วงกอไผ่ เป็นวงดนตรีไทยร่วมสมัยที่มีอายุยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ เริ่มต้นโดยอานันท์ นาคคง ได้รวบรวมเพื่อนๆนักเรียนต่างสถาบันการศึกษาที่เป็นนักดนตรีสมัครเล่นที่มีความสามารถมาร่วมงานตั้งแต่ครั้งวาระครบรอบ 100 ปีเกิดของท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ใน พ.ศ. 2524 และได้ใช้ชื่อวงดนตรี "กอไผ่" ขึ้นเวทีศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพเป็นครั้งแรก เมื่อ 6 พฤษภาคม 2526 นักดนตรียุคก่อตั้ง อาทิ อานันท์ นาคคง, สหรัฐ จันทร์เฉลิม, ประสาร วงศ์วิโรจน์รักษ์, อภิชัย เลี่ยมทอง, ปิยะนุช นาคคง, วโรดม อิ่มสกุล เป็นต้น และในปลายปี 2526 นั้น วงกอไผ่ได้เข้าร่วมประกวดการแข่งขันดนตรีไทยเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ จัดโดยมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และสหพันธ์ประสานงานเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ณ โรงละครแห่งชาติ ผลคือได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งประเภทรวมวงและนักร้องนักดนตรีทุกเครื่องมือ และนับแต่นั้นเป็นต้นมาชื่อเสียงของกอไผ่ ก็เป็นที่รู้จักกันในมุมกว้าง นักดนตรีที่ประกวดได้แก่ ปิยะนุช นาคคง, ชัยภัค ภัทรจินดา, ประสาร วงศ์วิโรจน์รักษ์, อภิชัย เลี่ยมทอง, วโรดม อิ่มสกุล อัษฎาวุธ สาคริก และเอกราช วงศ์เกียรติขจร ต่อมา วงกอไผ่ได้สมาชิกนักดนตรีไทยและนักดนตรีสากลเพิ่มเติมขึ้นอีกมาก หมุนเวียนเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปเรื่อยๆแม้ไม่ใช่วงดนตรีโดยอาชีพ ดำรงตนในฐานะวงดนตรีสมัครเล่นมาตลอด จนถึงปัจจุบัน มีนักดนตรีหลักๆประมาณ 15 คน

วงกอไผ่สนใจการสร้างสรรค์ผลงานทั้งทางด้านดนตรีโดยตรงและกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม โดยได้ร่วมมือกับหลายองค์กรในการทำงานอาสาสมัคร โดยเฉพาะมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งมีความผูกพันกันอย่างยิ่ง ได้ทำงานผลิตอัลบั้มเพลงไทยเดิมมาตั้งแต่ 2534 และยังคงได้รับความนิยมจากนักฟังเพลงอยู่เสมอจวบจนปัจจุบัน ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี วงกอไผ่ได้ออกซีดีมาหลายชุด และได้จัดการแสดงคอนเสิร์ตมากมายหลายครั้งทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงได้จัดการบรรยายประกอบการสาธิต จัดเวิร์คช็อปเกี่ยวกับดนตรีไทยให้แก่ผู้สนใจ และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้มีงานประกวดดนตรีไทยระดับชาติหลายครั้ง

วงกอไผ่นำเสนอแนวดนตรีที่หลากหลาย แม้เริ่มต้นจากดนตรีไทยแนวประเพณีแบบแผน ก็ได้พัฒนาไปยังดนตรีแนวร่วมสมัย ดนตรีโฟลค์-ป็อป, ดนตรีสมัยนิยม, ฟิวชั่นแจ๊ส, เอเชี่ยนมิกซ์ และดนตรีทดลอง

วงกอไผ่ได้เข้าไปทำดนตรีให้กับทั้งภาพยนตร์ไทย สารคดี กิจกรรมการแสดง ละครเวที นาฏศิลป์ทดลอง และพรีเซ็นเตชั่นตามงานเทศกาลต่าง ๆ โดยเฉพาะงานสตูดิโอนั้น ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำดนตรีให้กับภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ในระดับนานาชาติและได้รับรางวัลมากมาย รวมถึงรางวัลดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นอกจากนี้ วงกอไผ่ยังได้เข้าไปร่วมทำดนตรีให้กับภาพยนตร์อื่น ๆ อาทิ สุริโยไท เปิงมาง กลองผีหนังมนุษย์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และละครโทรทัศน์เรื่องโหมโรงของไทยพีบีเอสในปี 2554

สำหรับกรณีของวงดนตรีไทยร่วมสมัย ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งในการทำงานดนตรีของวงกอไผ่ มีสมาชิกหลากหลาย ทั้งร่วมงานกันประจำและรับเชิญมาเป็นครั้งคราว ปัจจุบันประกอบด้วย อานันท์ นาคคง (หัวหน้าวง โฆษก, เครื่องจังหวะ, แซมปลิ้ง), ชัยภัค ภัทรจินดา (เรียบเรียงเสียงประสาน, ควบคุมการฝึกซ้อม, กีตาร์, ซอ), อัษฎาวุธ สาคริก (ควบคุมการฝึกซ้อม, ระนาด, ขิม), ประสาร วงษ์วิโรจน์รักษ์ (แอคคอเดียน, ไวบราโฟน, แซมปลิ้ง),  เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี (ซอด้วง-ซออู้), บรรหาร ปาโล (เครื่องหนัง), ทวีศักดิ์ อัครวงษ์ (ระนาดเอก, เครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน), ธัญนภัทร์ มังกรหิรัญสิริ (ระนาดทุ้ม), ทศพร ทัศนะ (กลองชุด, ระนาด, งานเทคนิคทุกอย่างของวง), อัครพล อภิโช (เบส), อมร พุทธานุ (คีย์บอร์ด), พรชัย ตรีเนตร (เครื่องเป่า-เพอร์คัสชั่น), เกรียงไกร วรีวัฒน์ (เครื่องหนัง), กฤษฏิ์ เลกะกุล (แซกโซโฟน-ปี่), นพพร เพริศแพร้ว (ขับร้อง), กนกพร ทัศนะ (ขับร้อง), ธนกฤต อกนิษฐธาดา (ขับร้อง), บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ (ประพันธ์เพลง, เรียบเรียงเสียงประสาน) สมาชิกในอดีต เช่น อภิชัย เลี่ยมทอง (ระนาดเอก), ร้อยเอกสมนึก แสงอรุณ (เครื่องเป่า), สุกฤษฎิ์ชนม์ พงษ์พรหม (ระนาดเอก), นัฐวิภา มูลธรรมเกณฑ์ (ขับร้อง), นิรันดร์ แจ่มอรุณ (ระนาดทุ้ม), นวราช อภัยวงศ์ (ซอ), ปิยะนุช นาคคง (ขับร้อง), สำหรับเทคนิคด้านเสียง มีซาวนด์เอนจิเนียร์ที่ร่วมงานกันเป็นประจำคือ ชัยพร จิตจิตรโกศล, วัชรินทร เฟื่องชูนุช, ศุภฤกษ์ รื่นอุดม

รางวัล

แก้
  • ปี 2526 National Music Contest, the national theatre
  • ปี 2547 “โหมโรง” Best Film Music and Score, Hamburger Award
  • ปี 2548 “โหมโรง” Best Film Music and Score, Thailand Critics Association
  • ปี 2548 “โหมโรง” Best Film Music, Thailand Media Association

นักดนตรี

แก้
  • อานันท์ นาคคง ผู้ควบคุมวงดนตรี,เครื่องตี อาจารย์คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • ประสาร วงศ์วิโรจน์รักษ์ ไวบราโฟน, แอคคอเดียน, เครื่องเป่า, เครื่องตี ผู้จัดการบริษัท Siammusica, อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยหอการค้า
  • ชัยภัค ภัทรจินดา แต่งเพลง,ฆ้อง,กีต้าไฟฟ้า รับราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม
  • อัษฎาวุธ สาคริก ระนาด,ขิม กรรมการบริหาร มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
  • บรรหาร กลอง, เทียบเสียง ครูดนตรีโรงเรียนเซนต์คาเบรียล
  • เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี ซอ,ผู้ประสานงาน รับราชการ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, อาจารย์พิเศษ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
  • ทวีศักดิ์ อัครวงษ์ ระนาด รับราชการ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
  • ทศพร ทัศนะ กลอง, ศิลปินอิสระ, อาจารย์พิเศษ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
  • กนกพร ทัศนะ นักร้อง ครูสอนร้องเพลง
  • อัครพล อภิโช เบส นักธุรกิจ, อาจารย์พิเศษ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
  • อมร พุทธานุ คีย์บอร์ด นักธุรกิจ, อาจารย์พิเศษ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
  • เกรียงไกร วรีวัฒน์ กลอง ครูดนตรีโรงเรียนวัดช่างเหล็ก
  • พรชัย ตรีเนตร เครื่องเป่า, เครื่องเคาะ รับราชการ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
  • นพพร เพริศแพร้ว นักร้อง ศิลปินอิสระ
  • กฤษฏิ์ เลกะกุล เครื่องเป่า อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

ดูเพิ่ม

แก้