รอเบิร์ต จอห์นสัน

รอเบิร์ต ลีรอย จอห์นสัน (อังกฤษ: Robert Leroy Johnson, 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1911 – 16 สิงหาคม ค.ศ. 1938) เป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลงบลูส์ชาวอเมริกัน มีผลงานการบันทึกเสียงที่แพร่หลายในช่วงปี ค.ศ. 1936 และ 1937 ที่แสดงให้เห็นทักษะถึงการผสมผสานระหว่างการร้องเพลง ทักษะการเล่นกีตาร์ และความสามารถในการแต่งเพลงซึ่งมีอิทธิพลต่อนักดนตรีในรุ่นต่อมา แม้อาชีพการบันทึกเสียงของเขาจะอายุเพียงทั้งสิ้นเจ็ดเดือน แต่เขาก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นปรมาจารย์ด้านดนตรีบลูส์ โดยเฉพาะสไตล์เดลต้าบลูส์ รวมถึงยังเป็นหนึ่งในนักดนตรีที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งศตวรรษที่ 20 ร็อกแอนด์โรลฮอลล์ออฟเฟมเป็นผู้ที่นิยามว่าเขาคือ "ร็อกสตาร์คนแรก"[1]

รอเบิร์ต จอห์นสัน
ชื่อเกิดรอเบิร์ต ลีรอย จอห์นสัน
เกิด8 พฤษภาคม ค.ศ. 1911(1911-05-08)
เฮเซิลเฮิสต์ รัฐมิสซิสซิปปี สหรัฐ
เสียชีวิต16 สิงหาคม ค.ศ. 1938(1938-08-16) (27 ปี)
กรีนวูด รัฐมิสซิสซิปปี สหรัฐ
แนวเพลงเดลตาบลูส์
อาชีพนักดนตรี, นักร้อง, นักแต่งเพลง
เครื่องดนตรีกีตาร์, เสียงร้อง, ฮาร์โมนิกา
ช่วงปีค.ศ. 1929–1938
ค่ายเพลงVocalion
เว็บไซต์robertjohnsonbluesfoundation.org

ในฐานะนักดนตรีริมทางที่เล่นตามท้องถนนเป็นส่วนใหญ่ตามร้านภัตตาคารหรือในงานเต้นรำคืนวันเสาร์ จอห์นสันไม่ได้ประสบความสำเร็จหรือได้รับการยอมรับจากสาธารณชนมากนักในช่วงชีวิตของเขา เขาเข้าบันทึกเสียงเพียงแค่สองครั้งเท่านั้น ครั้งแรกในเมืองแซนแอนโทนีโอเมื่อปี ค.ศ. 1936 และอีกครั้งในเมืองแดลลัสเมื่อปี ค.ศ. 1937 โดยบันทึกเพลงแต่ละเพลงไว้ทั้งหมด 29 เพลง (โดยยังมีอีก 13 เทคที่แตกต่างกันซึ่งยังมีสำเนาเก็บไว้) เพลงทั้งหมดได้รับการบันทึกโดยโปรดิวเซอร์จากหอเกียรติยศเพลงคันทรี่ชื่อดังอย่าง ดอน ลอว์ เพลงเหล่านี้ได้รับการบันทึกเดี่ยวในสตูดิโอชั่วคราว ผลงานที่บันทึกไว้ทั้งหมดเป็นผลงานของเขาโดยส่วนใหญ่ได้รับการเผยแพร่ในลักษณะของแผ่นเสียงซิงเกิลขนาด 10 นิ้ว 78 รอบต่อนาทีนับแต่ปี ค.ศ. 1937–1938 และมีเพียงไม่กี่เพลงเท่านั้นที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาหลังจากเขาเสียชีวิต นอกเหนือจากการบันทึกเพลงพวกนี้ไม่ค่อยมีใครรู้จักเขาในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่นอกจากวงดนตรีเล็ก ๆ ที่เล่นอยู่ในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี ซึ่งเป็นที่ ๆ เขาใช้ชีวิตอยู่โดยส่วนใหญ่ เรื่องราวของเขาส่วนมากได้รับการแต่งเติมขึ้นใหม่โดยนักวิจัย ชีวประวัติและการเสียชีวิตที่ได้รับการบอกเล่าอย่างคลุมเครือของจอห์นสันทำให้มีทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ มากมาย เรื่องที่เป็นที่แพร่หลายมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือกรณีการขายวิญญาณให้ปีศาจที่ทางแพร่งเพื่อให้ตนประสบความสำเร็จในอาชีพนักดนตรี

แม้แนวดนตรีของเขาอาจไม่ได้รับความนิยมในวงกว้างมากนักแต่ก็ทรงอิทธิพลอย่างมากในสองทศวรรษถัดมาหลังจากการเสียชีวิตของเขา ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1938 จอห์น แฮมมอนด์ได้ชวนเขาไปดูคอนเสิร์ต ฟรอมสปิริตชวลส์ทูสวิง ที่คาร์เนกีฮอลล์ แต่กลับพบว่าจอห์นสันได้เสียชีวิตไปเสียแล้ว ต่อมาบรันส์วิกเรเคิร์ดผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์ในแผ่นเสียงต้นฉบับถูกซื้อไปโดยโคลัมเบียเรเคิดส์ซึ่งเป็นบริษัทที่แฮมมอนด์ทำงานอยู่ โดยมีนักดนตรีคนหนึ่งนามว่าอลัน โลแม็กซ์ได้เดินทางไปมิสซิสซิปปีเมื่อปี ค.ศ. 1941 เพื่อบันทึกงานของจอห์นสันเก็บไว้โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเจ้าตัวเสียชีวิตไปแล้ว ลอว์ซึ่ง ณ ขณะนั้นยังทำงานให้กับโคลัมเบียเรเคิดส์ ได้รวบรวมงานแผ่นเสียงทั้งหมดของจอห์นสันนำไปจัดจำหน่ายในชื่อ คิงออฟเดลตาบลูส์ซิงเกอส์ ซึ่งได้รับการจัดจำหน่ายโดยค่ายโคลัมเบียเมื่อปี ค.ศ. 1961 นั่นถือว่าเป็นการนำผลงานของจอห์นสันออกสู่สาธารณชนได้ในที่สุด อัลบั้มชุดนี้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อกระแสเพลงบลูส์ในอังกฤษที่ได้เริ่มก่อตัวขึ้น ณ ขณะนั้น เอริก แคลปตันถึงกับนิยามว่าจอห์นสันคือ "ศิลปินบลูส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา"[2] บ็อบ ดีแลน คีธ ริชาดส์ และโรเบิร์ต แพลนต์ได้กล่าวว่าจะด้วยเนื้อเพลงหรือความเป็นนักดนตรีของจอห์นสันล้วนมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อผลงานของพวกเขา เพลงของจอห์นสันหลายเพลงถูกนำมาโคฟเวอร์ใหม่ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา และหลาย ๆ รวมถึงนักดนตรีรุ่นหลังหลายคนก็ได้หยิบยืมเนื้อหาและลิกกีตาร์ของเขานำไปประยุกต์ใช้ในผลงานของตน

ผลงานและชีวประวัติของจอห์นสันได้รับการกลับมาพูดถึงอีกครั้ง ส่งผลให้การศึกษาเรื่องราวชีวิตของเขาเริ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1960 เรื่องราวของเขาที่รับรู้กันโดยมากถูกแต่งเติมขึ้นโดยนักวิจัยเช่นเกล ดีน วอร์ดโลว์และบรูซ คอนฟอร์ธ โดยเฉพาะผลงานที่ได้รับรางวัลอัตชีวประวัติยอดเยี่ยมประจำปี ค.ศ. 2019[3] อย่าง จอห์นสัน: อัปจัมป์ดอะเดวิล: เดอะเรียลไลฟ์ออฟรอเบิร์ตจอห์นสัน (ชิคาโกรีวิวเพรส) รวมถึงภาพยนตร์อีกสองเรื่องได้แก่สารคดีชื่อ เดอะเสิร์ชฟอร์รอเบิร์ต จอห์นสัน ในปี ค.ศ. 1991 โดยจอห์น แฮมมอนด์ จูเนียร์ และสารคดีเรื่อง แคนต์ยูเฮียร์เดอะวินด์ฮาวล์: เดอะไลฟ์แอนด์มิวสิคออฟรอเบิร์ตจอห์นสัน เมื่อปี ค.ศ. 1997 ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นใหม่โดยมีเค็บ โมสวมบทบาทเป็นจอห์นสันในสารคดีอัตชีวประวัติของเขา ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงความขาด ๆ เกิน ๆ จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ครบถ้วนและเรื่องราวปากต่อปากที่แตกต่างกันไป ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาความสำคัญต่อตัวจอห์นสันและผลงานของเขาได้รับการยกย่องโดยสื่อหลายสำนักอาทิเช่น ร็อกแอนด์โรล แกรมมี่ บลูส์และเนชันนัลเรเคอร์ดิงพรีเซอร์เวชันบอร์ด

ประวัติ

แก้

รอเบิร์ต จอห์นสันเกิดในปี ค.ศ. 1911 ที่เมืองเฮเซิลเฮิสต์ รัฐมิสซิสซิปปี เป็นบุตรของโนอาห์ จอห์นสันกับจูเลีย ดอดส์ ต่อมาจอห์นสันย้ายตามแม่ที่แต่งงานใหม่ไปอยู่ที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี ที่ซึ่งความสนใจด้านดนตรีบลูส์ของเขาเริ่มขึ้น[4] จอห์นสันอาศัยอยู่ที่เมืองนี้เกือบ 10 ปีก่อนจะย้ายตามแม่ไปหลายเมืองแล้วลงหลักปักฐานที่ไร่แอบเบย์แอนด์เลเธอร์แมนในเมืองโรบินสันวิลล์[5] ในปี ค.ศ. 1929 จอห์นสันแต่งงานกับเวอร์จิเนีย เทรวิส แต่เธอเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์ไม่นานหลังจากนั้น[6] แมก แมคคอร์มิก นักดนตรีวิทยาผู้สืบค้นประวัติศาสตร์ดนตรีบลูส์รายงานว่าญาติของเวอร์จิเนียกล่าวว่าการตายของเวอร์จิเนียเป็นการลงโทษจากเบื้องบน หลังจอห์นสัน "ขายวิญญาณให้ปีศาจ" ด้วยการตัดสินใจละทิ้งอาชีพชาวไร่ไปเป็นนักดนตรีพเนจร[7] ในช่วงเวลาเดียวกัน ซัน เฮาส์ นักดนตรีบลูส์ย้ายมาอยู่ที่เมืองโรบินสันวิลล์ เขากล่าวในช่วงบั้นปลายว่าจอห์นสันเป็น "นักเล่นฮาร์โมนิกาที่มีความสามารถ แต่เป็นมือกีตาร์ที่เล่นได้แย่มาก ๆ" จากนั้นไม่นาน จอห์นสันจากเมืองโรบินสันวิลล์ไปอยู่ใกล้เมืองมาร์ตินส์วิลล์ และฝึกฝนจนสามารถเล่นกีตาร์ได้อย่างเฮาส์และไอก์ ซิมเมอร์แมน[8] เมื่อกลับมาที่โรบินสันวิลล์ ฝีมือการเล่นกีตาร์ของเขาก็เพิ่มพูนขึ้นอย่างน่าประหลาดจนเป็นที่ร่ำลือในหมู่นักดนตรีว่าจอห์นสันขายวิญญาณให้ปีศาจเพื่อแลกกับความสามารถทางด้านดนตรี ปีค.ศ. 1931 จอห์นสันแต่งงานกับคาเลตตา คราฟต์ และย้ายไปอยู่ที่เมืองคลากส์เดล ก่อนเธอจะเสียชีวิตในอีกสองปีต่อมา[9] ระหว่างปีค.ศ. 1932–1938 จอห์นสันเดินทางไปมาระหว่างเมืองเมมฟิสกับเฮเลนา รัฐอาร์คันซอ[10] และบางครั้งเดินทางไปแสดงดนตรีไกลถึงชิคาโก เท็กซัสและนิวยอร์ก[11] โดยในการเดินทางแต่ละครั้ง จอห์นสันมักใช้ชื่อที่แตกต่างกันไปและผู้คนที่ให้ที่พักอาศัยแก่จอห์นสันมักไม่ทราบภูมิหลังของเขา[12]

การเสียชีวิต

แก้

รอเบิร์ต จอห์นสันเสียชีวิตด้วยวัย 27 ปีที่เมืองกรีนวูด รัฐมิสซิสซิปปีในปี ค.ศ. 1938 โดยไม่ทราบสาเหตุ เกือบ 30 ปีต่อมา เกย์ล ดีน วอร์ดโลว์ นักดนตรีวิทยาทำการสืบค้นจนพบมรณบัตรของจอห์นสันที่ระบุแค่วันที่และสถานที่ แต่ไม่มีการระบุสาเหตุการเสียชีวิตและการชันสูตรพลิกศพ การเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนานี้ก่อให้เกิดเรื่องเล่าต่าง ๆ เช่น จอห์นสันถูกวางยาพิษในสุราโดยสามีของหญิงสาวที่จอห์นสันไปติดพันด้วย โดยพิษดังกล่าวอาจเป็นสตริกนิน (แต่มีการโต้แย้งว่าสตริกนินมีกลิ่นและรสแรงเกินกว่าจะอำพรางด้วยสุราได้)[13] ขณะที่หนังสือ Up Jumped the Devil เสนอว่าอาจเป็นแนฟทาลีนจากการละลายลูกเหม็นเนื่องจากเป็นวิธีทั่วไปในการวางยาพิษของทางใต้ของสหรัฐ ซึ่งถึงแม้จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาจทำให้จอห์นสันซึ่งเป็นหลอดเลือดขอดในหลอดอาหารมีอาการเลือดออกจนเสียชีวิตได้[14] ขณะที่เดวิด คอร์เนล แพทย์สันนิษฐานจากการตรวจสอบภาพถ่ายของจอห์นสันว่าเขาอาจเป็นกลุ่มอาการมาร์แฟน ซึ่งส่งผลให้จอห์นสันเสียชีวิตจากการฉีกเซาะของเอออร์ตา[15]

อ้างอิง

แก้
  1. Hill, Michael. "Robert Johnson". Rock and Roll Hall of Fame. สืบค้นเมื่อ September 25, 2022.
  2. LaVere 1990, p. 23, in essay by Eric Clapton.
  3. Malt, Andy (May 12, 2020). "Robert Johnson Biography Takes Penderyn Music Book Prize". Completemusicupdate.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-05-31. สืบค้นเมื่อ May 18, 2020.
  4. Guralnik, pp. 10–11.
  5. Mississippi Blues Trail. Retrieved September 25, 2018.
  6. Wald 2004, p. 108.
  7. The Search for Robert Johnson, 1992 film.
  8. Pearson and McCulloch, p. 7.
  9. Conforth and Wardlow, 2019, pp.112-113
  10. Pearson and McCulloch, p. 12.
  11. Neff and Connor, p. 56.
  12. Gioia, pp. 172–173.
  13. Graves, Tom; LaVere, Steve (2008). Crossroads: The Life and Afterlife of Blues Legend Robert Johnson. Demers Books. pp. 39–43. ISBN 978-0-9816002-0-8. The tale most often told about how Johnson met his fate is that he was poisoned by a jealous husband who put strychnine in his whiskey.
  14. Conforth and Wardlow 2019, pp. 253-255.
  15. Connell, D. (2006). "Retrospective blues: Robert Johnson—an open letter to Eric Clapton". British Medical Journal. 333 (7566): 489. doi:10.1136/bmj.333.7566.489. PMC 1557967.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้