ภาพยนตร์ของแพตเตอร์สัน–กิมลิน

ภาพยนตร์ของแพตเตอร์สัน–กิมลิน (อังกฤษ: Patterson–Gimlin film) หรือที่รู้จักในชื่อ ภาพยนตร์ของแพตเตอร์สัน (Patterson film; ตัวย่อ: PGF) เป็นภาพยนตร์ขนาดสั้น ที่ได้ชื่อว่าเป็นภาพยนตร์หรือภาพเคลื่อนไหวของบิ๊กฟุต สัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายมนุษย์กึ่งลิงใหญ่ ที่มีรูปร่างใหญ่โตเชื่อกันว่าอาศัยอยู่ในป่าของหลายพื้นที่ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา [2][3]

บิ๊กฟุตในภาพยนตร์ชุดนี้ในเฟรมที่ 352 ได้ถูกเรียกชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "แพตตี" (Patty) เชื่อว่าเป็นบิ๊กฟุตตัวเมีย ขณะที่มองหันกลับมายังแพตเตอร์สันและกิมลิน[1]

การถ่ายทำและการวิเคราะห์

แก้

ภาพยนตร์ถ่ายด้วยฟิล์มสีขนาด 16 มิลลิเมตร ความยาว 953 เฟรม เป็นเวลา 59.5 วินาที[3] ในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1967 โดย โรเจอร์ แพตเตอร์สัน (เกิด: 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 เสียชีวิต: 15 มกราคม ค.ศ. 1972 จากโรคมะเร็ง[4]) นักสร้างภาพยนตร์สมัครเล่น และโรเบิร์ต หรือ บ็อบ กิมลิน (เกิด: 18 ตุลาคม ค.ศ. 1931) ได้เดินทางไปยังบลัฟฟ์ครีก ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำคลาแมท อยู่ห่าง 86 ไมล์ ทางตอนเหนือของยูเรกา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับบิ๊กฟุต สัตว์ประหลาดขนดกที่กล่าวกันว่ามีรูปร่างคล้ายมนุษย์ขนาดใหญ่ ที่เชื่อว่าอาศัยอยู่ในป่าของอเมริกาเหนือ ที่ก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 1958 มีรายงานว่ามีคนงานก่อสร้างผู้หนึ่งได้หล่อรูปรอยเท้าขนาดยาว 17 นิ้วครึ่งของมันได้จากสถานที่ใกล้กับที่นี่ และปรากฏเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์จนโด่งดัง และทำให้ชื่อบิ๊กฟุตเป็นที่รู้จักไปโดยทั่ว

ในปี ค.ศ. 2004 บ็อบ กิมลิน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงวันที่ถ่ายทำภาพยนตร์นี้ว่าทั้งเราคู่ขี่ม้าไปในป่าของบลัฟฟ์ครีก เป็นวันที่มีอากาศดี ห่างจากที่ตั้งที่พักประมาณ 2 ไมล์ ใกล้กับลำธาร เมื่อเรามาจนถึงสถานที่ ก็มีต้นไม้ใหญ่ล้มโดยส่วนรากยังอยู่ในดินเหมือนรังอีกา และก็เห็นบิ๊กฟุตยืนอยู่ข้าง ๆ ลำธารบนฝั่งตรงข้าม ตัวมันมีขนาดใหญ่มาก ม้าทั้งคู่ก็ตื่นกลัว ในความชุลมุนตอนนั้น แพตเตอร์สันก็หยิบเอากล้องออกมากระเป๋าสัมภาระที่ติดไว้ที่ข้างอานม้า ส่วนกิมลินก็เฝ้ามองสัตว์ตัวนั้นอยู่ ขณะที่ทั้งคู่ทำให้ม้าสงบลงได้ แพตเตอร์สันก็วิ่งข้ามลำธารไปและหยิบกล้องขึ้นมาเล็ง แล้วเขาก็สะดุดขาตัวเองล้มลงไปจนคุกเข่า ก่อนจะลุกขึ้นมาและวิ่งไปที่ท่อนซุงท่อนหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปเล็กน้อย เขายืนทรงตัวอยู่บนนั้น ส่วนกิมลินก็ขี่ม้าข้ามลำธารไปและหยุดอยู่ตรงนั้น สัตว์ตัวนั้นหันตัวกลับมาเพียงเล็กน้อยด้วยหัวไหล่ และเหมือนกับมองกลับมายังทั้งคู่ ซึ่งเป็นตอนที่กิมลินขี่ม้าข้ามลำธารไป เป็นตอนที่มันเดินแกว่งแขนจากไป กิมลินมองมันจากด้านหลังโดยมีต้นไม้บังขวางอยู่ระหว่างแพตเตอร์สันกับสัตว์ประหลาดตัวนั้น แพตเตอร์สันคงอยากจะถ่ายให้ดีขึ้นจึงย้ายที่ยืน และขอให้กิมลินระวังให้เขา กิมลินหยิบปืนไรเฟิลออกมาคอยระวังโดยมิได้ตั้งใจจะยิงไปถูกมัน และสัตว์ประหลาดตัวนั้นก็เดินจากไปในป่าทึบ ทั้งคู่ยังตามมันไปอีกไมล์ แต่ก็ไม่พบเห็นมันอีก แต่ไม่เพียงเท่านั้นทั้งคู่ยังพบรอยเท้าที่คิดว่าหนักประมาณ 350 ปอนด์ แต่การตรวจสอบในตอนหลังด้วยเครื่องวัดรอยพิมพ์คาดว่า สัตว์ตัวนี้น่าจะหนักถึง 700 ปอนด์ หรือหลายเท่าที่กิมลินคิดไว้

เมื่อภาพยนตร์ชุดนี้ได้ถูกเผยแพร่ออก ก่อให้เกิดเป็นข้อถกเถียงมากมาย บ้างก็ว่าเป็นเรื่องหลอกลวง โดยให้คนที่มีรูปร่างใหญ่สวมใส่ชุดที่มีขนเหมือนลิงใหญ่ โดยบางคนอ้างว่าตนเป็นคนที่สวมใส่ชุดนั้นก็มี แต่ก็ไม่มีใครสามารถที่จะพิสูจน์ได้จริง ซึ่งบางคนไม่รู้ซะด้วยซ้ำว่าจะไปถึงที่สถานที่ถ่ายทำได้อย่างไร และมีบางข้อมูลระบุว่า คนที่สวมใส่ชุดขนสัตว์นั้นชื่อ เจอร์รีย์ รอมนีย์ ซึ่งเป็นผู้มีรูปร่างใหญ่ น้ำหนักตัวมาก โดยผู้เปิดเผย คือ ไคลด์ ไรน์เก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทสร้างภาพยนตร์แห่งหนึ่ง ไรน์เกอ้างว่าแพตเตอร์สันก็เป็นพนักงานคนหนึ่งของบริษัทที่ได้รับคำสั่งจากประธานบริษัทให้ไปถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับบิ๊กฟุต และรอมนีย์เองก็เป็นเพื่อนกับประธานบริษัท ก่อนหน้านั้นก็เคยรับบทเด่นในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งของบริษัท ซึ่งท่าทางการเดินของเขาเหมือนกับบิ๊กฟุตในภาพยนตร์ชุดนี้ [5] ซึ่งกิมลินบอกว่าเรื่องดังกล่าวทำให้เขาถูกกล่าวหาและเยาะเย้ยมาเป็นเวลานาน ถึงขนาดที่ภรรยาของเขาหัวเสียถึงขนาดจะเลิกรากันด้วยซ้ำ[2]

ได้มีการนำภาพยนตร์นี้ไปขยายเพื่อวิเคราะห์ให้เห็นชัด แต่ไม่ปรากฏพบตะเข็บหรือรอยต่อของชุด แต่เห็นว่ามีกล้ามเนื้อไบเซ็ปขนาดใหญ่ที่ต้นขากระเพื่อมขณะที่มันเดิน นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความรู้สึกและการเคลื่อนไหวของมนุษย์ แห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ในปี ค.ศ. 2004 ได้ทดสอบร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ด้วยการให้อาสาสมัครที่เป็นนักกีฬาที่มีกล้ามเนื้อยืดหยุ่นทดลองเดินแบบสัตว์ในภาพยนตร์ดูบ้าง และสังเกตแบบเฟรมต่อเฟรม สรุปได้ว่า มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถเดินด้วยท่าทางแบบนั้นหรือทำซ้ำได้ เพราะมีการพลิกของกล้ามเนื้อด้านข้างของส่วนขาและเท้าที่ค่อนข้างแปลก รวมถึงไม่ใช่ท่าเดินของสัตว์จำพวกลิงเท่าที่รู้จักในปัจจุบันนี้ด้วย และภาพยนตร์ชุดนี้ยังได้นำไปทดสอบต่อ โดยการใช้ฟิล์มต้นฉบับถ่ายซ้ำด้วยกล้องดิจิทัลเพื่อขยายให้เห็นชัด โดยผู้ค้นคว้าเรื่องบิ๊กฟุตและนักวานรวิทยาอีกกลุ่ม แต่ทว่าภาพที่ได้แตกพร่าเกินไป แต่เมื่อนำฟิล์มดิจิทัลที่ถ่ายฟิล์มต้นฉบับมาดู ก็เห็นชัดขึ้น สามารถเห็นถึงลักษณะรายละเอียดของใบหน้า ว่ามีรูจมูก และปาก มีกล้ามเนื้อวงรอบหน้า และกล้ามเนื้อมุมขากรรไกรที่พัฒนามาเป็นอย่างดีใช้สำหรับขยับกราม เห็นปากขยับเปิดออกและปิดลง รวมถึงมีความเหมือนของตำแหน่งปากกับชิมแปนซี ขณะที่กิมลินบอกว่า ในวันนั้นเขาเห็นใบหน้าของมันชัดเจน[2]

อ้างอิง

แก้
  1. "DNA tests to help crack mystery of Bigfoot or Yeti existence". The Australian. Associated Press. May 24, 2012. สืบค้นเมื่อ May 21, 2014.
  2. 2.0 2.1 2.2 Jerlene, Verda (2016-07-28). "ตามล่ามนุษย์ปริศนา Big Foot ไอ้ตีนโต". Monster Quest. สืบค้นเมื่อ 2016-10-08.
  3. 3.0 3.1 Dunn, Matthew (2016-06-07). "Bob Gimlin explains why releasing his Bigfoot footage was one big mistake he wished he could undo". news.com. สืบค้นเมื่อ 2016-10-08.
  4. McLeod, 128–29, 140
  5. "Bob Heironimus Wasn't The Only "Man In The Suit" [P/G Film]". bigfootevidence.blogspot. 2012-06-04. สืบค้นเมื่อ 2016-10-08.

บรรณานุกรม

แก้
  • Michael McLeod (2009). "Part II, Obsession". Anatomy of a Beast: Obsession and Myth on the Trail of Bigfoot. University of California Press. pp. 79–141. ISBN 978-0-520-25571-5.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

41°26′24.7″N 123°42′6.9″W / 41.440194°N 123.701917°W / 41.440194; -123.701917 (Patterson–Gimlin film)