พรรคประชาชนมาเลเซีย

พรรคประชาชนมาเลเซีย (มลายู: Parti Rakyat Malaysia, PRM) เป็นพรรคการเมืองนิยมสังคมนิยมประชาธิปไตยในมาเลเซีย ก่อตั้งเมื่อ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ในชื่อ พรรคประชาชน (Partai Ra'ayat) จัดเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่พรรคหนึ่งในมาเลเซีย และเคยเข้าร่วมในขบวนการต่อต้านอาณานิคมในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

จุดเริ่มต้น แก้

ผู้ก่อตั้งพรรคคืออะห์หมัด โบเอสตามัน ซึ่งเป็นนักกิจกรรมของขบวนการฝ่ายซ้าย เกอซาตวนเมอลายูมูดา (Kesatuan Melayu Muda) ระหว่างที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองมลายู[1][2] เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ขบวนการที่มีเป้าหมายในการต่อต้านญี่ปุ่นได้สลายตัวไป และนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายในมาเลเซียได้จัดตั้งขบวนการใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย เช่น พรรคชาตินิยมมลายู, องค์การยุวชนตื่นตัว, องค์กรสตรีตื่นตัว โบเอสตามันเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนของพรรคชาตินิยมมลายูและองค์การยุวชนตื่นตัวในการเข้าร่วมสภาความร่วมมือมลายาทั้งหมดใน พ.ศ. 2489 และเป็นเครื่องมือในการแยกขบวนการฝ่ายซ้ายของมลายูออกจากอัมโน[3]

การต่อต้านสหภาพมลายาที่เสนอโดยอังกฤษในฐานะที่เป็นทางเลือกของกรอบรัฐธรรมนูญได้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างอัมโนกับตัวแทนของสุลต่านมลายู มีข้อเสนอที่เรียกว่าข้อเสนอร่างรัฐธรรมนูญสำหรับมลายาได้พัฒนาขึ้นมาโดยความร่วมมือระหว่างอัมโนกับตัวแทนของผู้ปกครองชาวมลายู[4] ข้อเสนอนี้ถูกต่อต้านโดยประชากรที่ไม่ใช่ชาวมลายู รวมทั้งนักชาตินิยมที่ต้องการกำหนดทิศทางด้วยตนเองและมลายาที่เป็นเอกราช การรวมตัวกันของการต่อต้านอังกฤษโดยขบวนการทางการเมืองที่หลากหลายทั้งที่เป็นชาวมลายูและเชื้อชาติอื่น ทำให้มีการตั้งแนวร่วมอย่างกว้างขวางในชื่อแนวร่วมสหประชาชน ซึ่งเป็นแนวร่วมของขบวนการอย่างพรรคชาตินิยมมลายู องค์การยุวชนตื่นตัว และอื่น ๆ ที่เป็นตัวแทนของชาวมลายู และสภาความร่วมมือมลายาทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวแทนของเชื้อชาติอื่น แนวร่วมอื่น ๆ ได้แก่ สภาชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย สหภาพประชาธิปไตยมลายาและอื่น ๆ

แนวร่วมสหประชาชนและสภาความร่วมมือมลายาทั้งหมดได้ออกข้อเสนอที่เรียกข้อเสนอรัฐธรรมนูญประชาชน[5] อย่างไรก็ตาม ทั้งสององค์การล้มเหลวที่จะให้นำข้อเสนอดังกล่าวไปเป็นรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐมลายาที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2491 องค์การยุวชนตื่นตัวถูกคว่ำบาตรเมื่อ เมื่อ 20 มีนาคม พ.ศ. 2491 ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองมลายาพรรคแรกที่ถูกคว่ำบาตรจากรัฐบาลs[6] โบเอสตามันถูกจับกุมเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเกิดขึ้นเมื่อ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 ทำให้นักกิจกรรมฝ่ายซ้ายถูกจับกุมจำนวนมากส่วนที่หลบหนีไปได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา

การก่อตั้ง แก้

หลังจากผู้ที่ถูกจับกุมถูกปล่อยตัวใน พ.ศ. 2498 โบเอสตามันได้รวบรวมกลุ่มผู้ที่สนับสนุนมาจัดตั้งพรรคประชาชนเมื่อ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 โดยมีแนวคิดชาตินิยมและสังคมนิยมประชาธิปไตย พรรคประชาชนได้เป็นแนวร่วมกับพรรคแรงงานแห่งมาเลเซียซึ่งเรียกแนวร่วมสังคมนิยมประชาชนมลายา หรือแนวร่วมสังคมนิยมซึ่งจดทะเบียนเมื่อ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2501[7]

มีการจัดตั้งสาขาของพรรคประชาชนในบรูไนและสิงคโปร์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพรรคประชาชนบรูไนและพรรคประชาชนสิงคโปร์ พรรคที่เป็นสาขาทั้งสองพรรคนี้หมดบทบาทไปเมื่อพรรคประชาชนบรูไนถูกคว่ำบาตรใน พ.ศ. 2505 ส่วนพรรคประชาชนสิงคโปร์ไม่เคยประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง เชื่อว่าพรรคประชาชนบรูไนยังคงมีกิจกรรมแบบพลัดถิ่น[8] ส่วนพรรคประชาชนสิงคโปร์ยังเป็นพรรคการเมืองจดทะเบียนในสิงคโปร์[9]

ความสำเร็จในช่วงแรก แก้

แนวร่วมสังคมนิยมประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งในช่วงแรก โดยได้รับเลือกตั้งในเขตเมือง โดยเฉพาะกัวลาลัมเปอร์และโจโฮร์บะฮ์รู ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2502 เมื่อมีแผนจะจัดตั้งมาเลเซียใน พ.ศ. 2504 แนวร่วมสังคมนิยมได้ร่วมกับกลุ่มที่คัดค้านการตั้งมาเลเซีย

การกลั่นแกล้ง แก้

หลังจากเกิดการเผชิญหน้าระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซียใน พ.ศ. 2505 สถานะของพรรคกลายเป็นกลุ่มที่นิยมอินโดนีเซีย และต่อต้านชาติของตนเอง ผู้นำพรรคฝ่ายต่อต้านหลายคนถูกจับรวมทั้งโบเอสตามัน ทำให้แนวร่วมสังคมนิยมอ่อนแอลงในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2507 และพรรคประชาชนได้ถอนตัวออกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2508

การฟื้นฟู แก้

ในช่วงที่เกิดสุญญากาศของอำนาจ กลุ่มปัญญาชนหนุ่มนำโดยกัสซิม อะหมัดได้เข้าควบคุมพรรคและเปลี่ยนชื่อพรรคเป็นพรรคสังคมนิยมประชาชนมาเลเซีย (Parti Sosialis Rakyat Malaysia) ในช่วง พ.ศ. 2517–2519 มีผู้นำของพรรคหลายคนถูกจับรวมทั้งกัสซิม อะหมัด แต่พรรคก็ยังดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อมา

ใน พ.ศ. 2532 พรรคเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาชนมาเลเซีย กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อพรรคหันไปตั้งพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย พรรคใหม่นี้เข้าร่วมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2533 แต่ไม่ได้รับเลือก พรรคยังคงเข้าร่วมการเลือกตั้ง จน พ.ศ. 2542 ได้รวมเข้ากับพรรคยุติธรรมแห่งชาติ ก่อนจะแยกตัวออกมาอีกครั้งใน พ.ศ. 2548

อ้างอิง แก้

  1. Boestamam, Ahmad; William R. Roff (1979). Carving the Path to the Summit. Athens: Ohio University Press. p. 149. ISBN 0-8214-0409-1.
  2. Noor, Farish (21 September 2006). "The Broken Dream of Malaya-Raya: Ibrahim Yaakob and the Rise of the Malay Left. (Part 2 of 3)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-06. สืบค้นเมื่อ 20 June 2008.
  3. Fan, Yew Teng (3 November 2007). "Some Umno myths young Malaysians should know about". Malaysia Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-23. สืบค้นเมื่อ 20 June 2008.
  4. Sepuluh Tahun Sebelum Merdeka: Summary of the Constitutional Proposals for Malaya[ลิงก์เสีย]
  5. Sepuluh Tahun Sebelum Merdeka: The People's Constitutional Proposal for Malaya[ลิงก์เสีย]
  6. Harper, Timothy Norman (1999). The End of Empire and the Making of Malaya. Cambridge: Cambridge University Press. p. 417. ISBN 0-521-00465-9.
  7. Penang Story: Facing Up to Storm Clouds : The Labour Party of Malaya, Penang Division, 1963 – 1969 เก็บถาวร 2011-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. Link2Exports.com : Brunei Country Profile เก็บถาวร 2006-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 20 June 2008.
  9. Lianhe Zaobao: 新加坡政党名单 (in Chinese)