ยักษ์ (เรื่องปรัมปราตะวันตก)

สิ่งมีชีวิตในเรื่องปรัมปราของตะวันตก มีลักษณะอย่างมนุษย์ แต่มีขนาดร่างกายใหญ่กว่า

ยักษ์ หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า ไจอันต์ (อังกฤษ: giant) มักเป็นสิ่งมีชีวิตรูปร่างอย่างมนุษย์ แต่มีขนาดกายใหญ่โตและมีพละกำลังมหาศาล ปรากฏในประมวลเรื่องปรัมปราและตำนานในหลากหลายวัฒนธรรม

เอกสารรัสเซีย ค.ศ. 1739 แสดงภาพยักษ์ที่ถูกจับได้ในสเปน

คำว่า "ไจอันต์" ในภาษาอังกฤษนั้นปรากฏครั้งแรกใน ค.ศ. 1297 มาจากคำว่า "กิกันเตส" (γίγαντες, gigantes) ในประมวลเรื่องปรัมปรากรีก[1]

มนุษย์รูปร่างใหญ่โตนั้นปรากฏในประมวลเรื่องปรัมปราอินโด–ยุโรปหลายแขนงในฐานะ "สิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์" (primeval creature) ที่เกี่ยวเนื่องความวุ่นวายโกลาหล และมักเป็นศัตรูกับเทวดา ไม่ว่าจะเป็นเทวดาแห่งโอลิมปัส, เคลต์, ฮินดู หรือนอร์ส นอกจากนี้ ยังมีบทบาททำนองเดียวกันในประมวลเรื่องปรัมปราและเรื่องพื้นบ้านของชนชาติอื่น ๆ เช่น นาร์เชียน (Nartian)

ในเอกสารทางศาสนา เช่น พันธสัญญาเดิม (Old Testament) ของศาสนาคริสต์ ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์รูปร่างใหญ่โต ซึ่งมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป เช่น โอก กษัตริย์แห่งบาชาน (Og king of Bashan) ในเฉลยธรรมบัญญัติ บท 3 ข้อ 1 (Deuteronomy 3:1), มนุษย์ยักษ์ (Nephilim) ในปฐมกาล บท 6 ข้อ 4 (Genesis 6:4), คนรูปร่างใหญ่โตแห่งอียิปต์ (giant of Egypt) ในพงศาวดาร 1 บท 11 ข้อ 23 (1 Chronicles 11:23), และแอนะคิม (Anakim),

เทพนิยายอย่าง "แจ็กผู้ฆ่ายักษ์" (Jack the Giant Killer) ทำให้เกิดความรับรู้ในยุคปัจจุบันที่ว่า ยักษ์มีสติปัญญาน้อยและมีพฤติกรรมโหดร้าย บางทีก็ว่า กินมนุษย์เป็นอาหาร แต่บ้างก็ว่า กินปศุสัตว์ (livestock) และยักษ์ยังเป็นตัวร้ายในเทพนิยายเรื่อง "แจ็กกับต้นถั่ววิเศษ" (Jack and the Beanstalk) แต่ในวรรณกรรมสมัยใหม่ เช่น ของโจนาทาน สวิฟต์ (Jonathan Swift) และโรอัลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) ยักษ์ได้รับการพรรณนาว่า ทั้งฉลาดหลักแหลมและเป็นมิตร

อ้างอิง แก้

  1. γίγαντες, Georg Autenrieth, A Homeric Dictionary, on Perseus Digital Library