ลิลิตนิทราชาคริต

ลิลิตนิทราชาคริต เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2422 มีลักษณะการประพันธ์ประเภทลิลิตสุภาพ (ร่ายสลับโคลง) จำนวน 991 บท

ลิลิตนิทราชาคริต
ชื่ออื่นนิทราชาคริต
กวีรัชกาลที่ 5
ประเภทนิทาน
คำประพันธ์ลิลิตสุภาพ
ความยาว991 บท
ยุครัตนโกสินทร์
ปีที่แต่งพ.ศ. 2422
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

ที่มาการประพันธ์ แก้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้แรกที่นำนิทาน อาหรับราตรี (The Thousand and One Nights หรือ The Arabian Night's Entertainments) มาพระราชนิพนธ์เป็นภาษาไทย โดยทรงเก็บความจากเรื่อง "Sleeper Awaken" ซึ่งเป็นนิทานย่อยเรื่องหนึ่งในจำนวน 1001 เรื่องในอาหรับราตรี มาเรียบเรียงใหม่ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงพิชิตปรีชากร ตรวจแก้ไขถ้อยคำ จากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ตรวจทาน และจัดพิมพ์เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องจบโดยใช้เวลาเพียง 29 วันเพื่อให้ทันต่อโอกาสดังกล่าว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลชื่อเรื่องว่า นิทราชาคริต มีความหมายว่า การหลับและการตื่น หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ ตามแบบพฤติกรรมของตัวละครในเรื่อง

เนื้อเรื่องย่อ แก้

เป็นนิทานเรื่องหนึ่งที่นางเซหะระซัดเล่าถวายพระราชา โดยเล่าว่า พระเจ้ากาหลิบพระองค์หนึ่งพระนามว่า พระเจ้าฮารูนอาลราษจิตเสวยราชสมบัติ ณ กรุงแบกแดด พระองค์ทรงปลอมเป็นพ่อค้า เที่ยวสัญจรไปตามเมืองต่าง ๆ อยู่เนืองนิตย์ ประชาชนจึงอยู่เย็นเป็นสุขเรื่อยมา มีทายาทของนายพาณิชผู้มั่งมีคนหนึ่งชื่อ อาบูหะซัน เมื่อบิดาสิ้นชีพแล้ว เขาจึงแบ่งทรัพย์สมบัติออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งซื้อที่ดินเรือกสวนไร่นาและตึกรามบ้านช่องไว้ให้คนเช่า อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้เพื่อการสำราญเลี้ยงเพื่อนฝูงและนารีโดยไม่คิดทำการค้าขายอีกต่อไป อาบูประพฤติเช่นนี้เป็นเวลา 1 ปี เงินทองก็หมดสิ้นไป จึงเที่ยวยืมเงินเพื่อนฝูง แต่กลับต้องผิดหวังเมื่อเพื่อนฝูงหลบหน้า และพากันรังเกียจ เขาจึงพากเพียรเก็บออมเงินทองเพื่อค้าขายใหม่ ในไม่ช้าเขาก็กลับมามั่งคั่งตามเดิม เขาได้ตั้งสัตย์ไว้ในใจว่าจะไม่คบเพื่อนฝูงในเมืองแบกแดดอีกเป็นอันขาดและจะคบแต่เพื่อนต่างเมืองเท่านั้น เพียงคืนเดียว เมื่อพบปะกันอีกก็จะทำเป็นไม่รู้จัก วันหนึ่งพระเจ้าฮารูนอาลราษจิต ปลอมพระองค์เป็นพ่อค้ามาเมืองมุศสุล มีทาสผิวดำมาด้วยคนหนึ่ง เมื่อเสด็จมาถึงบ้านอาบูจึงได้รับเชิญให้เข้าไปในบ้านของตน และบอกว่าจะต้อนรับเพียงคืนเดียว พระเจ้ากาหลิบเห็นแปลกก็รับเชิญ ขณะบริโภคอาหารและดื่มสุราอย่างสนุกสนานนั้น พระเจ้ากาหลิบพยายามลวงถามถึงชีวิตอาบู และความเป็นไปของคนในแบกแดด อาบูก็เล่าความจริงถึงอีแมนซึ่งเป็นอาจารย์และศิษย์ทั้งสี่ว่าประพฤติตนชั่วช้าและเล่าต่ออีกว่า หากเขาเป็นพระเจ้ากาหลิบจะจับอีแมนกับศิษย์มาเฆี่ยนประจานให้หลาบจำ ตกดึกพระเจ้ากาหลิบจึงโรยยาสลบให้อาบูดื่มเมื่ออาบูสิ้นสติจึงสั่งทาสให้แบกอาบูเข้าวังทันที

พระเจ้ากาหลิบจึงสั่งให้แต่งเครื่องทรงอาบูอย่างกษัตริย์ และกำชับขุนนางให้ปฏิบัติกับอาบูเหมือนปฏิบัติกับพระองค์ ครั้งรุ่งขึ้นอาบูตื่นจึงคิดว่าตนฝันไป แต่เหล่าสนมและอำมาตย์ต่างยืนยันว่าเขาคือกาหลิบจริง ๆ อาบูจึงเคลิ้มว่าตนเป็นกาหลิบจริงบ้าง เมื่อเสด็จออกว่าการ อาบูกาหลิบก็ตัดสินข้อราชการได้ถูกต้อง พร้อมสั่งพวกนครบาลไปจับตัวอีแมนและศิษย์ทั้งสี่มาลงโทษประจาน และสั่งให้นำทองคำพันลิ่มไปมอบให้นางจอบแก้วผู้เป็นมารดา ด้วยตกค่ำเมื่อเสวยพระกระยาหาร นางกำนัลนามว่าฟองไข่มุกลอบวางยาสลบลงในถ้วยสุรา เมื่ออาบูสิ้นสติแล้วพระเจ้ากาหลิบจึงรับสั่งให้เปลี่ยนชุด และให้ทาสดำแบกไปส่งบ้านเดิมของเขา อาบูตื่นขึ้นเวลาบ่าย ยังคงเพ้อพกถึงความสนุกสนานในวัง ครั้งมารดามาเตือนว่าตนเองคืออาบูก็กลับทุบตีมารดา ชาวบ้านจึงจับเขาไปส่งโรงพยาบาลโรคจิต อาบูถูกโบยตีสาหัสจึงมีสติเช่นเดิม

หลังจากนั้นอีกเดือนหนึ่งพระเจ้ากาหลิบจึงปลอมพระองค์มาหาอาบูใหม่ และทรงกระทำเช่นเดิมอีก ในครั้งนี้อาบูเกิดสนุกสนานจนลุกขึ้นมาเต้นรำกับสนมกำนัล พระเจ้ากาหลิบซึ่งแอบทอดพระเนตรอยู่สุดจะกลั้นได้พระสรวลลั่นออกมา เมื่ออาบูทราบว่ามิตรของตนคือ พระเจ้ากาหลิบ ก็เข้าไปขอพระราชทานอภัยโทษ กาหลิบจึงตั้งให้อาบูอยู่รับราชการในสำนักพร้อมทั้งพระราชทานนางนอซาตอลอัวดัดให้เป็นภรรยาของอาบูด้วย อาบูกับอัวดัดอยู่กินกันอย่างมีความสุข ทั้งสองใช้สอยเงินอย่างฟุ่มเฟือย ไม่นานเงินพระราชทานก็หมดลง อาบูจึงออกอุบายว่าตนจะไปทูลพระเจ้ากาหลิบว่านางอัวดัดตายเพื่อจะได้รับพระราชทานเงินปลงศพ ส่วนนางอัวดัดก็ให้ไปทูลพระนางโซบิเดว่าอาบูตายจะได้รับพระราชทานเงินเช่นกัน ในที่สุดพระเจ้ากาหลิบและพระนางโซบิเดจึงเสด็จมาที่เรือนอาบูทั้งสองจึงแกล้งทำเป็นตาย พระเจ้ากาหลิบตรัสว่าถ้าใครบอกว่าตายก่อนจะได้ทองพันลิ่ม พอสิ้นเสียงตรัสอาบูและอัวดัดก็ลุกขึ้นทั้งคู่ พร้อมกับทูลว่าตายก่อน สองกษัตริย์และคนทั้งหลายพากันขบขันครื้นเครงอาบูและอัวดัดได้รับอภัยโทษและได้รับทองอีกคนละพันลิ่ม

ตัวอย่าง แก้

* บารมีพระมากพ้น รำพัน
พระพิทักษ์ยุติธรรม์ ถ่องแท้
บริสุทธิดุจดวงตะวัน ส่องโลก ไซร้แฮ
ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์  

อ้างอิง แก้

ดูเพิ่ม แก้