ย่อมุม คือ ส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมไทย ที่เกี่ยวข้องกับผังพื้นที่ของฐาน แท่น ตัวอาคาร หรือรูปทรงของเสา และส่วนยอดหรือส่วนหลังคา

เจดีย์พระศรีสุริโยทัย วัดสวนหลวงสบสวรรค์ ตัวอย่างของย่อมุมไม้สิบสอง

การย่อมุมเริ่ม ทำกับเสาไม้ ฐาน หรือแท่นไม้ ที่เรียกว่า "ย่อมุมไม้" ต่อมาจึงมีการย่อมุมสถาปัตยกรรมที่เป็นอาคาร เครื่องก่อ เสาที่ก่อด้วยอิฐ แต่ยังเรียกว่า ย่อมุมไม้อยู่ เช่น เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง หรือเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ

การย่อมุมมี 2 วิธี ย่อมุมแบบ 45 องศา เช่น การย่อของฐาน หรือแท่นที่ซ้อนกัน อีกวิธีคือ ย่อเป็นมุมรัศมี เรียกว่า "ย่อมุมแบบรัศมี" ได้แก่ การย่อมุมของเจดีย์ย่อมุม หรือการย่อมุมของเครื่องยอด ทรงยอดบุษบกหรือทรงยอดมณฑป[1]

เหตุผลการย่อมุม แก้

ผังพื้นที่มีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า จะย่อมุมเพื่อลดความกระด้างและแหลมคมที่มีอันตรายเมื่อเดินผ่าน สามารถย่อมุมโดยย่อมุมไม้แปด หรือย่อมุมไม้สิบสอง อีกเหตุผลคือ เพื่อความสวยงาม[2] ส่วนการย่อยมุมฐานชุกชีที่รองรับรัตนบัลลังก์ มีการยื่นออกมาเพื่อตั้งของเครื่องบูชา เรียกว่า ย่อเก็จ

การย่อมุมเสา จะทำในเสาลอย เสาหลอก หรือเสาเก็จ เพื่อลดความแหลมของมุม สําหรับเสาอิงมักไม่มีการย่อมุม อีกเหตุผลในการย่อมุมในเสา เป็นการย่อมุมไม้แปด หรือย่อมุมไม้สิบสอง เพราะเสานั้นมีบัวหัวเสา อยู่ในทรงกลม การย่อมุมเพื่อให้รูปตัดของเสาใกล้กับเสากลม เพื่อให้ใกล้เคียงกับบัวหัวเสากลม หากบัวหัวเสาสี่เหลี่ยมด้วย จะมีทั้งไม่ย่อมุมและย่อมุมไม้แปด เมื่อย่อมุมที่เสาแล้ว ก็ต้องย่อมุมที่บัวหัวเสาด้วย

การย่อมุมในตัวอาคาร เช่น หากเจดีย์เหลี่ยม ย่อมุมเพื่อให้กลมกลืนกับส่วนยอดซึ่งเป็นทรงกรวยกลม การย่อมุมอีกประเภทคือ ในอาคารประเภทไม้ เสาตรงมุมทั้งสี่จะตั้งเยื้องกันจำนวน 3 ต้น ทําให้เกิดมุมทํานองเดียวกับการย่อมุม การย่อมุมเพื่อให้สอดคล้องกับการย่อมุมของเครื่องยอดที่เป็นหลังคา[1]

นอกจากนี้ยังมีการย่อมุมในเครื่องยอด เช่น มณฑป บุษบก พระเมรุมาศ

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 สมใจ นิ่มเล็ก. "เหตุใดสถาปัตยกรรมไทยจึงมีการ "ย่อมุม"". ศิลปวัฒนธรรม.
  2. "ย่อมุมไม้สิบสอง (๑ ธันวาคม ๒๕๕๑)". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.