ยุทธการที่ไซ่ง่อน (พ.ศ. 2498)

(เปลี่ยนทางจาก ยุทธการไซ่ง่อน (พ.ศ. 2498))

ยุทธการไซ่ง่อนเป็นการรบนานหนึ่งเดือนระหว่างกองทัพแห่งชาติเวียดนาม (VNA) ของรัฐเวียดนาม (ซึ่งต่อมากลายเป็นกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม ของสาธารณรัฐเวียดนาม) กับกองกำลังส่วนตัวขององค์กรอาชญากรรมบิ่ญเซวียน ในตอนนั้น องค์กรบิ่ญเซวียนได้รับโองการอนุญาตจากจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย แห่งเวียดนามให้มีอำนาจควบคุมตำรวจทั้งประเทศ และนายกรัฐมนตรีโง ดิ่ญ เสี่ยม ยื่นคำขาดให้พวกเขายอมมาอยู่ใต้อำนาจรัฐ การสู้รบกันเริ่มขึ้นในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2498 และกองทัพ VNA สามารถบดขยี้กองกำลังบิ่ญเซวียนได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ การสู้รบส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในย่านโชล็อง ซึ่งเป็นย่านการค้าของคนจีนภายในเมืองไซ่ง่อน การรบทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 500-1,000 คน และทำให้ประชาชนกว่า 20,000 คนไร้ที่อยู่ ท้ายที่สุดแล้วกองกำลังบิ่ญเซวียนก็พ่ายแพ้ กองกำลังถูกยุบและขบวนการอาชญากรรมก็หยุดลง

ยุทธการไซ่ง่อน
วันที่27 เมษายน - พฤษภาคม พ.ศ. 2498
สถานที่
ผล ชัยชนะของรัฐเวียดนาม
คู่สงคราม
กองทัพแห่งชาติเวียดนาม
หนุนหลังโดย
CIA
บิ่ญเซวียน
หนุนหลังโดย
SDECE

การสู้รบประปรายในช่วงแรก แก้

ในเวลา 0.00 น. ของวันที่ 30 มีนาคม เกิดระเบิดขึ้นในไซ่ง่อน ซึ่งการวางระเบิดนี้เป็นการตอบโต้ขององค์กรบิ่ญเซวียนต่อการที่เสี่ยมปลดผู้บัญชาการตำรวจที่อยู่ใต้ควบคุมของบิ่ญเซวียนออกจากตำแหน่ง ต่อมา กองกำลังบิ่ญเซวียน 200 นายเปิดฉากโจมตีกองบัญชาการของ VNA การปะทะครั้งนี้ผลแพ้ชนะไม่แน่ชัด โดยฝ่าย VNA มีผู้เสียชีวิต 6 นาย ในขณะที่กองกำลังบิ่ญเซวียนมีผู้เสียชีวิต 10 นาย แต่เมื่อรุ่งสาง ปรากฏว่าฝ่ายที่เสียชีวิตมากที่สุดคือฝ่ายพลเรือน โดยมีร่างพลเรือนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่เกลื่อนถนน

การสู้รบหลัก แก้

การสู้รบครั้งสุดท้ายระหว่างกองทัพแห่งชาติของนายกฯ เสี่ยม กับกองกำลังบิ่ญเซวียนเริ่มขึ้นในวันที่ 27 เมษายน เวลา 12.00 น. หลังจากที่มีการยิงอาวุธเล็กและปืนครกต่อสู้กัน ฝ่าย VNA ก็เปลี่ยนไปใช้ปืนใหญ่ที่หนักที่สุดที่มีอยู่ การตัดสินใจครั้งนี้พอดีกับเสียงเรียกร้องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ให้นายกฯ เสี่ยมลงจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่สามารถควบคุมบิ่ญเซวียนและรวมประเทศเวียดนามเป็นปึกแผ่นได้ เมื่อมาถึงตอนเย็น พื้นที่เมืองส่วนในส่วนมากกลายเป็นสนามรบ และในตอนเช้าของวันที่ 28 เมษายน ก็มีประชาชนเป็นพันๆ คนหนีมาบนถนนเนื่องจากเกิดการระเบิดขึ้นหลายครั้ง และการต่อสู้ได้ลามจากข้างถนนไปยังบ้านต่อบ้าน จตุรัสกลางเมืองที่มีย่านโชล็องล้อมรอบอยู่ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของบิ่ญเซวียน ได้กลายเป็นเขตยิงไม่เลือกฝ่าย มีการยิงปืนใหญ่และปืนครกใส่เขตยากจนของเมือง สังหารพลเรือนไปกว่า 500 นาย และทำให้คนกว่า 20,000 คนต้องไร้บ้าน ผู้สังเกตการณ์อธิบายว่าทั้งสองฝ่ายนั้นต่างก็ไม่มีแผนการรบ และอาศัยการใช้กำลังล้วน ๆ เพื่อเข้าสู้กับอีกฝ่าย หนึ่งในไม่กี่กลยุทธที่ถือว่ามีแผนการรบคือความพยายามของฝ่าย VNA ที่จะตัดการป้อนกำลังเสริมของกองกำลังบิ่ญเซวียนด้วยการระเบิดสะพานที่พาดผ่านคลองที่อยู่ระหว่างไซ่ง่อนกับโชล็อง ซึ่งไม่เป็นผลเนื่องจากฝ่ายบิ่ญเซวียนโยนสะพานโป๊ะเพื่อข้ามคลอง สุดท้ายแล้ว ผลแพ้ชนะก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนจะแบกรับจำนวนผู้เสียชีวิตได้มากกว่ากัน ในวันแรกเพียงวันเดียว ทหารทั้งสองฝ่ายก็เสียชีวิตไปแล้วกว่า 300 นาย

ในตอนเช้าของวันที่ 28 เมษายน จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โทรศัพท์ไปหาเจ. ลอว์ตัน คอลลินส์ ตัวแทนพิเศษของสหรัฐฯ ในเวียดนาม ให้ยกเลิกการเรียกร้องให้เปลี่ยนนายกฯ เนื่องจากประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ต้องการให้เหตุการณ์ที่ไซ่ง่อนมีผลชี้ชัดแน่นอนก่อน คอลลินส์และดัลส์โต้คารมกันในการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยคอลลินส์เสียงแข็งในเรื่องการให้เสี่ยมออกจากตำแหน่ง โดยอ้างเหตุผลว่าความพยายามที่จะทำลายกองกำลังบิ่ญเซวียนจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง หากแต่สภาฯ สนับสนุนท่าทีของดัลส์

บทสรุป แก้

หลังจากต่อสู้กันนาน 48 ชั่วโมง ฝ่าย VNA เริ่มถือไพ่เหนือกว่า เลอกร็องด์มงด์ บ่อนการพนันที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเล วัน เหวียน (หรือบ๋าย เหวียน) หัวหน้าองค์กรบิ่ญเซวียน และในขณะนั้นก็เป็นทำหน้าที่เป็นฐานที่มั่นของบิ่ญเซวียน ถูกกำลังพลร่มของนายกฯ เสี่ยม ถาโถมเข้าใส่ หลังจากที่ยันกันจนทำให้เสียหายอย่างหนักทั้งสองฝ่าย จากนั้นฝ่าย VNA ก็บุกเข้าไปยังฐานที่มั่นที่แข็งแกร่งที่สุดของบิ่ญเซวียน ซึ่งก็คือโรงเรียนมัธยมฯ เปตรุส กี ในย่านโชล็อง เมื่อคอลลินส์กลับมายังเวียดนามใต้ในวันที่ 2 พฤษภาคม การรบก็เกือบจะสิ้นสุดในกำมือของ VNA แล้ว ฝ่ายบิ่ญเซวียนแตกพ่ายและกำลังล่าถอย ในขณะที่ฐานบัญชาการขององค์กรถูกปืนใหญ่ยิงถล่มจนถูกทำลาย กองบัญชาการของเล วัน เหวียน นั้นถูกถล่มอย่างหนัก ทำให้เสือ งูหลาม และจระเข้ที่เขาเลี้ยงไว้ในฐานบัญชาการตายจากแรงระเบิดของปืนครกและปืนใหญ่

เล วัน เหวียน หลบหนีไปใช้ชีวิตที่เหลือที่ปารีสโดยอาศัยเงินที่ได้จากขบวนการอาชญากรรม ในขณะที่กองทัพแห่งชาติเวียดนามตามล่ากองกำลังที่เหลือของบิ่ญเซวียนไปยังสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ใกล้ชายฝั่งประเทศกัมพูชา

ส่วนประชาชนนั้นออกมาเฉลิมฉลองกับการล่มสลายขององค์กรบิ่ญเซวียนด้วยความยินดี มีบางส่วนที่มารวมตัวกันหน้าที่พักของเสี่ยมและส่งเสียงโห่ร้องว่า "ดาดาวบ๋าวดั่ย" (แปลว่าบ๋าว ดั่ย จงพินาศ)

อ้างอิง แก้

  • Jacobs, Seth (2006). Cold War Mandarin: Ngo Dinh Diem and the Origins of America's War in Vietnam, 1950-1963. Rowman & Littlefield Publishers. pp. 70-80. ISBN 0-7425-4447-8.

ภาพยนตร์ข่าว แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้