พระยาสายบุรี (หนิดะ)

พระยาสายบุรี (หนิดะ หรือ นิอาดัส) (มลายู : Nik Dah หรือ Nik Adas) เป็นเจ้าเมืองสายบุรีคนแรก ในสมัยปัตตานีถูกแบ่งออกเป็น 7 หัวเมืองประเทศราชของสยาม

ประวัติ แก้

ในอดีตนั้น “เมืองยี่งอ” เป็นส่วนหนึ่งของเมืองสาย (อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน) ถูกสร้างขึ้นโดย “หนิดะ” เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ “ปาฆาร์ รูยง มินัง กาเบาว์” (Pagar Ruyong Minung Kabao) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย (จากการบันทึกของอดุลย์ ณ สายบุรี ทายาทรุ่นที่ 5 ของหนิดะ) และเป็นเชื้อสายเจ้าเดิมที่ปกครองเมืองสายมายาวนาน “หนิดะ” ได้รวบรวมชนชาวพื้นเมืองเดิมสร้างเมืองยี่งอขึ้น ต่อมาเมื่อปัตตานีเสียเมืองให้แก่สยามจนกระทั้งมีการแบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง ได้แก่ ปัตตานี ยะหริ่ง สายบุรี รามัน ระแงะ หนองจิก และ ยะลา โดยพระยาอภัยสงคราม และ พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) แปรเขตแดนเมืองสายบุรีเสร็จ จึงให้ “หนิดะ” เป็นผู้รักษาราชการเมืองสายบุรี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ “หนิดะ” เป็นพระยาสายบุรี ได้ตั้งวังอยู่ที่ ต.บ้านยี่งอ ริมแดนต่อพรมแดนเมืองระแงะ ทางประมาณ 400 ผันเศษ[1] ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) พระยาสายบุรี (หนิดะ) ได้ถึงแก่พิราลัย ศพถูกฝัง ณ สุสานลางา ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าสนามกีฬาเทศบาลตำบลยี่งอ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาสในปัจจุบัน และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ “หนิละไม หรือ ตนกูยาลาลุดดิน” บุตรของพระยาสายบุรี (หนิดะ) เป็นพระยาสายบุรีแทน[2]

สำหรับเมืองสายบุรีนั้นมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานเฉกเช่นเดียวกับเมืองปัตตานี ในฮิกายัตปาตานี กล่าวว่า พญาอินทิรา ผู้เป็นกษัตริย์ปัตตานีพระองค์แรกที่ทรงเข้ารับศาสนาอิสลาม ในราชวงศ์ศรีวังสา หลังจากที่พระองค์ทรงเข้ารับศาสนาอิสลามแล้วได้เปลี่ยนพระนามเป็น สุลต่านอิสมาแอลชาห์ พระองค์มีพระโอรส 2 พระองค์ และพระธิดา 1 พระองค์ พระธิดามีพระนามว่า เจ้าหญิงซีตีอาแอซะห์ ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับเจ้าเมืองสายบุรีที่พระนามว่า รายาญะลาลุดดิน เป็นหลักฐานแสดงว่าเมืองสายบุรีนั้นมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานไม่แพ้เมืองปัตตานี

อ้างอิง แก้

  1. สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา รูปที่ 2
  2. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เมื่องยี่งอ