ฟาโรห์เนเฟอร์คาเรที่ 7

เนเฟอร์คาเรที่ 7 เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณพระองค์ที่สามจากราชวงศ์ที่เก้า ประมาณ 2140 ปีก่อนคริสตศักราช (ในสมัยช่วงระหว่างกลางที่ 1) พระนามของพระองค์จะจัดอยู่ในคอลัมน์ที่ 4 แถวที่ 20 ตามบันทึกพระนามกษัตริย์แห่งตูริน

อย่างไรก็ตามพระนามของฟาโรห์เนเฟอร์คาเรที่ 7 ไม่ได้บันทึกรวมอยู่ในบันทึกพระนามกษัตริย์แห่งอไบดอสหรือบันทึกพระนามกษัตริย์แห่งซัคคาราเลย และไม่สามารถยืนยันการมีอยู่ของรัชกาลของพระองค์อย่างแน่นอนผ่านการค้นพบทางโบราณคดีได้[1]

พระนาม เนเฟอร์คาเร ชี้ให้เห็นว่าพระองค์ถือว่าพระองค์เองเป็นผู้สืบสันตติวงศ์โดยชอบชอบธรรมจากฟาโรห์เปปิที่ 2 เนเฟอร์คาเร แห่งราชวงศ์ที่หก เช่นเดียวกันกับฟาโรห์หลายพระองค์จากราชวงศ์ที่แปดที่ปกครองที่เมืองเมมฟิสที่ใช้พระนามนี้ แม้ว่าฟาโรห์หลายพระองค์ที่ขึ้นครองราชย์ก่อนหน้าก็จะถูกเอ่ยพระนามโดยการรวมกันของคำนำหน้าพระนามและพระนามของพระองค์ (เช่น ฟาโรห์เนเฟอร์คาเร เนบิ หรือ ฟาโรห์เนเฟอร์คาเร เปปิเซเนบ) ในงานเขียนบางชิ้นได้เรียกพระองค์ว่า "เนเฟอร์คาเรที่ 7" เพราะพระองค์น่าจะเป็นฟาโรห์พระองค์ที่ 7 ที่ใช้พระนามนี้

ฟาโรห์ผู้ปกครองเมืองเฮราคลีโอโพลิสพระองค์นี้ที่ไม่ได้รับการยืนยันได้ถูกระบุตัวตนโดยนักวิชาการหลายคนกับฟาโรห์ที่มีนามว่า คา-เนเฟอร์-เร ซึ่งถูกกล่าวถึงในจารึกหลุมฝังพระศพที่ไม่ได้รับการยืนยันและโดดเดี่ยวของอังค์ติฟิ ผู้ซึ่งเป็นผู้ปกครองท้องถิ่นของเมืองเฮราคลีโอโพลิสและเอล-โม'อัลลา หลุมฝังศพดังกล่าวทางใต้ของเมืองธีบส์ไปประมาณ 30 กม. (19 ไมล์)[1]

หากฟาโรห์เนเฟอร์คาเรและฟาโรห์คาเนเฟอร์เรเป็นฟาโรห์พระองค์เดียวกัน บางครั้งอาจจะสันนิษฐานได้ว่าอำนาจของพระองค์ได้แผ่ขยายไปไกลอย่างน้อยถึงเกาะแอลเลเฟนไทน์ เมืองเอ็ดฟู และเมืองเฮราคลีโอโพลิส ตามคำจารึกของอังค์ติฟิ ซึ่งเป็นทั้งสามเมืองเป็นสามเมืองหลวงแรกของอียิปต์บน อย่างไรก็ตาม ข้อความในจารึกก็มีข้อสงสัยที่ระบุว่า "ฮอรัสนำ (หรืออาจนำ) น้ำท่วม (ดี) ให้กับลูกชายของเขา คา-เนเฟอร์-เร" ความคลุมเครือเกี่ยวกับกาลของคำกริยาในจารึกได้นำไปสู่การโต้เถียงในหมู่นักวิชาการต่าง ๆ ว่าฟาโรห์พระนามนี้จะขึ้นปกครองในช่วงวัยหนุ่มของอังค์ติฟิหรือในช่วงเวลานั้นที่เขาได้จารึกข้อความนี้ หรืออาจจะเป็นฟาโรห์ที่ปกครองก่อนหน้าการเกิดของอังค์ติฟิที่ขึ้นปกครองในช่วงปลายสมัยราชอาณาจักรเก่าจากเมืองเมมฟิส[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 William C. Hayes, in The Cambridge Ancient History, vol 1, part 2, 1971 (2008), Cambridge University Press, ISBN 0-521-077915, pp. 464–465.