ยูลี มาร์ตอฟ

นักการเมืองชาวรัสเซีย (ค.ศ. 1873-1923)

ยูลี มาร์ตอฟ หรือ แอล. มาร์ตอฟ (Ма́ртов; นามแรกเกิด ยูลี โอซีโปวิช เซเดียร์บาอูม;[1] 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1873 – 4 เมษายน ค.ศ. 1923) เป็นนักการเมืองและนักปฏิวัติชาวรัสเซีย ผู้เป็นหัวหน้าเมนเชวิค ซึ่งเป็นกลุ่มส่วนหนึ่งในพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (RSDLP) เขาเป็นเพื่อนร่วมงานคนสนิทกับวลาดีมีร์ เลนิน กระทั่งความไม่ลงรอยกันระหว่างมาร์ตอฟกับเลนิน ซึ่งนำไปสู่การแบ่งแยกอุดมการณ์ของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย โดยเลนินเป็นหัวหน้ากลุ่มบอลเชวิคที่เป็นฝ่ายต่อต้านเขา

ยูลี โอซีโปวิช มาร์ตอฟ
Юлии Осипович Мартов
มาร์ตอฟเมื่อ ค.ศ. 1917
เกิดยูลี โอซีโปวิช เซเดียร์บาอูม
24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1873(1873-11-24)
คอนสแตนติโนเปิล จักรวรรดิออตโตมัน
เสียชีวิต4 เมษายน ค.ศ. 1923(1923-04-04) (49 ปี)
เชิมแบร์ค สาธารณรัฐไวมาร์
พรรคการเมืองพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย เมนเชวิค
ขบวนการสังคมนิยม ลัทธิมากซ์

มาร์ตอฟเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางชาวยิวที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของจักรวรรดิออตโตมัน เขาเติบโตที่ออแดซาและเริ่มรับแนวคิดแบบลัทธิมากซ์หลังจากเผชิญกับทุพภิกขภัยในรัสเซียระหว่าง ค.ศ. 1891–1892 มาร์ตอฟเข้าศึกษาที่ราชวิทยาลัยเซนต์ปีเตอส์เบิร์กเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่ต่อมาถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยและเนรเทศไปยังวิลนา เขาอุทิศตนให้กับการทำงานกับแรงงานยิวในปีถัด ๆ มา ซึ่งการปลุกปั่นของเขาจะเป็นการปูทางในการก่อตั้งสหภาพแรงงานชาวยิวสามัญ (General Jewish Labour Bund) เขาเดินทางกลับมาเซนต์ปีเตอส์เบิร์กอีกครั้งใน ค.ศ. 1895 มาร์ตอฟได้สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวลาดีมีร์ เลนิน และทั้งสองร่วมกันก่อตั้งสันนิบาตการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยชนชั้นแรงงาน หนึ่งปีต่อมาเขาถูกจับและเนรเทศไปยังอาร์กติกไซบีเรียเป็นเวลาสามปี หลังจากการถูกเนรเทศ มาร์ตอฟจึงร่วมมือกับเลนินและย้ายไปที่ยุโรปตะวันตก เขากลายเป็นสมาชิกพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของพรรคอย่าง อีสครา ในการประชุมใหญ่ของพรรคครั้งที่สองใน ค.ศ. 1903 เกิดความแตกแยกระหว่างผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่าย โดยมาร์ตอฟเป็นผู้นำฝ่ายเมนเชวิคที่ต่อต้านบอลเชวิคของเลนิน

ภายหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 มาร์ตอฟเดินทางกลับรัสเซียแต่พบว่าตนเองถูกทำให้ไร้ความสำคัญหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม ซึ่งบอลเชวิคเข้ามามีอำนาจภายในประเทศ เขายังคงเป็นหัวหน้าเมนเชวิคต่อไปและประณามมาตรการปราบปรามของรัฐบาลโซเวียตที่มีจำนวนมาก

ใน ค.ศ. 1920 มาร์ตอฟถูกกดดันให้ออกจากรัสเซีย เมนเชวิคกลายเป็นพรรคผิดกฎหมายในปีต่อมา เขาอยู่พำนักในเยอรมนีและถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1923 ตามที่น้องสาวของเลนินกล่าวไว้นั้น เลนินพยายามส่งเงินให้มาร์ตอฟในระหว่างที่เขาป่วยครั้งสุดท้ายใน ค.ศ. 1922 แต่โจเซฟ สตาลินปฏิเสธและกล่าวว่ามาร์ตอฟเป็น “ต้นเหตุของศัตรูของชนชั้นแรงงาน!”[2][3]

เชิงอรรถ

แก้
  1. รัสเซีย: Ю́лий О́сипович Цедерба́ум, สัทอักษรสากล: [ˈjʉlʲɪj ˈosʲɪpəvʲɪtɕ tsɨdʲɪrˈbaʊm, ˈmartəf] (  ฟังเสียง)
  2. Rogovin, Vadim Zakharovich (2021). Was There an Alternative? Trotskyism: a Look Back Through the Years (ภาษาอังกฤษ). Mehring Books. p. 54. ISBN 978-1-893638-97-6.
  3. Service, Robert (2005). Stalin: A Biography (ภาษาอังกฤษ). Harvard University Press. p. 156. ISBN 978-0-674-01697-2.

หนังสืออ่านเพิ่ม

แก้
  • Figes, Orlando. A People's Tragedy: The Russian Revolution, 1891–1924 (2017).
  • Getzler, Israel. Martov: A Political Biography of a Russian Social Democrat (2003).
  • Savel'ev, P. Iu.; Tiutiukin, S. V. (2006). "Iulii Osipovich Martov (1873–1923): The Man and the Politician". Russian Studies in History. 45 (1): 6–92. doi:10.2753/RSH1061-1983450101. S2CID 153626069. Translation of the 1995 Russian original.
  • Haimson, Leopold H., Ziva Galili and Richard Wortman, The Making of Three Russian Revolutionaries: Voices from the Menshevik Past (Cambridge and Paris, 1987).

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้