วรรณวรรธน์ นามปากกาของ วรรธนวรรณ จันทรจนา เจ้าของบทประพันธ์ ข้าบดินทร์ หนึ่งด้าวฟ้าเดียว และ จันทราอุษาคเนย์ นิยายอิงประวัติศาสตร์ของไทย และนิยายแนวทะเลทรายที่เน้นการใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์เป็นหลัก เป็นชาวกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด ในครอบครัวข้าราชการ บิดาคืออาจารย์ คงเดช ประพัฒน์ทอง นักโบราณคดี สนใจการเขียนงานมาตั้งแต่เด็ก แต่ได้เรียนมาทางวิชานิติศาสตร์กฎหมายมหาชนจึงมีประสบการณ์ในการทำงานด้านกฎหมาย และประวัติศาสตร์กฎหมาย

เมื่อปี พ.ศ. 2531 ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยเข้าร่วมจัดแสดงบทละครเวทีนานาชาติ (Interplay) ณ ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับตัวแทนนักการละครเยาวชนจากนานาชาติ และได้เข้ารับการอบรมการเขียนบทละคร Playwright and Perfoming Art จาก Seymoure Theatre Center-University of Sydney ประเทศออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังเคยทำงานเกี่ยวกับการละครสื่อผสมต่างๆ การใช้สื่อเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน อีกด้วย

"วรรณวรรธน์" วรรธนวรรณ จันทรจนา

การศึกษา แก้

สำเร็จการศึกษาชั้นระดับปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายมหาชน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อวิทยานิพนธ์ เชิงประวัติศาสตร์กฎหมายเรื่อง พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการพิจารณาฎีการ้องทุกข์ ในปี 2539 [1]

ประสบการณ์ แก้

เคยเป็นอาสาสมัครโครงการเพื่อพัฒนาครูในการสอนผ่านสื่อผสม ทำงานในโครงการ "จุลนาฏ" การละครเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในรูปแบบละครเวที เพื่อใช้ละครในการพัฒนา และงานในโครงการเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน ผ่านรูปแบบละคร สื่อผสมรูปแบบต่างๆ

เมื่อปี 2538 ทำงานในตำแหน่งนิติกร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปี 2539 ย้ายมารับราชการใน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์

ปี 2543 โอนมารับราชการที่ ศาลปกครอง

ประวัติการทำงานเขียน แก้

เริ่มต้นมีผลงานการประพันธ์นวนิยายในช่วงปี พ.ศ. 2546 กับ สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ใช้นามปากกาว่า "วรรณวรรธน์" โดยผลงานการประพันธ์มีลักษณะเด่นในแง่มุมของการค้นคว้าข้อมูลประกอบการประพันธ์

ผลงานสร้างชื่อ คือ นวนิยาย ที่เรียกกันในหมู่นักอ่านชาวไทยว่า นิยายแนวทะเลทราย แต่มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างคือ วรรณวรรธน์ ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างการเมืองในประเทศตะวันออกกลาง และ วัฒนธรรมของชาวตะวันออกกลางในการดำเนินเรื่อง ในต่ละเรื่องจะประพันธ์ออกมาในแก่นเรื่องที่แตกต่างกัน ผลงานชิ้นแรกที่ตีพิมพ์คือ อัสวัด ราชันย์แห่งความมืด เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองในประเทศของตะวันออกกลาง ที่มีพื้นฐานมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศตะวันออกกลาง[2] เรื่องที่สอง ที่ได้รับการตีพิมพ์ คือ เส้นทรายสีเงา เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน อัสวัด ราชันย์แห่งความมืด 7 ปี ซึ่งเนื้อหาของเรืองจะเน้นไปที่การก่อเหตุก่อการร้ายในประเทศแถบตะวันออกกลาง เรื่องที่สาม ทรายล้อมตะวัน เป็นนิยายที่อธิบายถึงความเชื่อ และชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในทะเลทราย โดยมีแหล่งทรัพยากรอันมีค่าสิ่งเดียวคือ "น้ำมัน" เรื่องที่สี่ ทรายนี้ยังมีรัก นิยายเชิงอิงประวัติศาสตร์ของอารยธรรมตะวันออกของโลกโบราณมาจนถึงปัจจุบัน เล่าถึงอดีตในสมัย เมโสโปเตเมีย และ เปอร์เซีย รวมถึงชีวิตในปัจจุบัน โดยแบ่งโครงเรื่องออกเป็น 4 โครงหลัก ตัวละครแต่ละตัวดำเนินเหตุการณ์ไปใน "แต่ละชีวิต" ของตน จนเกิดปัญหาและมีการคลี่คลายได้ ในชีวิตปัจจุบัน พัวพันเรื่องราวอยู่กับความเชื่อและการแสวงหาทรัพย์สมบัติอันมีค่าที่สุดของมนุษยโลก และตำนานปรัมปรา ของนกฟีนิกซ์ สฟิงค์ และตำนานมหากาพย์เรื่องกิลกาเมซ

ในนามปากกา วรรณวรรธน์ ยังมีผลงานการประพันธ์นวนิยายแนวอื่น เช่น โรแมนติคพาฝัน คือ บัลลังก์สายหมอก' และ นิยายแนวตื่นเต้นสยองขวัญ ใช้โหราศาสตร์เป็นตัวเดินเรื่อง คือ ฤกษ์สังหาร

นอกจากนี้ยังมีนิยายอิงประวัติศาสตร์ย้อนยุค คือเรื่อง จันทราอุษาคเนย์ นิยายอิงประวัติศาสตร์เชิงย้อนอดีตแถบเอเชียอาคเนย์ประมาณปีพุทธศตวรรษที่ 12 โครงเรื่องที่ว่า ตมิสา สาวน้อยหลงยุคไปพบกับเจ้าชายในอดีตผู้เกรียงไกรในแถบลุ่มแม่น้ำโขงและลุ่มแม่น้ำมูลในสมัยที่ กรุงเทพมหานครยังจมอยู่ใต้ท้องทะเล การประพันธ์ที่ใช้เวลารวบรวมข้อมูลนานร่วม 23 ปี และใช้ข้อมูลประเภทปฐมภูมิในการประพันธ์ คือ หลักศิลาจารึกของพระเจ้าศรีมเหนทรวรมันที่ปรากฏในประเทศไทย ทำให้เรื่องราว น่าสนใจ และ น่าเชื่อถือ และจุดประกายให้ผู้สนใจ มีการวิจัย ศึกษา ค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เจ้าชายจิตรเสน หรือพระเจ้ามเหนทรวรมัน และ พระเจ้าภววรมัน ในอาณาจักรเจนละ(เจนฬา หรือ เจิ้นละ) และลุ่มแม่น้ำ โขง ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ตลอดจนศึกษาเห็นความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์ของผู้คนในแถบสุวรรณภูมิ มากยิ่งขึ้น

และนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง ข้าบดินทร์ ซึ่งใช้ฉากจากเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 มาร้อยเรียงเรื่องราว ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ของตัวละครแต่ละตัวได้อย่างสนุกสนาน และสร้างความสนใจให้แก่ผู้อ่านได้มากขึ้น เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว และในเรื่องนี้ ได้อธิบายและคงรักษาเรื่อง คชศาสตร์ ของไทย ไว้ เพื่อเก็บรักษาวิชาว่าด้วย ช้าง ในการฝึกและดูแล อันเป็นศิลปศาสตร์ของไทยที่จวนจะสูญหายให้กลับมาอยู่ในความสนใจของผู้อ่านอีกครั้งหนึ่ง นิยายเรื่องดังกล่าวได้รับการยอมรับและบรรจุให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของโรงเรียนในเขตเทศบาลจังหวัดสมุทรปราการ [3] หนึ่งด้าวฟ้าเดียว นิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับจารบุรุษที่ปลอมตัวเป็นขันทีในราชสำนักอยุธยา ก่อนเสียกรุงครั้งที่สอง และการกอบกู้เอกราชของพระเจ้าตากสินมหาราช

นิยายแนวจิตวิญญาณเหนือธรรมชาติ ในชุด อขิทโร จำนวน 4 ตอน คือ อขิทโร ลูกปัดมนตรา ,อขิทโร ลูกปัดสิเน่หา , อขิทโร อุบัติ มหาคุรุเทวา และ อขิทโร มหาคุรุเทวา ปรัยวสาน เล่ม 1 และ เล่ม 2 เป็นนวนิยายที่เริ่มต้นการประพันธ์มาจากเรื่องของลูกปัดโบราณในประเทศไทย และ การค้นพบลูกปัดคาร์เนเลี่ยน ที่มีจารึกอักษรพราหมี ว่า "อขิทโร" ในภาษาสันสกฤตมีความหมายว่า ไม่อ่อนแอ อดทน

นอกจากนี้ยังมีแนวนิยายร่วมสมัย ขอเป็นเจ้าสาวสักครั้งให้ชื่นใจ และ ขอเป็นนางเอกสักครั้งให้ชื่นใจ

ผลงานด้านนวนิยาย แก้

มีผลงานประพันธ์รวมเล่ม 15 เรื่องคือ

ผลงานด้านกฎหมายและประวัติศาสตร์กฎหมาย แก้

นอกจากผลงานการประพันธ์นวนิยาย วรรธนวรรณ จันทรจนา ยังรับราชการด้านกฎหมาย และเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ ในด้านประวัติศาสตร์กฎหมายและกฎหมายปกครอง รวมทั้งมีผลงานทางวิชาการใน ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และ ประวัติศาสตร์กฎหมาย อาทิ
- พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการพิจารณาฎีการ้องทุกข์
- สัญญาทางปกครอง
- คู่มือปฏิบัติหน้าที่พนักงานคดีปกครอง ฉบับ ธุรการคดี
- กว่าจะมาเป็นศาลปกครอง (วิวัฒนาการศาลปกครองไทย)
- จากเคาน์ซิลออฟสเตด ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน สู่ ศาลปกครอง
- บทความเรื่อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเคาน์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

อ้างอิง แก้

  1. วรรธนวรรณ จันทรจนา ,พระราชอำนาจในการพิจารณาฎีการ้องทุกข์, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต 2539 ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,หน้า 345
  2. http://www.watcafe.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=400760&Ntype=5
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2013-02-17.

บรรณานุกรม แก้

  • วรรธนวรรณ จันทรจนา, พระราชอำนาจในการพิจารณาฎีการ้องทุกข์, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539
  • สำนักงานศาลปกครอง,กว่าจะมาเป็นศาลปกครอง,2551
  • วรรธนวรรณ จันทรจนา,จากเคาน์ซิลออฟสเตด ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน สู่ศาลปกครอง,สำนักงานศาลปกครอง,2553

แหล่งข้อมูลอื่น แก้