คตินิยมทางภาษา (อังกฤษ: language ideology) หรือ คตินิยมทางภาษาศาสตร์ (linguistic ideology) ได้รับการนำมาใช้ในสาขามานุษยวิทยา (โดยเฉพาะมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์) ภาษาศาสตร์สังคม และการศึกษาข้ามวัฒนธรรม เพื่อบรรยายลักษณะของชุดความเชื่อใด ๆ เกี่ยวกับภาษาตามที่ถูกใช้ในโลกทางสังคมของภาษานั้น เมื่อได้รับการรับรองและสำรวจแล้ว คตินิยมทางภาษาจะแสดงให้เห็นว่าความเชื่อทางภาษาของผู้พูดนั้นเชื่อมโยงกับระบบสังคมและวัฒนธรรมที่พวกเขาเป็นสมาชิกอย่างไร โดยแสดงให้เห็นว่าระบบก่อให้เกิดความเชื่อเช่นนั้นได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ คตินิยมทางภาษาจึงเชื่อมโยงข้อสมมุติทั้งที่ชัดแจ้งและไม่ชัดแจ้งเกี่ยวกับภาษาหนึ่ง ๆ หรือภาษาโดยทั่วไปกับประสบการณ์ทางสังคม ตลอดจนผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของพวกเขา คตินิยมทางภาษาคือการสร้างมโนทัศน์เกี่ยวกับภาษา ผู้พูด และปฏิบัติการทางวาทกรรม เช่นเดียวกับคตินิยมประเภทอื่น ๆ คตินิยมทางภาษาได้รับอิทธิพลจากผลประโยชน์ทางการเมืองและจริยธรรม และได้รับการหล่อหลอมในสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม