พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี

พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี เป็นงานพระราชพิธีฉลองพระนครหรือสมโภชพระนครจัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2425 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นวาระที่กรุงเทพอายุ 100 ปี ถือเป็นงานสมโภชพระนครครั้งที่ 2

พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี
วันที่18–21 เมษายน พ.ศ. 2425
ประเทศประเทศสยาม
เหตุการณ์ก่อนหน้าพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 50 ปี
เหตุการณ์ถัดไปพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี
จัดโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรือนซุ้มไม้ไผ่ขนาดใหญ่ ณ ท้องสนามหลวง พ.ศ. 2425 ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี
เหรียญดุษฎีมาลาทอง ไม่ประดับเข็ม สำหรับบุรุษ (ซ้าย)
เหรียญสตพรรษมาลา สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี เมื่อ พ.ศ. 2425 บันทึกภาพจากพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์

การเตรียมงาน แก้

ในครั้งนี้มีการเตรียมงานสมโภชกรุงอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเตรียมงานต่าง ๆ เช่น การหล่อพระบรมรูปรัชกาลที่ 1–4 การบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีคำจารึกในฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ประจำรัชกาลว่า เมื่อครั้นวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2422 ทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ทรงกำหนดอธิษฐานในพระราชหฤทัยว่า หากจะเสด็จดำรงในสิริราชสมบัติยืนยาวสืบไป ก็ขอให้ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามมแล้วเสร็จทันกำหนดสมโภชพระนครรอบร้อยปี[1] จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นนายงานทำการปฏิสังขรณ์พระอาราม อีกทั้งยังมีการจัดตั้งศาลหลวง[2]

การเตรียมงานการแสดงสินค้าแห่งชาติ (National Exhibition) หรือที่เรียกว่า "แนชันนาลเอกษฮีบิชัน"[3] เพื่อรวบรวมบรรดาผลผลิตในกรุงสยามทั้งมวลมาจัดแสดงเพื่อส่งเสริมให้ชาวต่างชาติได้รู้จักสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น[4] งานนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตต่าง ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือจากชาวยุโรปที่รับราชการอยู่กับราชสํานักสยามหลายสิบคน เช่น ชาวอิตาเลียน อังกฤษ และเยอรมัน[5]

รวมถึงการจัดสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ "มหาจักรีบรมราชวงศ์” เหรียญ "ดุษฎีมาลา” และ "สตพรรษมาลา” สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึกในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี[6]

งานพระราชพิธี แก้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ในการจัดงานพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี หรือเรียกกันว่า "สมโภชพระนคร” ขึ้น ณ วันอังคาร ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเมีย จัตวาศก ศักราช 1244 ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2425 โดยนับจากวันฝังเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นต้นมา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2425 และในวันรุ่งขึ้นมีการพระราชทานเหรียญแด่พระน้องยาเธอที่เป็นนายด้านทำการปฏิสังขรณ์[7]

งานฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นในวันจันทร์ เดือน 5 แรม 14 ค่ำ ปีมะแม จัตวาศก ศักราช 1244 ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2425 ตอนเช้าได้อัญเชิญพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท แล้วเลี้ยงพระสงฆ์ทั้งในพระบรมมหาราชวังและรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง จำนวน 1,624 รูป จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ประทับพลับพลาจัตุรมุข ณ ท้องสนามหลวง ทรงก่อพระฤกษ์ศาลหลวง และในตอนบ่ายเสด็จพระราชดำเนินออกทรงโปรยทานและทอดพระเนตรจุดดอกไม้เพลิง ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์[8]

มีการจัดมหรสพฉลองอย่างเอิกเกริมมโหฬารทั้งในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร 7 วัน 7 คืน มีทั้งโขน ละครใน ละครชาตรี หุ่นกระบอก และการละเล่นต่าง ๆ ทั้วบริเวณท้องสนามหลวง และให้มีการละเล่นรอบกำแพงพระนครตามระยะป้อมรวม 18 ตำบล ตามท้องน้ำ 5 ตำบล ที่ป้อมต่างๆ และตามบริเวณกำแพงเมืองมีละคร งิ้ว และการแสดงอื่น ๆ โดยจัดระหว่างวันที่ 18-21 เมษายน พ.ศ. 2425 รวม 4 วัน 4 คืน และมีการแสดงพิพิธภัณฑ์วัตถุ สิ่งของที่ประดิษฐ์ภายในประเทศให้ประชาชนได้ชมที่ท้องสนามหลวง โดยจัดระหว่างวันที่ 26 เมษายน – 1 มิถุนายน พ.ศ. 2425 รวม 52 วัน[9]

อ้างอิง แก้

  1. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 60.
  2. "เทวสถานโบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้า" (PDF). p. 23.
  3. "21เมษารำลึก..งานสมโภชแห่งประวัติศาสตร์! ใน 3รัชกาล พร้อมภาพหาชมยาก เหรียญสมโภชพระนคร!! เหรียญที่ประชาชนได้ร่วมบูรณะวัดพระแก้ว". ทีนิวส์.
  4. ไตรเทพ ไกรงู. "พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประวัติศาสตร์ที่จารึกบนเหรียญแรกของชาติสยาม". คมชัดลึก.
  5. "พบรูปปั้นเต็มตัวพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ที่ลานวัดพระแก้ว". ศิลปวัฒนธรรม.
  6. "สตพรรษมาลา : ที่ระลึกงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี". พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์.
  7. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 70.
  8. "สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์". สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-08. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.
  9. "สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์". สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-08. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.

บรรณานุกรม แก้

  • กรมศิลปากร, จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525. (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงพิมพ์ยูไนเต็ดโปรดักชั่น จำกัด, 2525)