ผู้ใช้:Dhamma sunton/กระบะทราย

ที่ตั้ง

แก้

บ้านเพิ่ม ตำบลนาแค อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอนายูงทางทิศตะวันตก ประมาณ 26 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดอุดรธานี ประมาณ 134 กิโลเมตร

ประวัติความเป็นมา

แก้

ชาวบ้านเพิ่ม ตำบลนาแค อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี เดิมทีได้อพยพมาแต่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านยังคงพูดลาวเหนือ ซึ่งเป็นภาษาโบราณและมีวิวัฒนาการทางด้านภาษาในแถบอาณาจักรล้านช้าง จากตำนานพญาไชย ที่ผู้สูงอายุในหมู่บ้านได้เล่าสืบต่อๆกันมาว่า พญาไชย เป็นบรรพบุรุษต้นตระกูลของชาวบ้านเพิ่ม เดิมอาศัยอยู่เมืองเชียงดงล้านช้าง ได้พาครอบครัวอพยพทางเรือตามแม่น้ำโขงมาอาศัยอยู่แถบเมืองสานะคาม(ชนะคาม) ประเทศลาว และได้ข้ามฝั่งมาอาศัยอยู่บริเวณอำเภอเชียงคาน ซึ่งปรากฎมีลูกหลานสืบมาคือ ครอบครัวท้าวหนัน ครอบครัวท้าวพรหมาและครอบครัวท้าวตา ซึ่งทั้ง 3 ครอบครัวเป็นญาติพี่น้องกัน และเป็นผู้บุกเบิกสร้างหมู่บ้านเพิ่ม ถึงปี พ.ศ.2445 ทั้ง 3 ครอบครัว ได้พากันอพยพย้ายจากเมืองเชียงคาน เดินลัดเลาะป่าเขาข้ามภูหลวง มาถึงบริเวณพื้นที่ราบเชิงเขาและเป็นป่าดิบเขาอันอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่า และในบริเวณดังกล่าวนี้ ยังปรากฏร่องรอยอันเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนหลายสมัย จึงพากันตั้งถิ่นฐานในบริเวณลำห้วยรางและลำห้วยชะโนดบรรจบกัน และได้ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และหาหัวเผือกหัวมันป่าต้มกินแทนข้าว ซึ่งในบริเวณนั้นเต็มไปด้วยหัวมันป่าชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า มันเผิ่ม ต่อมาจึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า บ้านเพิ่ม สืบมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนครอบครัวท้าวพรหมา(ทองมา) มีภรรยาชื่อ นางปัตทุมมา(ทุมมา) มีบุตรธิดาทั้งหมดเกิดที่บ้านเพิ่มรวม 9 คน คือ นางบุญมา, นางคา (เสียชีวิตตอนเด็ก), นางทีป (เสียชีวิตตอนเด็ก), นางพิม, นางใส, นายทอก, นางทั่น, นายป้อง และนางวันทอง ซึ่งทุกท่านได้เสียชีวิตแล้ว

ในปี พ.ศ. 2449 ปรากฏพื้นที่บริเวณบ้านเพิ่ม อยู่ภายใต้ในการปกครองของสยามประเทศ คือ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (โพธิ์ เนติโพธิ์) ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลอุดร ปกครอง 5 บริเวณ คือ บริเวณหมากแข้ง บริเวณธาตุพนม บริเวณสกลนคร บริเวณพาชี และบริเวณน้ำเหือง สำหรับในบริเวณหมากแข้ง พระรังสรรคสรกิจ (เลื่อน) เป็นข้าหลวงบริเวณ คือ เมืองอุดรธานี พระประทุมเทวาภิบาล (เสือ) เป็นผู้ว่าราชการเมือง พระอนุรักษ์ประชาราษฎร์ เป็นผู้ช่วยผู้ว่าราชการเมือง แบ่งเป็น 8 อำเภอ คือ อำเภอหมากแข้ง อำเภอหนองค่าย อำเภอท่าบ่อ อำเภอหนองหาร อำเภอเมืองกมุทธาไสย อำเภอโพนพิสัย อำเภอกุมภวาปี และอำเภอรัตนวาปี ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่ออำเภอกมุทธาไสยเป็น เมืองหนองบัวลำภู และในปี พ.ศ.2450 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เมืองหนองบัวลำภูขึ้นตรงกับเมืองอุดรธานีเป็น อำเภอหนองบัวลำภู โดยมี พระวิจารณ์กมุทธกิจ เป็นนายอำเภอคนแรก

ในปี พ.ศ.2454 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 บ้านเพิ่มอยู่ในการปกครองของอำเภอหนองบัวลำภู ได้มีเจ้าหน้าที่อำเภอได้มาสำรวจพื้นที่และจำนวนประชากร จัดทำบัญชีสำมะโนครัว และจัดตั้งให้มีการปกครองระดับหมู่บ้าน ชาวบ้านเพิ่มจึงมีมติเลือกตั้งให้ ท้าวหนัน เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ถึงปี พ.ศ.2458 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้นครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นชาวบ้านเพิ่มรวมทั้งหมดได้ 9 ครอบครัว ได้พร้อมใจกันตั้งนามสกุลว่า เทพพญาไชย เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของ พญาไชย ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านเพิ่ม ต่อมาทางเจ้าหน้าที่อำเภอเห็นว่าไม่เหมาะสม จึงได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น ไชยนนท์ สืบมาจนถึงปัจจุบัน จากนั้นปรากฏมีผู้คนอันเป็นญาติพี่น้องเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเพิ่ม คือ สายที่ 1 เดิมอยู่เมืองเชียงคาน แล้วย้ายมาอยู่บ้านเพิ่ม สายที่ 2 เดิมอยู่เมืองน้ำปาด ต่อมาได้ย้ายมาอยู่เมืองเชียงคาน และย้ายมาอยู่บ้านเพิ่ม และสายที่ 3 เดิมอยู่แขวงเมืองเวียงจันทร์ แล้วย้ายมาอยู่บ้านเพิ่ม ถึงปี พ.ศ.2460 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รวมหัวเมืองมณฑลอุดรเข้าเป็นเมืองจัตวา 7 เมือง คือ เมืองอุดรธานี เมืองขอนแก่น เมืองเลย เมืองสกลนคร เมืองนครพนม เมืองหนองคาย และเมืองโพนพิสัย ส่วนเมืองอุดรธานีนั้นให้รวม เมืองหนองบัวลำภู เมืองกุมภวาปี เมืองหนองหาร และอำเภอบ้านหมากแข้ง ตั้งเป็นเมืองจัตวา เรียกว่า เป็นที่ตั้งที่ว่าการมณฑลอุดร ถึงปี พ.ศ.2464 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมมณฑลอุดร มณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ด เป็นภาค เรียกว่า ภาคอีสาน ตั้งที่บัญชาการมณฑลภาคที่ เมืองอุดรธานี โดยมี เจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ เปาวโรหิต) ดำรงตำแหน่งอุปราชภาคอีสานและเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ในปีนี้บ้านเพิ่มมีการเลือกตั้งได้ นายจำปี จำปาฤทธิ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2

ในปี พ.ศ.2468 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7 ได้ทรงประกาศยกเลิกภาคอีสาน และโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยามุขมนตรี ย้ายไปดำรงตำแหน่ง สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ ถึงปี พ.ศ.2470 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาอดุลยเดชสยามเมศรวรภักดี (อุ้ย นาครธรรพ) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ในปีนี้บ้านเพิ่มมีการเลือกตั้งได้ นายก้อน ผิวศิริ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 ถึงปี พ.ศ.2473 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาตรังคภูมาภิบาล (เจิม ปันยารชุน) เป็นผู้รั้งสมุหเทศาภิบาลอุดรคนสุดท้าย ถึงปี พ.ศ.2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยได้ยกเลิกมณฑลต่าง ๆ มณฑลอุดรจึงถูกคงฐานะเป็น จังหวัดอุดรธานี ถึงปี พ.ศ.2476 บ้านเพิ่มมีการเลือกตั้งได้ นายตุ้ม ไชยนนท์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4

ในปี พ.ศ.2477 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 8 ทางจังหวัดอุดรธานีได้ตั้ง อำเภอบ้านผือ บ้านเพิ่มจึงขึ้นอยู่ในการปกครองของ ตำบลน้ำโสม อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี โดยมี พระบริบาลภูมิเขต เป็นนายอำเภอคนแรก ถึงปี พ.ศ.2481 บ้านเพิ่มมีการเลือกตั้งได้ นายป้อง บุญหา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 ถึงปี พ.ศ.2484 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องจัดการรวมจังหวัดต่างๆ ยกขึ้นเป็นภาค รวม 5 ภาค ดังนั้น จังหวัดอุดรธานีจึงขึ้นกับภาค 3 ซึ่งมีที่ทำการภาคอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยภาค 3 มีจังหวัดสังกัดรวม 15 จังหวัด

ถึงปี พ.ศ.2491 ตรงกับสมัยรัชกาล 9 บ้านเพิ่มมีการเลือกตั้งได้ นายบาน ไชยนนท์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 6 และปี พ.ศ.2492 บ้านเพิ่มมีการเลือกตั้งได้ นายป้อง บุญหา (วาระที่ 2) เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 7 ถึงปี พ.ศ.2494 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเขตภาคขึ้นใหม่ เป็น 9 ภาค ดังนั้น จังหวัดอุดรธานีจึงเป็นจังหวัดที่ตั้งของภาค 4 ถึงปี พ.ศ.2495 ได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค คือ ภาค จังหวัด และอำเภอ ได้ยกเลิกคณะกรมการจังหวัด เปลี่ยนเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงปี พ.ศ.2499 ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ในส่วนกลางและในราชการส่วนภูมิภาค ได้ยกเลิกภาคคงเหลือแต่ จังหวัดและอำเภอ ในปีนี้บ้านเพิ่มมีการเลือกตั้งได้ นายมา เขียนศิริ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 8 ถึงปี พ.ศ.2500 บ้านเพิ่มได้มีการเลือกตั้งได้ นายเพชร ทุมมณี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 9 ถึงปี พ.ศ.2503 บ้านเพิ่มมีการเลือกตั้งได้ นายบาน ไชยนนท์ (วาระที่ 2) เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 10 ถึงปี พ.ศ.2510 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จมาทรงเยี่ยมเยือนตำรวจตระเวนชายแดนและพสกนิกรที่ วัดกลางแหลมทอง ตำบลน้ำโสม ทรงมีพระราชดำริว่า “ชุมชนแห่งนี้สมควรตั้งเป็นกิ่งอำเภอได้แล้ว เพราะอยู่ห่างไกลและธุรกันดารจากตัวอำเภอบ้านผือ” ถึงปีพ.ศ.2512 ได้ยกฐานะ 5 ตำบล คือ ตำบลน้ำโสม ตำบลนางัว ตำบลหนองแวง ตำบลบ้านหยวก และตำบลนายูง ขึ้นเป็น กิ่งอำเภอน้ำโสม บ้านเพิ่มจึงขึ้นอยู่ในการปกครองของ ตำบลนายูง กิ่งอำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี โดยมี ร้อยเอกกฤษฏินทร์ แซงบุญเรือง ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ ผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอน้ำโสม ถึงปี พ.ศ.2514 บ้านเพิ่มมีการเลือกตั้งได้ นายสุวรรณ อาจสยาม เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 11 ถึงปีพ.ศ.2517 กิ่งอำเภอน้ำโสม ได้ยกฐานะเป็น อำเภอน้ำโสม บ้านเพิ่มจึงขึ้นอยู่ในการปกครองของ ตำบลนายูง อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี โดยมี ร้อยเอกสุรพล ผิวรัตน์ เป็นนายอำเภอคนแรก ในปีนี้บ้านเพิ่มมีการเลือกตั้งได้ นายโสม สุวรรณสิงห์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 12 ถึงปี พ.ศ.2525 บ้านเพิ่มได้มีการเลือกตั้งได้ นายคำไฮ วงษ์สิมมา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 13 ถึงปี พ.ศ.2526 ทางหน่วยงานราชการและประชาชนในเขตอำเภอน้ำโสม มีมติให้สร้าง อนุสาวรีย์วีรชนเมืองน้ำโสม เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงวีรชนอันประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ พลเรือน อาสาสมัคร ฯลฯ ประมาณ 82 ราย ที่เสียชีวิตในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาตั้งค่ายทหารในบริเวณบ้านเพิ่ม(วัดทวีวิหารและโรงเรียนบ้านเพิ่มอรุโณอุปถัมภ์) ซึ่งมีการสู้รบกันจนเสียชีวิต ถึงปี พ.ศ.2531 ได้ยกฐานะ 5 ตำบล คือ ตำบลน้ำโสม ตำบลนายูง ตำบลบ้านก้อง ตำบลโนนทอง และตำบลนาแค ขึ้นเป็น กิ่งอำเภอนายูง บ้านเพิ่ม หมู่ 2 จึงขึ้นอยู่ในการปกครองของตำบลนาแค กิ่งอำเภอนายูง ในปีนี้ได้มีการเลือกตั้งได้ นายทองจันทร์ อาจสยาม เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 14 ถึงปีพ.ศ.2538 กิ่งอำเภอนายูง ได้ยกฐานะเป็น อำเภอนายูง บ้านเพิ่มจึงขึ้นอยู่ในการปกครองของ ตำบลนาแค อำเภอนายูง โดยมี นายนาวี อรรถวิภาค เป็นนายอำเภอคนแรก ถึงปีพ.ศ.2540 ได้รับยกฐานะจากสภาตำบลนาแคเป็น องค์การบริหารส่วนตำบลนาแค ถึงปี พ.ศ.2544 ได้มีมติเห็นชอบให้ตั้ง บ้านเพิ่ม หมู่ 7 มีการเลือกตั้งได้ นายสงัด เขียนศิริ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

ในปัจจุบัน บ้านเพิ่ม หมู่ 2 มี นายวัตร ไชยนนท์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 15 และบ้านเพิ่ม หมู่ 7 มี นายวิรุจน์ ทุมณี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2