ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร จังหวัดลพบุรี

ภายหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ขยายกิจการ และเตรียมพื้นที่การเรียนการสอนสำรองการขยายขีดความสามารถในการเรียน การสอน และวิจัย ณ วิทยาเขตกำแพงแสนแล้ว โครงการจัดตั้งวิทยาเขตลพบุรีก็เป็น 1 ใน 5 ของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี วิทยาเขตศรีราชา วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร วิทยาเขตสุพรรณบุรี วิทยาเขตลพบุรี และวิทยาเขตกระบี่ เพื่อขยายโอกาสอุดมศึกษาไปยังภูมิภาค จนสามารถดำเนินการเรียนการสอนได้ในวิทยาเขตศรีราชา พ.ศ. 2539 วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร พ.ศ. 2543

ประวัติ แก้

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายขยายโอกาสอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาค เพื่อพัฒนาการศึกษาและให้โอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสในต่างจังหวัดได้มีโอกาสในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามากขึ้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงรับนโยบายในการขยายโอกาสทางการศึกษา โดยกำหนดพื้นที่จังหวัดเป้าหมายจำนวน 3 จังหวัด และหนึ่งในนั้นคือจังหวัดลพบุรี ในการนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เสนอโครงการจัดตั้งวิทยาเขตลพบุรี บรรจุในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544) และคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตลพบุรี (ตามมติคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2539)

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ร่วมประชุมปรึกษาราชการกับผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี คณะผู้บริหารจังหวัดลพบุรีและผู้เกี่ยวข้อง ในการจัดหาพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ตามที่ทางจังหวัดลพบุรีเห็นว่าเหมาะสม ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตลพบุรี โดยมอบหมายให้นายอำเภอโคกสำโรงเป็นผู้ดำเนินการ และเสนอพื้นที่ “ที่สาธารณประโยชน์หนองโสน” ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี พื้นที่ประมาณ 1,876 ไร่ เป็นพื้นที่จัดตั้งวิทยาเขตลพบุรี ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรจัดตั้งวิทยาเขตลพบุรี ในพื้นที่ที่จังหวัดลพบุรี จัดหาให้นั้น

ปัญหาการดำเนินการ แก้

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตลพบุรีได้ประสบปัญหาต่อเนื่อง ตั่งแต่มีผู้บุกรุก แอบอ้างเข้าใช้พื้นที่ ที่จะดำเนินก่อตั้งวิทยาเขต และอีกทั้งการดำเนินจัดตั้งวิทยาเขต ขาดงบประมาณในการดำเนินการ

การยุติโครงการ/ปรับเปลี่ยนภารกิจ แก้

จากปัญหาในการดำเนินการจัดตั้งวิทยาเขต จนยังไม่สามารถดำเนินโครงการได้ ปี พ.ศ. 2551 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้มีมติว่า "โครงการจัดตั้งวิทยาเขตลพบุรี ไม่เป็นวิทยาเขต" ทั้งนี้ให้ยุติการดำเนินการจั้ดตั้งวิทยาเขต โดยมีมติเมื่อ 21 เม.ย. พ.ศ. 2551 และปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร[1] สังกัดสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร[2] ภายหลังได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเป็น "สถานีวิจัยและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร (เพนียด)" และโอนไปสังกัดคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. http://pr.ku.ac.th/document/Acrobat/2551/36.pdf เอกสารประชาสัมพันธ์ มก. ฉบับที่36 ปีที่ 26 วันที่ 30 พ.ค. พ.ศ. 2551
  2. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/E/022/87.PDF กระทู้ถามที่ ๒๐๑/ร. เรื่อง ความคืบหน้าในการก่อสร้างและเปิดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ของ นายอำนวย คลังผา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เล่มที่ ๑๒๗ พิเศษ ๒๒ ง ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ หน้าที่ ๘๗