วัดท่าพูด

วัดในจังหวัดนครปฐม

วัดท่าพูด เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ในหมู่ที่ 9 บ้านคลองท่าพูด ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ทุกวันขึ้น 7, 8, 9 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะมีงานนมัสการปิดทองพระจุฬามณีเจดีย์และหลวงพ่อวัดท่าพูด ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด

วัดท่าพูด
แผนที่
ชื่อสามัญวัดท่าพูด
ที่ตั้งเลขที่ 78 หมู่ที่ 9 ถนนพุทธมณฑล สาย 6 ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73210
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระสังเวย คเวสโก (สุจิตจูล)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดท่าพูดเดิมชื่อว่า วัดเจตภูต มีเรื่องเล่าว่า มีพี่น้องสองคนนั่งอยู่ใกล้จอมปลวกใหญ่ พอพี่ชายนอนหลับไป น้องชายมองเห็นตัวแมงคาเรืองคลานออกมาจากจมูกของพี่ชายแล้วคลานหายเข้าไปในจอมปลวก ต่อมาตัวเองก็นอนหลับไปเช่นกันและฝันว่ามีภูตมาบอกว่ามีทรัพย์สมบัติอยู่ในภูเขา ขอให้ขุดสมบัติมาสร้างวัด พอสะดุ้งตื่นขึ้นจึงได้ช่วยกันขุดสมบัติแต่ไม่พบ จึงได้หวนนึกถึงเรื่องที่ภูตมาบอกและแมงคาเรืองเดินเข้าไปในจอมปลวก เมื่อขุดก็พบสมบัติ จึงนำเงินมาสร้างวัด แล้วเรียกชื่อวัดว่า "วัดเจตภูต" ต่อมาคำกร่อนเป็น วัดตะพูด และ "วัดท่าพูด" ตามลำดับ แต่อีกข้อมูลหนึ่ง ที่มาของชื่อมาจากต้นมะพูดที่ขึ้นบริเวณวัด[1]

จากหลักฐานจารึกบนแผ่นอิฐมอญบนผนังพระอุโบสถ สันนิษฐานว่าสร้างสมัยอยุธยาตอนปลายประมาณสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยกลุ่มคนที่อพยพโยกย้ายมาจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อหลบภัยสงครามหลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า พ.ศ. 2310 แล้วมาตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำท่าจีน และในขณะนั้นวัดท่าพูดกำลังจะกลายเป็นวัดร้าง เนื่องจากไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ชาวบ้านท่าพูดทราบข่าวว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งหนีพม่ามาพร้อมกับชาวกรุงศรีอยุธยามาตั้งสำนักสงฆ์ที่กลางทุ่งนา จึงพร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านมาจำพรรษา ณ วัดท่าพูด มีหลวงพ่อรดซึ่งเป็นอดีตพระราชาคณะกรุงศรีอยุธยา เป็นเจ้าอาวาสคนแรก ครั้นสงครามสงบ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชชาติไทยได้ พระองค์ตัดสินพระทัยจะรวบรวมพระราชาคณะก่อนกรุงแตกกลับมาอยู่พระอารามหลวงในกรุงธนบุรี ได้ทรงให้ทหารติดตามจนพบพระอาจารย์รดที่วัดท่าพูด แต่ท่านขอจำพรรษาอยู่ ณ วัดท่าพูดนี้ เพราะท่านรับอาราธนาจากชาวบ้านท่าพูดแล้ว เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบจึงได้พระราชทานเรือกัญญา 2 ลำ คานหาม 1 อัน กระโถน และกานํ้าลายเทพนม อย่างละ 1 ชิ้น มาถวายเป็นเครื่องประดับเกียรติยศแก่พระอาจารย์รด[2]

ในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดได้สร้างพระจุฬามณีเจดีย์ และมีการบูรณะพระเจดีย์เมื่อปี พ.ศ. 2527 ได้พบพระเขี้ยวแก้วภายในพระจุฬามณีเจดีย์ ลักษณะเป็นแก้วใสเจือสีเหลืองเล็กน้อย คล้ายลูกโป่งในท้องปลาตะเพียน ชาวบ้านเรียกว่า โป่งปลาตะเพียน ภายหลังบูรณะ ได้ทำพิธีและอัญเชิญไปบรรจุไว้ที่เดิม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดมีหลวงพ่อมากเป็นเจ้าอาวาส เล่าขานกันว่าท่านนั้นสามารถฟังภาษาสัตว์ได้[3]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • หลวงพ่อรด มาจากกรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา)
  • หลวงพ่อเทศ เป็นเจ้าอาวาสประมาณปลายรัชกาลที่ 3 หรือต้นรัชกาลที่ 4
  • หลวงพ่อมาก
  • หลวงพ่อจ้อย เป็นเจ้าอาวาสประมาณสมัยรัชกาลที่ 4
  • หลวงพ่อแก้ว
  • หลวงพ่อชื่น
  • พระอธิการแช่ม
  • พระปลัดผล
  • พระอาจารย์โรย ในสมัยรัชกาลที่ 9
  • พระครูพิศษลสาธุวัฒน์ (พระประสิทธิ์ เลียบทวี)
  • พระสังเวย คเวสโก (สุจิตจูล)

อ้างอิง แก้

  1. "วัดท่าพูด". ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตก.
  2. "วัดท่าพูด". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.
  3. "วัดท่าพูด". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]