พายุไต้ฝุ่น
พายุไต้ฝุ่น เป็นพายุหมุนเขตร้อนความเร็วลมสูงสุด ซึ่งก่อตัวขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างเส้นเมริเดียนที่ 180 องศา ถึงเส้นเมริเดียนที่ 100 องศาตะวันออก ซึ่งภูมิภาคนี้ถูกตั้งชื่อว่า "แอ่งแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ"[1] สำหรับจุดประสงค์เกี่ยวกับองค์กร มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือถูกแบ่งออกเป็น 3 เขต ได้แก่ ทางตะวันออก (ทวีปอเมริกาเหนือจนถึงเส้นเมริเดียนที่ 140 องศาตะวันตก) ตอนกลาง (เส้นเมริเดียนที่ 140 องศาตะวันตก ถึงเส้นเมริเดียนที่ 180 องศา) และทางตะวันตก (เส้นเมริเดียนที่ 180 องศา ถึงเส้นเมริเดียนที่ 100 องศาตะวันออก) ปรากฏการณ์พายุแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือทางตะวันออกจะถูกเรียกว่า พายุเฮอร์ริเคน[2] และพายุหมุนเขตร้อนที่กำลังเคลื่อนตัวไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตกจะถูกเรียกว่า พายุไต้ฝุ่น[3] ศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาค (RSMC) ซึ่งมีหน้าที่พยากรณ์การเกิดพายุหมุนเขตร้อนตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น และศูนย์เตือนภัยพายุหมุนเขตร้อนอื่น ๆ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกตั้งอยู่ในโฮโนลูลู คือ ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วม (JTWC) ประเทศฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ขณะที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาค (RSMC) ได้ตั้งชื่อในแต่ละระบบ และตัวรายชื่อหลักนั้นเป็นความร่วมมือกันระหว่าง 18 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐ ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นทุกปี[4]
ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ พายุไต้ฝุ่นไม่มีการกำหนดฤดูกาลอย่างเป็นทางการเพราะพายุไต้ฝุ่นก่อตัวขึ้นตลอดทั้งปี เช่นเดียวกับพายุหมุนเขตร้อนทั่วไป ปัจจัยที่ทำให้พายุไต้ฝุ่นก่อตัว และมีความเร็วเพิ่มขึ้นนั้นมี 6 ประการ ได้แก่ อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่อุ่นเพียงพอ ความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ ระดับความชื้นสัมพัทธ์สูงในชั้นโทรโพสเฟียร์ระดับล่างถึงระดับกลาง แรงโคริโอลิสที่มากพอที่จะสร้างศูนย์ความดันอากาศต่ำ การรบกวนหรือจุดรวมระดับต่ำที่มีอยู่แล้ว และการเปลี่ยนแปลงความเร็วลมหรือทิศทางของลมในระยะสั้น ๆ[5] พายุไต้ฝุ่นส่วนมากก่อตัวขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน และเดือนพฤศจิกายน ขณะที่พายุหมุนเขตร้อนก่อตัวขึ้นอย่างน้อยก็ระหว่างเดือนธันวาคม และเดือนพฤษภาคม โดยเฉลี่ยแล้ว มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือเป็นบริเวณที่เกิดพายุหมุนเขตร้อนบ่อยครั้งที่สุด และรุนแรงที่สุดในโลก เช่น เดียวกับแอ่งอื่น ๆ พายุจะถูกนำทางโดยสันความกดอากาศสูงเหนือเขตร้อนไปทางทิศตะวันตกหรือทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และมีบางลูกที่ย้อนกลับมาใกล้ทางทิศตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น ประเทศฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการพัดขึ้นฝั่ง ประเทศจีนหรือประเทศญี่ปุ่นได้รับผลกระทบน้อยกว่าบ้าง พายุไต้ฝุ่นที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ได้พัดเข้าถล่มประเทศจีน ทางตอนใต้ของประเทศจีนมีการบันทึกผลกระทบของพายุไต้ฝุ่นที่ยาวนานที่สุด ซึ่งสามารถย้อนหลังไปได้นับ 1,000 ปี ผ่านเอกสารในหอจดหมายเหตุ ประเทศไต้หวันเคยประสบกับพายุไต้ฝุ่นที่มีฝนตกหนักมากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาในแอ่งพายุหมุนเขตร้อนแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ
อ้างอิง
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- พายุหมุนเขตร้อนระบบดิจิทัล (Digital Typhoon)
- กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA)
- กรมอุตุนิยมวิทยาไทย (TMD)
- กรมอุตนิยมวิทยาวิทยาจีน (CMA)
- กรมอุตุนิยมวิทยาเกาหลี (KMA)
- ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วม (JTWC)
- หอสังเกตการณ์ฮ่องกง (HKO)