้องช้างและเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงช้างพระที่นั่งยืนอยู่หน้าวัดสามวิหาร ทรงเร่งให้แม่ทัพนายกองต้อนพลเข้าเผด็จศึกกรุงศรีอยุธยา พระยารามเอาปืนนารายณ์สังหาร ลงสำเภาแล้วยิงขึ้นไปถูกกิ่งโพธิ์ใหญ่หัก 2 กำ ตกลงต้องสัปทนและช้างพระที่นั่งของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ขณะนั้นชาวป้อมมหาชัยก็ยิงปืนน้อยใหญ่เข้าใส่ ถูกรี้พลข้าศึกบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ จึงได้ถอยทัพกลับไป

ครั้งที่สอง ในแผ่นดินของพระมหาธรรมราชา พระละแวกยกพลมาตีกรุงศรีอยุธยามาตีกรุงศรีอยุธยา ในปีพุทธศักราช 2113 ทรงยืนอยู่ในวัดสามวิหารมีช้างแม่ทัพนายกองห้อมล้อม 30 เชือก เตรียมข้ามคลองเมืองเข้าตีกรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาโปรดให้ยิงปืนใหญ่บนเชิงเทินพร้อมกัน กระสุนลูกหนึ่งต้องพระจำปาธิราชสวรรคตบนคอช้าง พระยาละแวกพยายามยกพลเข้าตีกรุงศรีอยุธยา 3 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ จึงถอยทัพกลับไป

วัดสามวิหาร ได้เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้ง ยังทรงพระเยาว์ได้บรรพชาเป็นสามเณรพร้อมกับเด็กชายบุนนาค และพำนักอยู่ที่วัดสามวิหาร ทั้ง 3 รูป คือ สามเณรสิน สามเณรทองด้วง และสามเณรบุนนาค  จึงเป็นเพื่อนสนิทกัน

โบราณสถานและโบราณวัตถุ

แก้

วัดสามวิหาร เป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ ดังนี้

1. พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปูนปั้นแบบสุโขทัย พระพักตร์หน้านาง ยาว 21 เมตร อายุ 600 ปี

2. พระพุทธนิมิตพิชิตมาร (หลวงพ่อขาว) พระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4.6 เมตร

3. พระพุทธสุวรรณนิมิต (หลวงพ่อทอง) พระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3.6 เมตร

4. เจดีย์ใหญ่ รูปทรงระฆังคว่ำขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 40 เมตร เป็นเจดีย์สมัยอยุธยาตอนต้น ได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัย[3]

5. เสมาหินสลัก เป็นเสมาหินสลักขนาดใหญ่ 17 ใบ อยู่รอบอุโบสถ ใบหนึ่งอยู่ด้านหน้าอุโบสถถูกลูกปืนใหญ่นารายณ์สังหารของพระยารามยิง ยังปรากฏรอยอยู่ขณะนี้ และยังมี ศาลเสด็จเจ้าพ่อสมศักดิ์ ตั้งอยู่ใกล้ถนนด้านทิศใต้  ชาวบ้านมาบน มากราบไหว้บูชาอยู่เสมอ

รายนามเจ้าอาวาส

แก้

วัดสามวิหารมีพระดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส (เท่าที่ปรากฏหลักฐาน)  ดังนี้

  • พระอธิการเพิ่ม  ฐิตวิริโย (พ.ศ.  2450 - 2480)
  • พระอธิการแผน  ปภสฺสโร (พ.ศ. 2480 - 2493)
  • พระอธิการจรูญ ธีรปญฺโญ (พ.ศ.  2493 - 2497)
  • พระอธิการสำเภา กตปุญฺโญ (พ.ศ. 2497 - 2500)
  • พระครูสังฆรักษ์ทองอยู่ อินทสาโร (พ.ศ. 2500 - 2528)
  • พระมหาสุจินต์ ฐานวโร (พ.ศ. 2528 - 2530)
  • พระพรหม  ธีรภทฺโท (รักษาการแทนเจ้าอาวาส พ.ศ. 2530 -  2531)
  • พระครูวิบูลอาจารพิพัฒน์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อวันที่  24 กุมภาพันธ์ 2532 ถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

แก้
  1. ประวัติวัดสามวิหาร https://www.youtube.com/watch?v=GAv5YDTVm_g
  2. "พระนอนวัดสามวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา : คติ-สัญลักษณ์ สถาบัตยกรรม". ข่าวสด.
  3. "วัดสามวิหาร". ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.