ผีแห่งไฮล์บร็อน

ผีแห่งไฮล์บร็อน (เยอรมัน: Heilbronner Phantom; ฝรั่งเศส: Fantôme de Heilbronn) หรืออีกชื่อคือ สตรีไร้หน้า (เยอรมัน: Frau ohne Gesicht; ฝรั่งเศส: Femme sans visage) หมายถึงสตรีไม่ทราบชื่อที่สันนิษฐานกันว่าเป็นฆาตกรต่อเนื่องโดยอนุมานจากหลักฐานดีเอ็นเอที่พบในที่เกิดเหตุอาชญากรรมหลายแห่งในประเทศออสเตรีย ฝรั่งเศส และเยอรมนีตั้งแต่ปี 1993 ถึง 2009 เหตุฆาตกรรมหกครั้งในบรรดาอาชญากรรมดังกล่าวรวมถึงเหตุฆาตกรรมมีเช็ล คีเซอเว็ทเทอร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองไฮล์บร็อนของเยอรมนี เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2007

อนุสรณ์ที่จุดเกิดเหตุฆาตกรรมคีเซอเว็ทเทอร์

ความเชื่อมโยงเพียงอย่างเดียวระหว่างอาชญากรรมแต่ละครั้งคือดีเอ็นเอของสตรีคนเดียวกันที่พบในจุดเกิดอาชญากรรมกว่า 40 จุด ตั้งแต่ฆาตกรรมไปจนถึงโจรกรรม ในปลายเดือนมีนาคม 2009 เจ้าหน้าที่สืบสวนได้สรุปว่าไม่มี "อาชญากรผี" ดังที่เชื่อกัน ดีเอ็นเอที่พบในจุดเกิดอาชญากรรมทุกจุดนั้นปรากฏอยู่ที่ไม้พันสำลีที่ใช้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอตั้งแต่แรกแล้ว และดีเอ็นเอดังกล่าวเป็นของสตรีคนหนึ่งที่ทำงานในโรงงานผลิตไม้พันสำลีที่ตำรวจใช้[1]

การสืบสวน แก้

ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอในไมโทคอนเดรียจากตัวอย่างที่เก็บได้ในออสเตรียแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะที่มักพบในชาวยุโรปตะวันออก ผลดีเอ็นเอจากการสืบสวนของเยอรมนีไม่สามารถบอกข้อมูลนี้ได้ เนื่องจากในเวลานั้นการวิเคราะห์ดีเอ็นเอสามารถบอกลักษณะเฉพาะได้เพียงบางอย่างเท่านั้น เช่น เพศ[2] อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2008 เจ้าหน้าที่บางส่วนเริ่มสงสัยว่าหลักฐานเหล่านี้อาจทำให้การสืบสวนไขว้เขว และการปรากฏของดีเอ็นเออาจมาจากการปนเปื้อนของตัวอย่าง ต่อมาจึงยืนยันว่าเป็นเช่นนั้นจริงในปี 2009[3][4]

ไม้พันสำลีที่หน่วยงานตำรวจของรัฐหลายรัฐนำมาใช้ถูกพบว่ามีการปนเปื้อนก่อนการขนส่ง โดยปรากฏว่าไม้พันสำลีที่ปนเปื้อนทั้งหมดมาจากโรงงานเดียวกันซึ่งมีลูกจ้างเป็นสตรีชาวยุโรปตะวันออกหลายคนที่เข้าข่ายว่าจะมีดีเอ็นเอสอดคล้องกันกับดีเอ็นเอที่พบในจุดเกิดอาชญากรรม ในขณะที่ตำรวจรัฐไบเอิร์นใช้ไม้พันสำลีจากโรงงานอื่น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงไม่พบดีเอ็นเอของ "ผี" นี้ในรัฐไบเอิร์นเลย ทั้ง ๆ ที่รัฐนี้อยู่ใกล้กับจุดเกิดอาชญากรรมหลายจุดที่พบดีเอ็นเอดังกล่าว[4]

อาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง แก้

ดีเอ็นเอของ "ผี" พบในตัวอย่างที่เก็บได้จากจุดเกิดอาชญากรรมดังต่อไปนี้:

  • ที่แก้วน้ำในที่เกิดเหตุฆาตกรรมสตรีอายุ 62 ปี เมื่อวันที่ 25–26 พฤษภาคม 1993 ในเมืองอีดาร์-โอเบอร์ชไตน์ ประเทศเยอรมนี (ดีเอ็นเอได้รับการวิเคราะห์ในปี 2001)
  • ที่ลิ้นชักในครัวที่เกิดเหตุฆาตกรรมบุรุษอายุ 61 ปี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2001 ในเมืองไฟรบวร์คอิมไบรส์เกา ประเทศเยอรมนี
  • ที่กระบอกฉีดเฮโรอีนที่พบในเดือนตุลาคม 2001 ในป่าใกล้กับเมืองเกร็อลชไตน์ ประเทศเยอรมนี
  • ที่เศษคุกกี้ในรถพ่วงที่ถูกงัดแงะในคืนวันที่ 24 ตุลาคม 2001 ในเมืองบูเดินไฮม์ ประเทศเยอรมนี
  • ที่ปืนของเล่นที่พบหลังเกิดเหตุปล้นนักค้าอัญมณีชาวเวียดนามในปี 2004 ในเมืองอาร์บัว ประเทศฝรั่งเศส
  • ที่โปรเจ็กไตล์ทร่พบหลังการต่อสู้ระหว่างพี่น้องสองคนเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2005 ในเมืองวอมส์ ประเทศเยอรมนี
  • ที่หินที่ใช้ปากระจกหน้าต่างในจุดเกิดเหตุโจรกรรมเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2006 ในเมืองซาร์บรึคเคิน ประเทศเยอรมนี (ดีเอ็นเอได้รับการวิเคราะห์ในปี 2008)[5]
  • จากจุดเกิดเหตุโจรกรรมร้านวัดสายตาประกอบแว่นเมื่อเดือนมีนาคม 2007 ในเมืองกัลน็อยเคียร์เชิน รัฐโอแบร์เอิสเตอร์ไรช์ ประเทศออสเตรีย
  • หลังเกิดเหตุโจรกรรมรถยนต์และจักรยานยนต์รวม 20 ครั้ง ระหว่างปี 2003 และ 2007 ในรัฐเฮ็สเซิน, รัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค และรัฐซาร์ลันท์ ประเทศเยอรมนี และในรัฐทีโรลและรัฐโอแบร์เอิสเตอร์ไรช์ ประเทศออสเตรีย
  • ที่รถยนต์ที่ใช้ขนศพชาวจอร์เจียที่ถูกสังหารสามศพเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2008 ในเมืองเฮ็พเพินไฮม์ ประเทศเยอรมนี
  • จากจุดเกิดเหตุโจรกรรมในสระว่ายน้ำร้างเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2008 ในเมืองนีเดอร์ชเต็ทเทิน ประเทศเยอรมนี
  • คดีการบุกรุกบ้านสี่คดีในเมืองเควียร์ชีท (สองครั้ง), เมืองโทไล และเมืองรีโอล ประเทศเยอรมนี เมื่อเดือนมีนาคมและเมษายน 2008
  • ในจุดเกิดเหตุบุกรุกอะพาร์ตเมนต์ในเมืองโอเบิร์สเทินเฟ็ลท์-โกรเนา ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2008
  • จากเหตุปล้นสตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2008 ในคลับเฮาส์แห่งหนึ่งในเมืองซาร์เฮิลทซ์บัค ประเทศเยอรมนี
  • ในรถยนต์ของผู้ช่วยพยาบาลที่เสียชีวิตในปลายเดือนตุลาคม 2008 ใกล้กับเมืองไวนส์แบร์ค ประเทศเยอรมนี

ผลสืบเนื่อง แก้

องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ไอโซ) เผยแพร่มาตรฐาน ISO 18385 ในปี 2016 เพื่อกำหนดมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้เก็บหลักฐานทางชีวภาพที่จุดเกิดอาชญากรรม ที่ปราศจากการปนเปื้อนของดีเอ็นเอมนุษย์[6]

อ้างอิง แก้

  1. "'DNA bungle' haunts German police". BBC News. BBC. 2009-03-28. สืบค้นเมื่อ 2021-11-09.
  2. "Forensics: Germany considers wider use of DNA evidence in criminal cases". Nature. 543 (7647): 589–590. 2017-03-30. Bibcode:2017Natur.543R.589.. doi:10.1038/543589b. PMID 28358108. S2CID 4466872.
  3. "Q-Tip-Off: Police Fear 'Serial Killer' Was Just DNA Contamination". Spiegel Online. 2009-03-26. สืบค้นเมื่อ 2019-08-19.
  4. 4.0 4.1 Berlin, Fran Yeoman in (2009-03-27). "The Phantom of Heilbronn, the tainted DNA and an eight year goose chase". The Times (ภาษาอังกฤษ). ISSN 0140-0460. สืบค้นเมื่อ 2019-08-19.
  5. Weitere DNA-Spur der "Phantommörderin" (8 April 2008) Rheinische Post (german). Retrieved 15 August 2012.
  6. Gasiorowski-Denis, Elizabeth (2016-07-06). "The mystery of the Phantom of Heilbronn". ISO. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-25. สืบค้นเมื่อ 2020-04-18.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้