ละครประโลมโลก

งานละครที่มีโครงเรื่องและตัวละครในลักษณะเกินจริงเพื่อดึงอารมณ์

ในสมัยใหม่ ละครประโลมโลก[1] (อังกฤษ: melodrama) หมายถึงงานละครที่เน้นโครงเรื่องและการดำเนินเรื่องที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกอย่างเข้มข้น แทนที่จะเน้นการพัฒนาตัวละครอย่างลุ่มลึก ละครประเภทนี้มักให้ความสำคัญกับบทสนทนาที่จัดจ้านหรือขยี้อารมณ์โดยไม่ใส่ใจความสมเหตุสมผลของการกระทำเท่าไรนัก ตัวละครมักเป็นตัวละครมิติเดียวและสร้างขึ้นเพื่อรองรับต้นแบบบุคลิกตัวละครที่กำหนดไว้ ละครประโลมโลกแบบฉบับมักเล่าเรื่องราวส่วนตัวภายในบ้าน เน้นประเด็นทางศีลธรรม ความรัก ครอบครัว และชีวิตคู่ มักมีอุปสรรคจากภายนอก เช่น ตัวโกง นางร้าย หรือตัวร้ายที่เป็นชนชั้นสูง เข้ามาสร้างความวุ่นวาย ละครประโลมโลกทั้งบนเวที ในภาพยนตร์ และในโทรทัศน์มักจะมาพร้อมกับดนตรีประกอบที่ช่วยชักจูงให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมไปกับฉากที่กำลังดำเนินอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เกลียดชัง สงสาร เศร้าโศก สุขสันต์ หรือสยองขวัญ

ภาพเขียนสีน้ำมัน ละครประโลมโลก โดยออนอเร โดมีเย ระหว่าง ค.ศ. 1855–1860

ศัพท์ melodrama ในภาษาอังกฤษเป็นคำยืมจากศัพท์ mélodrame ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งประสมขึ้นจากคำ μέλος ('เพลง, ทำนองเพลง') ในภาษากรีก กับคำ drame ('ละคร') ในภาษาฝรั่งเศสอีกทอดหนึ่ง[2][3][4] ในบริบทของดนตรีเชิงวิชาการและเชิงประวัติ ศัพท์นี้หมายถึง ละครดนตรี[5] หรือละครเวทีสมัยวิกตอเรียที่นำเพลงหรือดนตรีวงดุริยางค์มาผสมผสานกับการแสดงเพื่อสร้างความระทึกใจให้แก่ผู้ชม โดยอาจสลับระหว่างบทพูดกับดนตรีบรรเลง หรืออาจมีบทพูดพร้อมกับดนตรีพื้นหลัง[5] แต่ในปัจจุบันความหมายของศัพท์นี้ได้กว้างขึ้น โดยยังใช้เรียกการแสดงบนเวทีที่ไม่มีดนตรีประกอบ รวมไปถึงนวนิยาย ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครวิทยุที่มีโครงเรื่องเร้าอารมณ์ความรู้สึกอีกด้วย ในบริบทสมัยใหม่ ศัพท์ melodrama มักมีความหมายในเชิงลบ[6] เพราะสื่อถึงชิ้นงานที่ขาดความละเอียดอ่อน ขาดการพัฒนาลักษณะนิสัยตัวละคร หรือขาดทั้งสองอย่าง

อ้างอิง

แก้
  1. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสภา (แก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2561, หน้า 315.
  2. Costello, Robert B., บ.ก. (1991). Random House Webster's College Dictionary. New York: Random House. p. 845. ISBN 978-0-679-40110-0.
  3. Stevenson, Angus; Lindberg, Christine A., บ.ก. (2010). New Oxford American Dictionary, Third Edition. New York: Oxford University Press. p. 1091. ISBN 978-0-19-539288-3.
  4. Pickett, Joseph P., บ.ก. (2006). The American Heritage Dictionary of the English Language (Fourth ed.). Boston: Houghton Mifflin. pp. 544, 1095. ISBN 978-0-618-70173-5.
  5. 5.0 5.1 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรมศัพท์ดนตรีสากล ฉบับราชบัณฑิตยสภา. กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2561, หน้า 125.
  6. Brooks, Peter (1995). The Melodramatic Imagination: Balzac, Henry James, Melodrama, and the Mode of Excess. Yale University Press. p. xv.