ครูพิษณุ แช่มบาง มีนามเดิมว่า พิสมัย เป็นบุตรของนายแปลก และนางละม่อม แช่มบาง เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ที่บ้านบางจาก อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๖ คน ครูพิษณุถึงอนิจแก่กรรม เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙ รวมอายุได้ ๕๕ ปี

การศึกษา แก้

ครูพิษณุ เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนวัดอมรินทราราม จนจบชั้นมัธยม ๔ เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี บิดาเห็นว่ามีใจรักทางด้านดนตรี จึงพาไปฝากให้เป็นศิษย์ของครูชื่น วัชชวิพุฒ ต่อมาได้มีโอกาสเป็นศิษย์ระนาดทุ้มของครูพุ่ม บาปุยะวาส ต่อกลองแขกจากครู หลวงสิทธิวาทิน (สาย สิทธิวาทิน) และต่อกลองแขกกับกลองมะลายู กับครูเหมือน ดุริยประกิจ

ประวัติการรับราชการ แก้

พิษณุ แช่มบางเริ่มรับราชการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๔ ในตำแหน่งนักดนตรีประจำกองแตรวงทหารรักษาวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงย้ายมาสังกัดกรมมหรสพประจำเครื่องเบส คลาริเนต และโอนมาสังกัดกองการสังคีต กรมศิลปากร พ.ศ. ๒๔๗๘ จนได้เป็นศิลปินจัตวาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ และรับราชการอยู่ในกรมศิลปากรมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๔ โดยตำแหน่งหลังสุด คือ ศิลปินโท

ความสามารถด้านดนตรี แก้

ครูพิษณุมีความชำนาญในเครื่องดนตรีทั้งไทยและฝรั่ง ถึงขั้นเดี่ยวเครื่องมือได้หลายชนิด คือ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ปี่ อังกะลุง ปี่สก๊อต คลาริเนต ไวโอลิน เปียโน แซกโซโฟน และชำนาญอย่างยิ่งในเรื่องของกลอง เป็นผู้ตีกลองแขกคู่กับครูมิ ทรัพย์เย็น เป็นที่ร่ำลือในฝีมือมาก

ระหว่างที่รับราชการอยู่ ครูพิษณุ มีหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้ควบคุมวงของกรมศิลปากร ทุกครั้งที่มีการนำเพลงของต่างชาติมาบรรเลง และเป็นผู้เขียนโน้ตสากลเพลงไทยลงพิมพ์ในหนังสือวารสารศิลปากรรายเดือน เคยเดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรมกับกรมศิลปากร ณ ประเทศลาวและพม่า ได้เคยแต่งเพลงมาร์ชลูกเสือ ขับร้องโดยคุณนภา หวังในธรรม ได้รับรางวัลจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม และยังเก็บรักษาไว้ที่กรมประชาสัมพันธ์ จนทุกวันนี้

พ.ศ. ๒๕๐๑ กรมศิลปากรได้สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการส่งเสริมให้เพลงไทยนั้นเผยแพร่ไปทั้งบทร้องและทำนอง ด้วยการบันทึกโน้ตให้สมบูรณ์ตามแบบสากล เพื่อนักดนตรีทั่วไปสามารถบรรเลงได้อย่างกว้างขวาง จึงได้มอบหมาย ครูพิษณุ แช่มบาง ข้าราชการแผนกดุริยางค์สากล กองการสังคีต ในขณะนั้น เป็นผู้บันทึกโน้ต นายพิพัฒน์ ฤกษ์สำราญ เป็นผู้คัดลอกโน้ตสำหรับทำแม้พิมพ์ ศิลปนอาวุโสของกรมศิลปากร เช่น นางอุษา สุคันธมาลัย นางแช่มช้อย ดุริยพันธุ์ นางศรีนาฏ เสริมศิริ ฯลฯ เป็นผู้บอกทำนองร้องและทำนองดนตรี นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย เป็นผู้ตรวงสอบความถูกต้อง

นอกจากนี้ เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดให้มีการบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากล ครูพิษณุได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเขียนบันทึกลงเป็นโน้ตสากล ร่วมกับขุนสมานเสียงประจักษ์ และ นายโฉลก เนตตะสูต โดยมีหลวงประดิษฐ์ไพเราะเป็นผู้บอกเพลงร่วมกับครูดนตรีหลายท่าน อาทิ พระยาเสนาะดุริยางค์ จางวางทั่ว พาทยโกศล อาจารย์มนตรี ตราโมท ผลงานนี้เก็บไว้ที่กองการสังตีตกรมศีลปากร และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมบริพัตร ฯ

สถาบันที่ครูได้ถ่ายทอดวิชาดนตรีไว้ให้ ได้แก่ วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติ แก้

ครูพิษณุ สมรสกับ คุณบุญยืน พุกกะมาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน คือ

  • นางสาวพาณี แช่มบาง (ถึงแก่กรรม)
  • นายนาคะ แช่มบาง (ถึงแก่กรรม)
  • นางเรณู จีนเจริญ(ผู้เชียวชาญนาฏศิลปไทย ละคร-นาง สังกัดกองการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม) (ถึงแก่กรรม)
  • นายพันธ์ศิลป แช่มบาง (ถึงแก่กรรม)
  • นายตรีรัตน์ แช่มบาง (ถึงแก่กรรม)