วัดน้ำริดใต้

วัดในจังหวัดอุตรดิตถ์

วัดน้ำริดใต้ ตั้งอยู่ที่ บ้านน้ำริดใต้ หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำริด อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ สังกัดเขตการปกครองคณะสงฆ์ตำบลน้ำริด ตัววัดมีเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา ตั้งอยู่ทางใต้ของหมู่บ้าน ติดถนนสายหมู่บ้านน้ำริดและถนนสายนานกกกสู่ถนนสายหัวดงลับแล ปัจจุบันมี พระธนพร ธมฺมปาโล เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดน้ำริดใต้รูปปัจจุบัน[1]

วัดน้ำริดใต้
แผนที่
ชื่อสามัญวัดน้ำริดใต้
ที่ตั้งหมู่ที่ 1 ตำบลน้ำริด อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ 53000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายเถรวาท มหานิกาย
เจ้าอาวาสพระธนพร ธมฺมปาโล
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดในหมู่บ้านน้ำริด เดิมมีวัดเดียว ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน ( ปัจจุบันเป็นโรงเรียนน้ำริดราษฎร์บำรุง ) แต่ต่อมาหมู่บ้านทางเหนือมีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงพากันย้ายวัดไปตั้งที่ ม่อนปู่ท่อง ( โรงเรียนไผ่ล้อมสามัคคี ในปัจจุบัน ) เป็นเหตุให้ชาวบ้านตอนใต้ไม่ยอม และเล็งเห็นว่า ที่ดินตรงที่น้ำพัดไม้มากองอยู่นั้น เป็นลานกว้าง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันที่จะสร้างวัดตรงลานกว้างที่วางอยู่ เพราะว่าน้ำไม่ได้ท่วมตลอดปี

นับตั้งแต่นั้นมา ขุนวารีฤทธิ์ดำรง เป็นหัวหน้า ( กำนัน ) ได้ขอตั้งวัดเมื่อ ปี พ.ศ. 2401 หมู่บ้านน้ำริดจึงมีวัดเพิ่มเป็น 2 วัด และวัดนี้เรียกว่าวัดใต้ เพราะเหตุว่าอยู่ตอนใต้ของหมู่บ้าน วัดนี้ร้างอยู่ประมาณ ปีเศษ ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2402 มีพระภิกษุมาอยู่จำพรรษา ซึ่งเป็นพระที่มีจิตตั้งมั่นในการพัฒนาทำนุบำรุงวัดได้เป็นอย่างดี จึงมีชาวบ้านเห็นดีด้วย จึงให้ความร่วมมือร่วมกันสร้างอุโบสถ แบบอุดตัน คืออาคารอุดตัน ไม่มีมุขหน้า หลัง ก่อสร้างด้วยอิฐแดงขนาดใหญ่ ฉาบด้วยปูนขาว มุงด้วยกระเบื้องดินเผา

 
ซุ้มประตูวัดน้ำริดใต้

ต่อมา เมื่อ ปี พ.ศ. 2453 ได้มีหัวหน้าพนักงานวานตรวจดึงเส้น ทำระดับ ว่าจะมีการตัดถนนทางรถไฟผ่านที่วัดนี้กึ่งกลางของวัดพอดี ในขณะนั้นมี หลวงปู่โท้ เป็นเจ้าอาวาสอยู่ จึงได้ขอร้องไม่ให้ผ่านที่วัด แต่ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่า เป็นคำสั่งของรัชกาลที่ 5 ว่าจะต้องทำถนนรถไฟผ่านตรงที่วัดให้ได้ ประกอบกับชาวบ้านเล็งเห็นว่า ที่ของทางวัดยังมีที่เหลือติดกับคลองน้ำริดก็คงพอสำหรับตั้งวัดแล้ว จึงยกที่ให้กับทางราชการไป

ดังนั้น เมื่อ ปี พ.ศ. 2454 ได้มีพนักงานมาจากทางราชการ โดยมากจะเป็นคนจีน และชาวจีนส่วนใหญ่จะชอบกินยาฝิ่นเสียเป็นส่วนใหญ่ ต่างก็มาพักอยู่ที่วัดใต้ทางทิศตะวันออก และเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2456 ทางการรถไฟได้ดำเนินการวางรางรถไฟตัดผ่านหน้าวัด ดำเนินงานวางรางรถไฟ จนพ้นหมู่บ้าน ใช้เวลาการดำเนินงานโดยประมาณ 5 เดือน ขุนประชา ตำบลน้ำริด ได้ขอแรงจากคนไทย และ คนจีน ได้ร่วมมือช่วยกันซ่อมแซมอุโบสถ และทำการเปลื่ยนกระเบื้องหลังคา ประมาณ พ.ศ. 2465 ได้ขุนวารีฤทธิ์ดำรง เป็นหัวหน้า ( กำนัน ) ได้ตั้งบ้านเลขที่ให้ และเห็นว่าวัดมีความสำคัญมาก จึงตั้งเลขที่ให้กับทางวัด ได้เลขที่ 1 หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำริด เป็นต้นมา

ตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้าน และ พระภิกษุ จึงได้ช่วยกันทำนุบำรุง ดูแล รักษากันมาโดยตลอด มาจนถึงยุคของ ท่านพระครูโอภาสวิมลกิจ ดูแลปกครองมาจนถึงปัจจุบัน และท่านยังได้สมณะศักดิ์พัดยศ เป็นรูปแรกของตำบลน้ำริด นับว่าเป็นประวัติของวัดอันดีงามมาโดยตลอด และหลังจากท่านพระครูโอภาสวิมลกิจมรณภาพลง โดยมี รักษาการแทนเจ้าคณะตำบลน้ำริด พระอธิการชราวุฒิ วุฒฺธิโก จึงแต่งตั้งรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดน้ำริดใต้ คือ พระธนพร ธมฺมปาโล รูปปัจจุบัน[1]


รายนามเจ้าอาวาส ตั้งแต่รูปแรกจนถึงปัจจุบัน แก้

  • รูปที่ 1. หลวงปู่โท้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2430 ถึง (ไม่ทราบ)
  • รูปที่ 2. ครูบาเสาร์
  • รูปที่ 3 ครูบาคง
  • รูปที่ 4 พระรอด ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 ถึง พ.ศ. 2500
  • รูปที่ 5 พระตอง ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2502
  • รูปที่ 6 พระเบ้อ ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2503
  • รูปที่ 7 พระปุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ถึง พ.ศ. 2504
  • รูปที่ 8 พระเฉลิม จนฺทปโม (ปาลาศ) ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ถึง พ.ศ. 2506
  • รูปที่ 9 พระอธิการตัน ถิรจตฺโต (ชื่นชม) ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 ถึง พ.ศ. 2516
  • รูปที่ 10 พระครูโอภาสวิมลกิจ (วิมล โอภาโส) พ.ศ. 2518 ถึง พ.ศ. 2558
  • รูปที่ 11 พระธนพร ธมฺมปาโล ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. ปัจจุบัน[1]

อาณาเขตที่ตั้งวัด แก้

  • ทิศเหนือ ยาว 3 เส้น 6 วา จด ถนนซอยวัฒนา
  • ทิศใต้ ยาว 17 วา จด ที่นายจรัญ จันทะมา
  • ทิศตะวันออก ยาว 3 เส้น 6 วา จด ทางรถไฟสายเหนือ
  • ทิศตะวันตก ยาว 3 เส้น 6 วา จด คลองน้ำริด

พื้นที่ตั้งของวัดมีลักษณะอยู่ท้ายหมู่บ้าน ด้านหน้าติดถนนทางรถไฟสายเหนือ ด้านข้างซ้ายติดถนนเข้าหมู่บ้านน้ำริดใต้ ตั้งแต่ หมู่ที่ 1 ถึง หมู่ที่ 10 ในเขตตำบลน้ำริดทั้งหมดและติดต่อกับเขตตำบลบ้านด่านนาขาม ผ่านถึงนานกกกและบ้านแม่เฉย เป็นถนนสายอุตรดิตถ์และแพร่สายเหนือทั้งหมด[1]

ศาสนสถาน-ถาวรวัตถุ แก้

 
ศาลาการเปรียญวัดน้ำริดใต้
  • อุโบสถหลังเก่า กว้าง 4.50 เมตร ยาว 11.00 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2402 เป็นอาคาร คอนกรีต เสา คาน ค.ส.ล. ก่ออิฐฉาบปูน โครงหลังคาเป็นไม้เนื้อแข็ง มุงด้วยกระเบื้องใบโพธิ์ มีมุขหน้า ประตูเหล็กยึด
  • ศาลาการเปรียญ กว้าง 16.00 เมตร ยาว 28.50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2523 เป็นอาคาร เสาปูน ค.ส.ถ. เป็นไม้เนื้อแข็ง พื้นเป็นไม้ โครงหลังคาเป็นไม้เนื้อแข็ง มุงด้วยกระเบื้องลอนเล็ก ต่อชานหน้าบันได ด้วยปูนทั้งหลัง โครงหลังคาเป็นไม้นื้อแข็ง มุงด้วยกระเบื้องลอนเล็ก
  • หอสวดมนต์ กว้าง 4.00 เมตร ยาว 8.20 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2511 เป็นอาคาร เสาปูน ไม้ตง ไม้พื้น เสาบนโครงหลังคาเป็นไม้ทั้งหมด
  • กุฎิสงฆ์ จำนวน 2 หลัง เป็นอาคารไม้ 2 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้
  • ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 6.00 เมตร ยาว 16.00 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2541 ก่อสร้างด้วย เสาปูน โครงหลังคาเป็นเหล็ก มุงด้วยเมชันชีด
  • ศาลาธรรมสังเวช จำนวน 1 หลัง คอนกรีต เสริมเหล็ก 1 หลัง โรงครัวต่อจากศาลาการเปรียญ สองชั้น โรงครัวศาลาธรรมสังเวช ชั้นเดียว
  • ซุ้มประตูคอนกรีต เสริมเหล็ก จำนวน 1 ซุ้ม
  • หอระฆัง เป็นอาคารคอนกรีต เสริมเหล็ก สร้างเมื่อ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2550
  • วิหารหลวงพ่อธรรมจักร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2557
  • เมรุ เป็นอาคารคอนกรีต เสริมเหล็ก
  • อุโบสถหลังใหม่ ยาว 23 เมตร กว้าง 14 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2555 เป็นอาคารคอนกรีต เสริมเหล็ก จิตรกรรมฝาผนังพระเจ้าสิบชาติ ( ประวัติพระพุทธเจ้ารูปแบบอินเดีย )[1]


ข้อมูลจำเพาะ แก้

  • ได้รับพระบรมราชานุญาตให้สร้างวัด ตามพระราชบัญญัติลักษระการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 เมื่อปี พ.ศ.2401
  • มีพระบรมราชโองการพระราชทานวิสุงคามสีมา ( อุโบสถหลังก่า ) ปี พ.ศ.2446
  • มีพระบรมราชโองการพระราชทานวิสุงคามสีมา ( อุโบสถหลังใหม่ ) ปี พ.ศ.2558

ที่ดินเฉพาะบริเวณที่ตั้งวัด มีเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา โดยมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นโฉนด เลขที่ 328 กรรมสิทธิ์ที่ดินป็นของวัด[1]


อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 พระธนพร ธมฺมปาโล และพระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี. (๒๕๕๙). โครงการบันทึกข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย จังหวัดอุตรดิตถ์. อุตรดิตถ์ : หน่วยวิทยบริการวัดหมอนไม้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

17°40′36″N 100°07′23″E / 17.6768°N 100.1231°E / 17.6768; 100.1231