พระเจริญราชเดช (กวด ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม)
พระเจริญราชเดช (กวด ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) นามยศเดิมที่ท้าวมหาชัยกรมการเมืองร้อยเอ็ด นามเดิมว่าท้าวกวด เป็นเจ้าเมืองมหาสารคามองค์แรกในฐานะพระประเทศราชและหัวเมืองชั้นเอก เชื้อสายเจ้านายในราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์เดิมที่อพยพมาปกครองหัวเมืองลาวทั่วภาคอีสาน พระนามเต็มตามธรรมเนียมท้องถิ่นในเอกสารราชการเรื่องแต่งตั้งเพี้ยจันทะเนตกรมการเมืองมหาสารคาม วัน 1 (อาทิตย์) ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเส็ง ตรีนิศก ระบุว่า พระราช...อัคคมหากษัตริย์อัดทีปติเอกษัตตะมหานัครบุรี สีสุริยมาสชาติสุริยวงศ์เทพยาดาเจ้าพระจะเลือนลาสซะเดด องค์เสวยเมืองมหาสาลคามราชธานีสีสาเกตะ ส่วนเอกสารฝ่ายสยามออกนามยศเต็มว่า พระเจริญราชเดชวีรเชษฐ์มหาขัติยพงศ์ รวิวงศ์สุรชาติประเทศราชธำรงรักษ์ ศักดิ์กิติยศเกรียงไกรศรีพิชัยเทพวรฤทธิ์ พิศอนุพงศ์ปรีชาสิงหบุตรสุวัฒนา นคราภิบาลชาญพิชัยสงคราม พระเจริญราชเดชเป็นต้นสกุลภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม และสกุลมหาสาขาในจังหวัดมหาสารคาม
พระเจริญราชเดช (ท้าวมหาชัย กวด ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) | |
---|---|
ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม, เจ้าเมืองมหาสารคามคนแรก | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2408 – พ.ศ. 2422 | |
ถัดไป | พระเจริญราชเดช (ท้าวไชยวงษา ฮึง ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | พ.ศ. 2379 ร้อยเอ็ด |
เสียชีวิต | พ.ศ. 2421 มหาสารคาม |
ศาสนา | ศาสนาพุทธ |
พระประวัติแก้ไข
ราชตระกูลแก้ไข
พระเจริญราชเดชบรรดาศักดิ์เดิมที่ท้าวมหาชัย เป็นบุตรอุปฮาด (สิงห์) คณะอาชญาเมืองร้อยเอ็ด เกิดปี พ.ศ. 2379 ที่เมืองร้อยเอ็ด เป็นนัดดาของพระยาขัติยวงษาพิสุทธิบดี (สีลัง ธนสีลังกูร) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด และเป็นปนัดดาของพระขัติยวงษา (ทนหรือสีทนมณี ธนสีลังกูร) ผู้สร้างเมืองร้อยเอ็ดและเจ้าเมืองร้อยเอ็ดองค์แรก สืบเชื้อสายจากเจ้าแก้วมงคล (จารย์แก้ว) ผู้สร้างเมืองท่งศรีภูมิต่อมาคือเมืองสุวรรณภูมิ (อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด) ก่อนแยกไปตั้งเมืองร้อยเอ็ด
การศึกษาและงานราชการแก้ไข
ครั้นท้าวกวดเจริญวัยได้ศึกษาอยู่กับสำนักยาท่านหลักคำเมืองอุบลราชธานี หลังจบการศึกษาได้กลับไปรับราชการเมืองร้อยเอ็ดอยู่กับพระขัติยวงษา (จัน ธนสีลังกูร) เจ้าเมือง ท้าวกวดเป็นผู้มีความสามารถในราชการปราบโจรผู้ร้ายให้สงบราบคาบจีงได้รับแต่งตั้งเป็นท้าวมหาชัยคณะกรมการเมืองเมื่ออายุ 21 ปี วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2408 รัชกาลที่ 4 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นพระเจริญราชเดชเจ้าเมืองมหาสารคามองค์แรก มีท้าวบัวทองเป็นผู้ช่วยราชการ พ.ศ. 2412 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเมืองมหาสารคามให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ต่อมา พ.ศ. 2418 พวกฮ่อเป็นกบฏ พระเจริญราชเดชเข้าร่วมรบปราบกบฏด้วยความสามารถจนได้ชัย รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามยศให้สูงขึ้นเป็นที่พระเจริญราชเดชวรเชษฐมหาขัติยพงศ์สุรชาติ ประเทศราชธำรงค์รักษ์ศักดิ์กิติยศเกรียงไกร ศรีพิชัยเทพวราฤทธิ์พิษณุพงศ์ปรีชา สิงหบุตรสุวัฒนานคราภิบาล ชาญพิชัยสงคราม
การตั้งเมืองมหาสารคามแก้ไข
พระขัติยวงษา (จัน ธนสีลังกูร) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดได้ปรึกษากับอุปฮาด (ภู) เห็นว่าท้าวมหาชัย (กวด) สมควรจะเป็นเจ้าเมืองจึงมอบผู้คนให้ปกครอง เป็นชายฉกรรจ์จำนวน 2,000 รวมทั้งเด็ก ผู้หญิง และคนชรารวมราว 5,000 ให้ท้าวบัวทองบุตรอุปฮาด (ภู) เป็นผู้ช่วย พากันแยกไปหาที่ตั้งเมืองใหม่ ต่อมาท้าวมหาชัยเห็นว่าด้านตะวันตกของกุดยางใหญ่ (กุดนางใย บ้านนางใย) เหมาะแก่การตั้งบ้านเมืองเพราะน้ำท่วมไม่ถึง หน้าแล้งสามารถใช้น้ำจากกุดยางใหญ่และหนองท่ม (หนองกระทุ่ม) ได้ แต่ท้าวบัวทองเห็นว่าด้านตะวันตกของบ้านลาด (บ้านลาดพัฒนา) ริมฝั่งลำน้ำชีเป็นทำเลเหมาะสมกว่าเพราะมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดปีและสามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำได้ ในที่สุดพระขัติยวงษา (จัน) ตัดสินใจมีใบบอกไปยังราชสำนักกรุงเทพเพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 4 ขอพระราชทานบ้านลาด กุดยางใหญ่ ให้เป็นเมือง ขอท้าวมหาชัย (กวด) เป็นเจ้าเมือง ท้าวบัวทองเป็นอุปฮาช ท้าวไชยวงษา (ฮึง) บุตรพระยาขัติวงษา (สีลัง) เป็นราชวงษ์ มีข้อสังเกตว่าพระขัติยวงษา (จัน) ได้ขอพระราชทานทั้งบ้านลาดและกุดยางใหญ่เป็นเมืองมหาสารคาม แต่ที่ตั้งเมืองจริงอยู่ที่กุดยางใหญ่
ราชสำนักกรุงเทพมีสารตรามายังพระขัติยวงษา (จัน) ลงวันอังคาร เดือน 10 ขึ้น 1 ค่ำ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช 1227 (ตรงกับ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2408) ดังความตอนหนึ่งว่า ...จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ซึ่งเจ้าพระยาภูธรราภัย พร้อมกับเจ้าพระยานครราชสีมาไล่เลียงแลทำแผนที่เมืองจะตั้งใหม่ เห็นการไม่เกี่ยวข้องแก่บ้านแก่เมืองใดแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ขนานนามบ้านลาด กุดนางใย เป็นเมืองมหาสารคาม พระราชทานนาม สัญญาบัตรประทับพระราชลัญจกร ตั้งท้าวมหาชัยเป็นพระเจริญราชเดช เจ้าเมือง ทำราชการขึ้นแก่เมืองร้อยเอ็ด ให้พระราชทานท้าวมหาชัยผู้เป็นที่พระเจริญราชเดช เจ้าเมืองมหาสารคาม... ต่อมา พ.ศ. 2412 รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ยกฐานะเมืองมหาสารคามและเจ้าเมืองให้สูงขึ้น แล้วแยกจากเมืองร้อยเอ็ดไปขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร
ปราบกบฏฮ่อแก้ไข
ในพุทธศักราช 2417-2419 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ท้าวมหาชัย (กวด) เป็นแม่ทัพ ยกกำลังพล 3 หัวเมืองไปสมทบทัพหลวง ปราบปรามกองทัพจีนฮ่อที่นครเวียงจันทน์ และนครหลวงพระบาง ฝ่ายท้าวมหาชัย (กวด) ได้แสดงความองอาจกล้าหาญจนมีชัยชนะหลายจุด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เลื่อนฐานะท้าวมหาชัย (กวด) ให้เทียบเท่าเจ้าผู้ครองนคร มีการใช้ราชาศัพท์อย่างเจ้าประเทศราชในหอโฮงและคุ้มของเจ้าเมือง สามารถสังเกตได้ในสร้อยราชทินนามว่า "ประเทศราชธำรงค์รักษ์" หมายถึง ผู้ปกป้องรักษาเมืองประเทศราชคือเมืองมหาสารคาม
ปีที่ 3 ของการปราบปรามจีนฮ่อ เป็นปีที่กองทัพไทยมีชัยชนะอย่างเด็ดขาด ท้าวมหาชัย (กวด) ได้นำพลเข้าต่อสู้ปราบปรามอย่างเข้มแข็งยิ่ง ขณะที่กำลังตะลุมบอนท้าวมหาชัย (กวด) ได้ถูกปืนและหอกข้าศึกตกจากหลังม้าอาการสาหัส แม้กระนั้นก็ยังฝืนใจฝืนกายสั่งให้นายทหารแบกร่างของตนเข้าบัญชาการทัพจนมีชัยชนะในที่สุด
เมื่อสิ้นสุดสงครามแล้ว ท้าวมหาชัยได้ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 22 เมษายน พุทธศักราช 2421 เพราะความบอบช้ำสาหัสจากสงคราม สิริรวมชนมายุได้ 43 ปี
พระเจริญูราชเดช (กวด ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) หรือที่ลูกหลานชาวมหาสารคามรู้จักกันในนาม "ท้าวมหาชัย" ได้จากไปนานแล้ว แต่เกียรติยศเกียรติคุณ ของท่านยังตรึงตราอยู่ในความทรงจำของชาวเมืองมหาสารคามอย่างไม่รู้ลืม ท่านเป็นทั้งยอดนักรบ และยอดนักปกครอง เป็นปฐมบุรุษผู้สร้างเมืองมหาสารคาม ประชาชนทั้งหลายได้มอบสมญานามให้แก่ท่านว่า "อาชญาพ่อหลวงมหาชัย"
การพระราชทานนามแก้ไข
ความตอนท้ายในรายงานกิจการจังหวัดมหาสารคาม ประจำปี 2506-2509 เรื่อง ประวัติอาชญาพ่อหลวงมหาชัย ผู้สร้างเมืองมหาสารคาม ได้กล่าวไว้ว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนชั้นท้าวมหาชัยขึ้นเทียบเท่าเจ้าผู้ครองนคร (พุทธศักราช 2418-2419) พระเจริญราชเดช วีรเชษฐ์มหาขัติยพงศ์ รวิวงศ์สุรชาติ ประเทศราชธำรงรักษ์ ศักดิ์กิติยศเกรียงไกร ศรีพิชัยเทพวรฤทธิ์ พิศอนุพงศ์ปรีชา สิงหบุตรสุวัฒนา นคราภิบาล ชาญพิชัยสงคราม และได้พระราชทานเครื่องยศ ดังต่อไปนี้แก่พระเจริญราชเดช (กวด)
1. สร้อยคอประคำทองคำ 108 เม็ด 1 สาย
2. สร้อย เสื้อทรงประพาส หมวกทรงประพาส 1 สำรับ
3. หมวกตุ้มปี่ 1 สำรับ
4. กระบี่บั้งทอง 5 บั้ง 1 กระบี่
5. ปืนชนวนต้นทองแดงเลี่ยมเงิน 1
6. สัปทนปัสตู 1 อัน
7. เสลี่ยงประดับลายกนก ถมตะทองทั้งตัว 1 เสลี่ยง
8. พานหมากกลม ถมตะทอง เครื่องในทองคำล้วน คือ
- จอกหมากทองคำ 2 จอก
- ผอบทองคำ 2 ผอบ
- ตลับขี้ผึ้งทองคำ 2 ตลับ
- ซองพลูทองคำ 2 ชอง
- กรรไกรหนีบหมาก ขาหุ้มทองคำ 1 อัน
- คนโททองคำ 1
- กระโถนเงินถมตะทอง 1
- เสื้อเข้มขาบริ้วดี 1
- เสื้อแพรจินเจา 1
- แพร4ติดขลิบ 1
- ส่านไทยไหมปักทองทั้งผืน 1
- ผ้าปูมเขมร 1
- ผ้าลายเกี้ยว 1
- แพรขาวหงอนไก่ลาย 1
- แพรขาวโล้ 1
การทำงานแก้ไข
- กรมการ เมืองอุบลราชธานี
- กรมการ เมืองร้อยเอ็ด
- เจ้าเมืองมหาสารคาม องค์แรก
ถึงแก่อนิจกรรมแก้ไข
พระเจริญราชเดช (กวด ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) ถึงแก่พิราลัย เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2421
สกุล ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคามแก้ไข
ภวภูตานนท์ เป็นนามสกุลพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ลำดับที่ 1218 พระราชทานแก่พระเจริญราชเดช (อุ่น) กรมการพิเศษเมืองมหาสารคาม กระทรวงมหาดไท มณฑลร้อยเอ็จ (อดีตเจ้าเมืองวาปีปทุมลำดับสุดท้าย) ทวดชื่อราชวงษ์ (หล้า) ปู่ชื่ออุปฮาด (ภู) เมื่อ 12 เมษายน พ.ศ. 2457 เขียนเป็นอักษรโรมันว่า "Bhavabhutananda" ตามประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ 15 ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 31 หน้า 68 ภายหลังเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2462 โปรดเกล้าฯ ให้เติมสร้อย "ณ มหาสารคาม" (na Mahasaragama) เป็น "ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม" (Bhavabhutananda na Mahasaragama) อนึ่งพระเจริญราชเดช (อุ่น) เป็นหลานท้าวบัวทองบุตรอุปฮาด (ภู) ท้าวบัวทองได้ตั้งเมืองมหาสารคามร่วมกับพระเจริญราชเดช (กวด) พระเจริญราชเดช (กวด) เป็นพ่อตาและลุงของพระเจริญราชเดช (อุ่น) เนื่องจากยานางศรีสุมาลย์ (ศรี) ภริยาของพระเจริญราชเดช (อุ่น) เป็นธิดาของพระเจริญราชเดช (กวด)
ก่อนหน้า | พระเจริญราชเดช (กวด ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เริ่มตั้งเมืองมหาสารคาม | เจ้าเมืองมหาสารคาม,ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม (22 สิงหาคม พ.ศ. 2408 - 22 เมษายน พ.ศ. 2421) |
พระเจริญราชเดช (ท้าวไชยวงษา ฮึง ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) |
อ้างอิงแก้ไข
http://www.mahasarakham.go.th/index.htm เก็บถาวร 2012-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
http://www.oknation.net/blog/mahasarakham/2008/05/29/entry-2
http://www.sarakhamclick.com/sarakham/จังหวัดมหาสารคาม/ท้าวมหาชัย-กวด.html เก็บถาวร 2012-06-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน