พระบรมวงศานุวงศ์ในพระเจ้าการ์โลสที่ 4
พระบรมวงศานุวงศ์ในพระเจ้าการ์โลสที่ 4 (สเปน: La familia de Carlos IV) เป็นจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบโดยฟรันซิสโก โกยา จิตรกรชาวสเปน เขาเริ่มวาดภาพนี้ใน ค.ศ. 1800 ไม่นานหลังจากที่เขาได้เป็นจิตรกรหลวงห้องต้นของพระราชวงศ์ และวาดเสร็จในฤดูร้อน ค.ศ. 1801
พระบรมวงศานุวงศ์ในพระเจ้าการ์โลสที่ 4 | |
---|---|
ศิลปิน | ฟรันซิสโก โกยา |
ปี | ค.ศ. 1800–1801 |
สื่อ | ภาพวาดสีน้ำมัน |
มิติ | 280 cm × 336 cm (110 นิ้ว × 132 นิ้ว) |
สถานที่ | พิพิธภัณฑ์ปราโด มาดริด |
ภาพวาดบุคคลนี้แสดงภาพพระเจ้าการ์โลสที่ 4 แห่งสเปนกับพระบรมวงศานุวงศ์ขนาดเท่าจริง ทรงฉลองพระองค์และเครื่องประดับอย่างโอ่อ่า บุคคลหลักในภาพวาดคือพระเจ้าการ์โลสที่ 4 และมาเรีย ลุยซาแห่งปาร์มา สมเด็จพระราชินีพระมเหสีของพระองค์ แวดล้อมไปด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดา รวมถึงพระญาติวงศ์ พระราชวงศ์ทรงฉลองพระองค์ด้วยเครื่องแต่งกายร่วมสมัย พร้อมด้วยเครื่องประดับหรูหราและสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์โลสที่ 3[1]
ภาพวาดนี้จำลองมาจากภาพ พระบรมวงศานุวงศ์ในพระเจ้าเฟลิเปที่ 5 (ค.ศ. 1743) ของหลุยส์-มีแชล วาน โล ใน ค.ศ. 1743 และภาพ นางสนองพระโอษฐ์ ของดิเอโก เบลัซเกซ โดยจัดวางเหล่าข้าราชบริพารในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติคล้าย ๆ กัน[2] ในขณะที่ทุกพระองค์แสดงท่าทางให้จิตรกร มองเห็นได้จากขาตั้งภาพวาดตรงมุมด้านซ้ายของผ้าใบ
คำอธิบายงานจิตรกรรม
แก้ภาพวาดหมู่เสร็จสิ้นหลังจากโกยาได้เป็นจิตรกรหลวงห้องต้นเป็นเวลาหนึ่งปี ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสูงสุดสำหรับจิตรกรชาวสเปนและครั้งหนึ่งเคยเป็นของดิเอโก เบลัซเกซ
โกยาไม่ได้บอกว่าเหตุใดเขาจึงเลือกสร้างแบบจำลองผลงานตามอาจารย์ในอดีต แม้ว่าในเวลานั้นยังไม่มีแนวคิดเกี่ยวกับประเพณีการวาดภาพแบบสเปนก็ตาม บางทีโกยาอาจได้รับแรงบันดาลใจจากช่วงเวลาที่ยากลำบาก หลังจากสิบเอ็ดปีผ่านไปสเปนยังคงต้องรับมือกับผลที่ตามมาของการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งท้ายที่สุดนำมาซึ่งการรุกรานสเปนของจักรพรรดินโปเลียน และพระองค์ได้สถาปนาโฌแซ็ฟ โบนาปาร์ต พระเชษฐาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สเปนใน ค.ศ. 1808[3]
เห็นได้ชัดว่าพระราชวงศ์ได้เข้ามาเยี่ยมชมสถานที่ทำงานของจิตรกร โดยสามารถเห็นโกยาทางด้านซ้ายโดยมองออกไปสู่ผู้ชม[4] ดูเหมือนว่าโกยาจะมุ่งความสนใจไปที่บุคคลทั้งสาม ได้แก่ เจ้าชายแห่งอัสตูเรียสหรือพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 แห่งสเปนในอนาคตซึ่งทรงฉลองพระองค์สีฟ้า พระราชชนนีของพระองค์คือสมเด็จพระราชินีมาเรีย ลุยซา ประทับยืนตรงกลาง และพระเจ้าการ์โลสที่ 4 แม้ว่าภาพนี้จะเป็นภาพที่เป็นทางการ แต่ก็สามารถบ่งบอกถึงความใกล้ชิดระหว่างสมาชิกในพระราชวงศ์ สมเด็จพระราชินีมาเรีย ลุยซาทรงกุมพระหัตถ์พระราชโอรสพระองค์เล็ก แตกต่างจากภาพ นางสนองพระโอษฐ์ ของดิเอโก เบลัซเกซ โดยภาพวาดนี้ไม่ได้แสดงภาพคนรับใช้หรือข้าราชบริพาร ที่สำคัญกว่านั้น โกยาละเว้นโครงสร้างการเล่าเรื่อง เป็นเพียงภาพวาดที่ผู้คนแสดงท่าทางเพื่อให้วาดภาพเท่านั้น[3]
เช่นเดียวกับในภาพ นางสนองพระโอษฐ์ จิตรกรจะแสดงตัวบนผืนผ้าใบซึ่งมองเห็นได้เฉพาะด้านหลังเท่านั้น อย่างไรก็ตามมุมมองบรรยากาศและความอบอุ่นภายในพระราชวังในผลงานของเบลัซเกซกลับถูกแทนที่ด้วยความรู้สึกที่กาซีเยอธิบายว่า "จวนจะอึดอัดหายใจไม่ออก" ในขณะที่ภาพของราชวงศ์ถูกนำเสนอบน "เวทีที่หันหน้าเข้าหาสาธารณชน ในขณะที่จิตรกรซึ่งอยู่ในเงามืดยิ้มอย่างขรึม ๆ แล้วพูดว่า 'ดูพวกพระองค์เหล่านี้ แล้วคุณตัดสินเองแล้วกัน!'"[4]
องค์ประกอบบุคคล
แก้คนที่มองแทบจะไม่เห็นอยู่ในเงามืดเบื้องซ้ายคือตัวโกยาเอง[5] (2) ส่วนคนอื่น ๆ จากซ้ายไปขวาได้แก่
- (1) อินฟันเตการ์โลส มาริอา อิซิโดร (ค.ศ. 1788–1855) — พระราชโอรสองค์ที่สองในกษัตริย์
- (3) พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 แห่งสเปน ในอนาคต (ค.ศ. 1784–1833) — พระราชโอรสองค์ใหญ่ในกษัตริย์
- (4) อินฟันตามาริอา โฆเซฟา (ค.ศ. 1744–1801) — พระเชษฐภคินีในกษัตริย์
- (5) เจ้าหญิงมารีอา อันโตนีอาแห่งเนเปิลส์และซิซิลี — ในช่วงที่วาดภาพ พระนางยังไม่ได้เสกสมรสกับเจ้าชายแห่งอัสตูเรียส (แต่คาดว่าจะได้เสกสมรสในอนาคตอันใกล้ดังนั้นจึงสามารถอธิบายได้ว่ามีความพยายามจงใจปิดพระพักตร์ของพระนาง)
- (6) อินฟันตามาริอา อิซาเบล (ค.ศ. 1789–1848) — พระราชธิดาในกษัตริย์
- (7) มาเรีย ลุยซาแห่งปาร์มา สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน (ค.ศ. 1751–1819) — พระมเหสีในกษัตริย์
- (8) อินฟันเตฟรันซิสโก เด เปาลา (ค.ศ. 1794–1865) — พระราชโอรสองค์เล็กในกษัตริย์
- (9) พระเจ้าการ์โลสที่ 4 แห่งสเปน (ค.ศ. 1748–1819)
- (10) อินฟันเตอันโตนิโอ ปัสกวล (ค.ศ. 1755–1817) — พระอนุชาในกษัตริย์
- (11) อินฟันตาการ์โลตา โฆอากินา (ค.ศ. 1775–1830 เห็นเพียงพระเศียร) — พระราชธิดาองค์ใหญ่ในกษัตริย์
- (12) ลูโดวีโกแห่งปาร์มา (ค.ศ. 1773–1803) — พระชามาดาของกษัตริย์
- (13) พระโอรสของลูโดวีโกและอินฟันตามาริอา ลุยซา คือ การ์โล ลูโดวีโก (ค.ศ. 1799–1883) — ดยุคแห่งปาร์มาในอนาคต[6]
- (14) อินฟันตามาริอา ลุยซา (ค.ศ. 1782–1824) — พระราชธิดาในกษัตริย์และเป็นมเหสีในลูโดวีโกแห่งปาร์มา ทรงอุ้มพระโอรส (หมายเลข 13)
การตีความ
แก้เตออฟีล โกตีเย นักเขียนชาวฝรั่งเศส เรียกภาพวาดนี้ว่า "ภาพของพ่อค้าร้านขายของชำที่เพิ่งถูกรางวัลลอตเตอรี่" และบางครั้งมีคนอธิบายว่าโกยาพยายามเสียดสีบุคคลในภาพของเขาในทางใดทางหนึ่ง รอเบิร์ต ฮิวส์ นักวิจารณ์ศิลปะ ปฏิเสธแนวคิดนี้ว่า "เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะถ้าคุณล้อเลียนคนที่คุณวาดภาพ คุณก็ไม่สามารถรักษางานและตำแหน่งในราชสำนักได้ ไม่ นี่ไม่ใช่การเสียดสี แต่เป็นการกระทำที่เยินยอ ตัวอย่างเช่นทางด้านซ้าย บุคคลในชุดสีฟ้า คือหนึ่งในคางคกตัวน้อยที่น่ารังเกียจที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของสเปน ซึ่งก็คือ พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 ในอนาคต ซึ่งโกยาสามารถสร้างความสง่างามได้อย่างแท้จริง พระเจ้าทรงรู้ว่าเขาสามารถทำได้ นี่เป็นการแสดงความเคารพอย่างมาก จนเกือบจะเป็นการเยินยอ"[7]
สิ่งที่โดดเด่นในภาพเหมือนของโกยา คือความใกล้ชิดในพระบรมวงศานุวงศ์และบทบาทสำคัญของสมเด็จพระราชินีในฐานะผู้ปกครองหญิง พระนางได้แสดงออกถึงความมีลูกดกและทรงถูกขนาบข้างด้วยครอบครัวของพระนาง เมื่อมองไกลจากการเสียดสีที่โหดร้าย จะเห็นได้ว่าการแสดงภาพราชวงศ์ของโกยา เป็นภาพในอุดมคติและไม่คำนึงว่าพระราชินีมาเรีย ลุยซา พระชนมพรรษาสี่สิบแปดพรรษาทรงมีหน้าตาเป็นอย่างไร ทูตรัสเซียบรรยายถึงพระนางเมื่อสิบเอ็ดปีก่อนภาพวาดนี้ว่า "การที่มีประสูติกาลซ้ำ ๆ อาการประชวร และอาจมาจากการเจ็บป่วยทางพันธุกรรมได้ส่งผลเสียต่อพระนางด้วย ผิวพรรณเหลืองซีดและการสูญเสียพระทนต์ซึ่งเป็นความงามชิ้นสุดท้ายของพระนาง"[8] จริงอยู่ที่รอยยิ้มอันว่างเปล่าของพระราชินี (เกิดจากพระทนต์ปลอมหยาบ ๆ) ผิวที่หย่อนคล้อยและซีดจางตัดกับชุดและอัญมณีอันหรูหรา และรูปลักษณ์โดยรวมของพระนางที่ชราภาพจนโทรม ทำให้เกิดการเสียดสี แต่การประเมินเชิงอัตวิสัยนี้ไม่เพียงขัดต่อการนำเสนอทักษะในฐานะจิตรกรของโกยาต่อหน้าสาธารณะ แต่ยังรวมถึงการประมาณค่าที่ชัดเจนของจิตรกรเช่นเขาที่ได้รับการอุปถัมภ์จากราชวงศ์สเปน[9]
จอห์น เจ. ซิโอฟาโล เขียนว่า "ในขณะที่เบลัซเกซพยายามเชื่อมช่องว่างระหว่างศิลปะกับความเป็นจริงของโลกธรรมชาติ แต่โกยาก็พยายามที่จะเชื่อมช่องว่างระหว่างศิลปะกับความเป็นจริงของจิตใจของเขาเอง" ซึ่งเป็นผลพวงมาจากยุคจินตนิยม ครั้งหนึ่งเราต้องดูภาพ นางสนองพระโอษฐ์ แล้วต้องระบุว่าเป็นของจริงเท่านั้น ส่วนภาพ พระบรมวงศานุวงศ์ในพระเจ้าการ์โลสที่ 4 ของโกยา ไม่เคยถูกระบุว่าเป็นจริง ใคร ๆ ก็สันนิษฐานได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลจากความคิดและจินตนาการของโกยา[10]
เชิงอรรถ
แก้- ↑ "The Family of Carlos IV". Museo del Prado. Retrieved 23 July 2018
- ↑ Gassier (1995), 69–73
- ↑ 3.0 3.1 Tomlinson, p. 150
- ↑ 4.0 4.1 Gassier (1989), 66
- ↑ De la Croix, Horst; Tansey, Richard G.; Kirkpatrick, Diane (1991). Gardner's Art Through the Ages (9th ed.). Thomson/Wadsworth. p. 887. ISBN 0-15-503769-2.
- ↑ Edward J. Olszewski – Exorcising Goya's "The Family of Charles IV" เก็บถาวร 2012-12-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Goya, Crazy like a Genius, An Oxford Film and Television Production for BBC and RM associates
- ↑ Ciofalo, John J. (2001). The Self-Portraits of Francisco Goya. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 48–50. ISBN 0-521-77136-6. OCLC 43561897.
- ↑ Ciofalo, John J. (2001). The Self-Portraits of Francisco Goya. Cambridge: Cambridge University Press. p. 50. ISBN 0-521-77136-6. OCLC 43561897.
- ↑ Ciofalo, John J. (2001). The Self-Portraits of Francisco Goya. Cambridge: Cambridge University Press. p. 53. ISBN 0-521-77136-6. OCLC 43561897.
อ้างอิง
แก้- Buchholz, Elke Linda. Francisco de Goya. Cologne: Könemann, 1999. ISBN 3-8290-2930-6
- Davies, Denny, Hofrichter, Jacobs, Roberts, Simon. Janson's History of Art. Prentice Hall, London, 2011. 824–825. ISBN 0-205-68517-X
- Gassier, Pierre. Goya. Rizzoli International Publications, 1989. ISBN 0-8478-1108-5
- Gassier, Pierre. Goya: Biographical and Critical Study. New York: Skira, 1995. 69–73
- Tomlinson, Janis. From El Greco to Goya: Painting in Spain from 1561-1828. Laurence King, 2012. ISBN 978-1-7806-7028-7
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ La familia de Carlos IV