พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์

ชุดหนังสือจากประเทศไทย

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นหนังสือชุดเรื่องพงศาวดารไทยว่าด้วยเรื่องในเหตุการณ์รัชกาลที่ 1–5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์
ประเภทพระราชพงศาวดาร
วันที่เขียน2412
ผู้แต่งเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค)

ประวัติ

แก้

เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ได้เรียบเรียง พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2412 (ในรัชกาลที่ 5) โดยรวบรวมจากเอกสารบ้านเมืองที่เก็บรักษาไว้ตามที่ต่าง ๆ หลายแหล่ง และจากข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งสูงในแผ่นดิน[1] โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้รวบรวมและเรียบเรียงพระราชพงศาวดารเริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 หลังจากที่ท่านได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการในตอนปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะจักษุมืด

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ แม้จะมีวิธีการเขียนพงศาวดารแบบจารีตแต่ก็แทรกด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ รวมถึงมีใช้หลักฐานต่าง ๆ ทั้งจากหลักฐานไทยและจดหมายเหตุของต่างประเทศ

ด้านการตีพิมพ์ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เรียบเรียงพระราชพงศาวดารทั้ง 4 รัชกาล แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทั่ง พ.ศ. 2444 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ตรวจชำระ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ตามพระบรมราชโองการเป็นฉบับแรกและฉบับเดียว มีการจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2444 กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตัดทอนหลายเรื่องออกไปโดยส่วนใหญ่ที่ตัดเป็นเรื่องราวของสถาบันพระมหากษัตริย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์เห็นว่าเพราะอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง[2]

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เรียบเรียงขึ้นใหม่เพราะเห็นว่ามีข้อบกพร่องมาก มีการตีพิมพ์เรียบเรียงแรก พ.ศ. 2459 ส่วนฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มีการตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2504 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 และ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 กรมพระยาดำรงราชานุภาพมิได้ชำระและเรียงเรียงใหม่แต่อย่างใด ทั้งสองเล่มมีการพิมพ์ในสมัยหลัง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเล่มรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 พิมพ์ครั้งแรกในปีเดียวกันคือ พ.ศ. 2477 เป็นหนังสืองานศพ จน พ.ศ. 2504 องค์การค้าคุรุสภาได้จัดพิมพ์ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1–4 พร้อมกัน โดยเป็นฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์[3]

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้นิพนธ์ ลงมือเขียนเมื่อ พ.ศ. 2458[4] พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2493 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภาทรงพิมพ์ ในงานฉลองพระชันษาครบ 5 รอบ[5]

อ้างอิง

แก้
  1. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑". วัชรญาณ.
  2. นิธิ เอียวศรีวงศ์. "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จากอีกแง่มุมหนึ่ง" ศิลปวัฒนธรรม (พฤศจิกายน 2526): 45.
  3. วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ : ประวัติศาสตร์ ไทยยุคใหม่". Journal of Letters. doi:10.58837/CHULA.JLETTERS.17.1.9.
  4. สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5" (PDF). วัชรินทร์การพิมพ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-04-27. สืบค้นเมื่อ 2024-04-27.
  5. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕". วัชรญาณ.