วัดกลางเวียง

วัดในจังหวัดเชียงราย

วัดกลางเวียง วัดจันทโลก หรือ วัดจันทโลกกลางเวียง เป็นวัดและโบราณสถานในจังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่บนถนนอุตรกิจ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย

วัดกลางเวียง
อุโบสถ, วิหาร และเจดีย์ช้างค้ำของวัดกลางเวียง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดกลางเวียง, วัดจันทโลก, วัดจันทโลกกลางเวียง
ที่ตั้งถนนอุตรกิจ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ประเภทมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระสงการณ์ จารุวังโส
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดจันทโลก สร้างใน พ.ศ. 2180 โดยพญาขีธ็อก หรือพญาขีธอน เจ้าเมืองเชียงรายที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าตาลูน ยุคพม่าครองล้านนา พื้นเมืองเชียงราย ฉบับวัดป่าลาน ตำบลทุ่งต้อม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า

"สรีสุขสวัสดี ทีนี้ จักกล่าวพื้นเมืองเชียงราย ด้วยย่ออันแคบก่อนแล ตั้งฟ้าสุมโธธัมมราชมาปราบล้านนาได้แล้ว แต่งพญาขีธ็อกกินเมืองเชียงราย สร้างวัดจันทโลกไว้แล้ว กินเมืองได้ 7 ปี สักกราช 1006 ตัว มังคัชชเทวมากินนานได้ 8 ปี จุติแล"[1]

เหตุที่เรียกวัดจันทโลก เพราะเดิมมีต้นจันทน์แดงขนาดใหญ่ในวัด เมื่อเมืองเชียงรายร้างไปในช่วงสงครามขับไล่พม่า วัดแห่งนี้ได้กลายเป็นวัดร้าง

พ.ศ. 2368 พระยารัตนอาณาเขต (เจ้าหนานธรรมลังกา) เจ้าหลวงเมืองเชียงราย พร้อมไพร่พลเมืองประมาณ 1,000 ครัวเศษ ร่วมกันบูรณะฟื้นฟูเมืองเชียงรายขึ้นใหม่ ชาวไทขืน เมืองพะยากได้ตั้งชุมชนบริเวณวัดจันทโลก เรียกบ้านพะยาก และได้ทำการบูรณะฟื้นฟูวัดจันทโลกขึ้นใหม่ การบูรณะฟื้นฟูเมืองเชียงรายดำเนินการมาถึงสมัยพระยารัตนอาณาเขต (เจ้าอุ่นเรือน) กำหนดเขตเวียงด้วยการตั้งลำเวียง ก่อกำแพงเมืองตามแนวเดิม ลวงแป (ด้านยาวทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก) มี 976 วา ลวงขื่อ (ด้านกว้างทิศเหนือไปทิศใต้) มี 365 วา วัดระยะกองไขว้ (เส้นทแยง) ได้ตำแหน่งศูนย์กลางบริเวณวัดจันทโลก จึงได้ทำการฝังสะดือเมืองเมื่อ พ.ศ. 2417 วัดจันทโลกจึงถูกเรียกว่า วัดจันทโลกกลางเวียง[2]

พ.ศ. 2438 วิหารวัดจันทโลกสร้างเสร็จ มีการฉลองวิหาร จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงรายกล่าวว่า

"สกราช 1257... เดือน 7 ลง 8 ฅ่ำ จหลองวิหารวัดจันทาโลกกลางเวียง"[3]

พ.ศ. 2446 เกิดลมพายุ พัดต้นจันทน์แดงใหญ่ที่อยู่ในบริเวณวัดโค่นล้มและพาดต้นตาล ต้นลาน ทับวิหารและกุฏิพังเสียหายอย่างหนัก จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงรายกล่าวว่า

"สกราช 1265 ตัว ปีกล่าเหม้า วัน 6 เดือน 8 ขึ้น 12 ฅ่ำ ลมใหญ่พัดลานหักเตงใส่โรงแลวิหารวัดจันทโลกกลางเวียง ขื่อแปปุดสะบั้น"[4]

ต้นจันทน์แดงต้นที่ล้ม พระยารัตนาณาเขตร์ (เจ้าน้อยเมืองไชย) เจ้าหลวงเชียงรายได้ตัดเป็น 2 ท่อน ไม้จันทน์ท่อนทางโคนสวยงามและมีขนาดใหญ่ เก็บไว้ที่เชียงราย ไม้จันทน์ท่อนส่วนปลายไปให้เชียงใหม่ ใช้เป็นสื่อไมตรีระหว่างเชียงราย-เชียงใหม่ บันทึกจดหมายเหตุเหล่าเจ้าเจ็ดตน กล่าวว่า

"เมื่อตูได้ของดีค็บ่ละเสียยังรีต บ่ลีดเสียยังปราเวณี ค็จักหื้อของดีแกล่สูไพ เคล้าเชียงราย ปลายเชียงใหม่ เทิอะเนิอ"

ไม้จันทน์ส่วนของเชียงราย ภายหลังศรัทธาวัดนำไปบรรจุใต้ฐานชุกชีพระประธานวัดกลางเวียง ส่วนท่อนที่มอบให้เชียงใหม่นั้นไม่มีผู้ใดทราบว่าปัจจุบันอยู่ที่ไหน ไม้จันทน์แดงที่โค่นล้มนี้เป็นมูลเหตุทำให้ชื่อวัดกร่อนลง เป็นวัดกลางเวียงในปัจจุบัน

ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุที่สำคัญของวัด แก้

วิหาร แก้

สร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2534 เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ บันไดทางขึ้นทำเป็นรูปพญานาคคายจากปากมกร มีรูปปั้นพญาราชสีห์และตุงกระด้าง 1 คู่

พระประธาน แก้

พระประธานปูนปั้น ปางมารวิชัย เดิมเป็นศิลปะสกุลช่างไทขืน ต่อมาได้บูรณะโดยก่อพอกทับองค์เดิม เป็นรูปแบบศิลปะล้านนา ลงรักปิดทองทั้งองค์ เรียกขานนามว่า "พระเจ้าเพชรมงคลมุนี"

เจดีย์ แก้

เดิมเป็นพระเจดีย์ปัญจมหาธาตุ พ.ศ. 2539 ได้สร้างพระธาตุช้างค้ำครอบพระเจดีย์ปัญจมหาธาตุ ประดับซุ้มจระนำด้วยพระพุทธรูปจำนวนมาก ฐานเจดีย์มีช้างทรงเครื่องรายรอบ ฐานรองรับองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ฐานสูง องค์ระฆังเล็ก

เสาสะดือเมือง แก้

 
ศาลสะดือเมืองเชียงราย

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2417 สมัยพระยารัตนอาณาเขต (เจ้าอุ่นเรือน) จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงรายกล่าวว่า

"สกราช 1236 ตัว ปีกาบเสด เดือน 6 ออก 12 ฅ่ำ พายในพายนอกพร้อมกันฝังสะดือเมืองแล 4 แจ่งเวียง ยามแตรสู่เที่ยงวัน"[5]

สะดือเมืองเดิมตั้งอยู่ค่อนไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของบริเวณวัด ไม่ใช่ที่ตั้งปัจจุบัน มีรูปร่างเป็นสถูปเหมือนลูกฟักทอง มียอดสูงขึ้นไป ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 ศอก สูง 8 ศอก มีการสร้างมณฑปครอบไว้ เดิมมีประเพณีใส่ขันดอกแบบเข้าอินทขิลเมืองเชียงใหม่ เริ่มในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 8 เหนือ เสร็จเอาวัน ออก 4 ค่ำ เดือน 9 เหนือ เรียก "เดือนแปดเข้า เดือนเก้าออก" หรือ "ประเวณีไหว้ดือเมือง"

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระ เณร ศรัทธาวัดได้อพยพจากพื้นที่ วัดกลายเป็นที่พักของกองทหารส่วนกลาง มีการลักลอบขุดเจาะของมีค่าในสถูปออกจนสถูปหมดสภาพ จากนั้นถูกละเลยขาดการบูรณะจนกระทั่งถูกรื้อเมื่อ พ.ศ. 2469 สมัยครูบาสุตาลังกา อภิวํโส

28 กันยายน พ.ศ. 2534 พระครูศานกิจโกศล (ครูบาดวงทิพย์) อดีตเจ้าอาวาสวัดกลางเวียงเป็นประธาน พร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ ศรัทธา และญาติโยม ร่วมกันกระทำพิธีวางศิลาฤกษ์สะดือเมืองเชียงรายใหม่ เพื่อเป็นอนุสรณ์และสักการะบูชาแก่สาธารณชนทั้งหลาย โดยในการสร้างมณฑปและสะดือเมืองนี้ได้รับความเมตตาอุปถัมภ์จาก นายวีรพันธ์ นางเพียงใจ งามศิริกุลชัย เป็นเจ้าภาพสร้างถวาย

พ.ศ. 2553 พระอาจารย์ยุทธพงษ์ ฐิตเมโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดกลางเวียง พร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์และศรัทธาญาติโยม ได้รื้อฟื้นประเวณีไหว้ดือเมืองขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยได้จัดให้มีการปฏิบัติธรรมสวดมนต์เจริญภาวนา และบวงสรวงเสาสะดือเมือง บูชาดวงเมืองเพื่อสืบทอดประเพณีไหว้สะดือเมืองให้คงอยู่คู่ชาวเชียงรายสืบไป[6]

อ้างอิง แก้

  1. สรัสวดี อ๋องสกุล ปริวรรต. พินิจหลักฐานประวัติศาสตร์ล้านนา. เชียงใหม่: วิทอินดีไซน์, 2559.
  2. อภิชิต ศิริชัย. มรดกแห่งนครเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2563.
  3. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.
  4. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.
  5. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.
  6. อภิชิต ศิริชัย. มรดกแห่งนครเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2563.

ดูเพิ่ม แก้

19°54′39″N 99°49′57″E / 19.910743°N 99.832547°E / 19.910743; 99.832547