ราชสกุลศุขสวัสดิ

ราชสกุลศุขสวัสดิ เป็นราชสกุลมหาสาขาหนึ่งใน มหามกุฎราชสันตติวงศ์ โดยมี พลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช เป็นองค์ต้นราชสกุล ราชตระกูลนี้ยังมีความเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกับราชสกุล “เกษมศรี” ซึ่งเป็นอีกมหาสาขาหนึ่ง ที่มีองค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ ด้วยองค์ต้นราชสกุลทั้งสองประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเดียวกัน

ราชสกุลศุขสวัสดิ
ตระกูลบรรพบุรุษราชวงศ์จักรี
ประเทศประเทศไทย
นิรุกติศาสตร์สุก-ขะ-สะ-หฺวัด
ภาษาบาลี+สันสกฤต: सुख (สุข)+स्वस्ति (สฺวสฺติ)
"ความปลอดภัยอันสบายกายสบายใจ"
ถิ่นกำเนิดกรุงเทพมหานคร
ก่อตั้ง16 เมษายน พ.ศ. 2458
ต้นตระกูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช
สถานที่พำนักในอดีตวังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช
ตระกูลที่เกี่ยวข้องราชสกุลเกษมศรี
ตระกูลสุขสถิตย์
ราชสกุลศุขสวัสดิ
ต้นราชสกุล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช
วันที่พระราชทานนามสกุล 16 เมษายน พ.ศ. 2458[1]


สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามสกุลอันเป็นมงคลนาม “ศุขสวัสดิ” ณ วันที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๘ พร้อมการเขียนเป็นตัวอักษรโรมันว่า “Sukhasvasti” ซึ่งคนโดยทั่วไปมักอ่านออกเสียงด้วยวิธีการอ่านตามสมัยนิยม ว่า “สุก-สะ-หวัด” แต่โดยที่คำว่า “ศุข” นั้น เป็นคำสันสกฤต ที่มีตัวสะกดอ่านออกเสียงเหมือนตัว ก ซึ่งหลักอักขรวิธีของไทย ได้กำหนดไว้ว่า เมื่อไปเข้าสมาสหน้าคำใด ๆ จะต้องอ่านเสียงตัวสะกดนั้นอย่างมีสระ อะ ในเสียงกึ่งมาตรา ประสมอยู่ด้วยเสมอ ดังนั้น จึงควรอ่านออกเสียงนามราชสกุลที่พระราชทานนี้ ว่า “สุก-ขะ-สะ-หวัด-ดิ” ซึ่งน่าจะถูกต้องตามหลักภาษาและสอดคล้องกับคำโรมันที่พระราชทานไว้

ปัจจุบันสมาชิกในราชสกุลได้เขียนนามสกุลแตกต่างกันออกไป เป็น “ศุขสวัสดิ์” บ้าง หรือ “สุขสวัสดิ์” บ้าง แทนที่จะใช้ “ศุขสวัสดิ” ตามที่ได้รับพระราชทาน ทั้งนี้ คงเนื่องมาจากในสมัยหนึ่งได้มีการกำหนดให้ตัดตัวอักษรภาษาไทยออกไปหลายตัว รวมทั้ง “ศ” และ “ษ” โดยให้คงไว้แต่ตัว “ส” ทำให้นามราชสกุลต้องเปลี่ยนผิดเพี้ยนไป ทั้งการเติมทัณฑฆาตก็คงเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ แม้ภายหลังเมื่อได้มีการกลับฟื้นฟูให้มีการใช้พยัญชนะและสระตามรูปแบบเดิมแล้ว แต่สมาชิกในราชสกุลบางท่านก็เปลี่ยน บางท่านก็ไม่เปลี่ยน หรือเปลี่ยนแล้วแต่ก็ยังคงให้มีทัณฑฆาตไว้ ทำให้เกิดการเขียนชื่อราชสกุลแตกกันออกไปเป็นถึงสามแนว โดยสมาชิกในราชสกุลที่ยังคงใช้นามราชสกุลตามต้นคำที่ได้รับพระราชทานนั้นมีอยู่ไม่มาก จนกลายเป็นชนหมู่น้อยในกลุ่มใหญ่ที่เขียนแปลกแตกต่างจากหมู่พวกไป

ทั้งยังพบว่ามีผู้ที่มิได้เกี่ยวดองเป็นผู้สืบราชตระกูล ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานทะเบียนท้องที่ให้จดทะเบียนนามสกุลของตนว่า “สุขสวัสดิ์” โดยมีกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ บางท่านก็เป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก

ดังนั้นหากจะบ่งชี้ว่า ผู้ใดเป็นผู้สืบราชตระกูลก็ต้องดูว่ามีการระบุฐานันดรหน้านามหรือมีสร้อยคำ “ณ อยุธยา” อันเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นราชตระกูลต่อท้ายนามสกุลอยู่หรือไม่

อ้างอิง แก้

  • กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. มหามกุฎราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้ง-แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๔๗.
  1. "พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานนามสกุลสำหรับเชื้อพระวงศ์พระบรมราชวงศ์ชั้น 4" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 46 (0ก): 21. 18 เมษายน พ.ศ. 2458. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)