ผักหนอก (จีน: 阿萨姆天胡荽)[1] ชื่อวิทยาศาสตร์: Hydrocotyle siamica เป็นพืชล้มลุกในวงศ์ Araliaceae ลำต้นทอดเลื้อยตามพื้นดิน ใบรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ดอกเป็นดอกช่อ ผลเป็นรูปไต พบในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย พบครั้งแรกที่ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยหมอคาร์ ชาวไอริช ชื่อสปีชีส์ตั้งเป็นเกียรติแก่ประเทศไทย[2] ชื่ออื่น: ผักหนอกเขา, ผักหนอกดอย (เชียงใหม่), บัวบกเขา (นครศรีธรรมราช), ผักแว่นเขา (ตราด), ผักหนอกช้าง (ภาคเหนือ), กะเซดอมีเดาะ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน), ผักหนอกป่า (เงี้ยว แม่ฮ่องสอน)[3]

ผักหนอก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
เคลด: แอสเทอริด
อันดับ: อันดับผักชี
วงศ์: วงศ์เล็บครุฑ
สกุล: Hydrocotyle
สปีชีส์: Hydrocotyle siamica
ชื่อทวินาม
Hydrocotyle siamica
ชื่อพ้อง

Hydrocotyle javanica var. hookeri C.B.Clarke

ลักษณะ แก้

เป็นไม้ล้มลุก มีอายุได้หลายปี มีความสูงได้ประมาณ 15–40 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะฉ่ำน้ำ เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย แตกไหลไปตามพื้นดิน กิ่งชูตั้งขึ้น พบได้ในเขตร้อนของเอเชีย, จีน, ญี่ปุ่น จนถึงออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค มักขึ้นตามที่ชื้นแฉะ และตามชายป่า จนถึงระดับความสูงประมาณ 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง ส่วนใหญ่มีด้านกว้างมากกว่าด้านยาว โคนใบเป็นรูปหัวใจตื้น ๆ ขอบใบหยักมนประมาณ 5–7 หยัก หรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย โดยมีขนาดกว้างประมาณ 3–9 เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบออกจากโคน 7–9 เส้น ส่วนมากมีขนสั้นนุ่มตามเส้นแขนงของใบทั้งสองด้าน ก้านใบยาวได้ถึง 17 เซนติเมตร มีขนยาวขึ้นปกคลุม

ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบ มีหลายช่อ ก้านช่อส่วนมากมีความยาวไม่เกิน 2 เซนติเมตร หรือยาวกว่าเล็กน้อย แต่ส่วนมากจะสั้นกว่าก้านใบ ช่อดอกเป็นแบบซี่ร่ม มีดอกจำนวนมาก ขนาดเล็ก ก้านดอกสั้นมาก ยาวได้ประมาณ 2 มิลลิเมตร มีใบประดับ กลีบดอกเป็นสีขาวหรือขาวแกมเขียว หรือมีแต้มสีม่วงแดง กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปลายแหลม

ผลเป็นผลแห้งและแตกได้แยกเป็น 2 ซีก ผลมีขนาดเล็ก เกลี้ยง สีเขียวเข้มถึงน้ำตาลแดง ลักษณะเป็นรูปโล่หรือรูปกลมแป้น ๆ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5–1.8 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1–1.3 มิลลิเมตร[4]

การใช้ทางการแพทย์พื้นบ้าน แก้

ทั้งต้นใช้ผสมกับเปลือกต้นมะกอก, หูเสือทั้งต้น, สะระแหน่ทั้งต้น, ฮางคาวทั้งต้น, รากหญ้าคา และตาอ้อยดำ นำมาแช่กับน้ำหรือต้มกับน้ำดื่มเป็นยาเย็น แก้ไข้ชักในเด็ก, ใช้ทั้งต้นต้มกับน้ำดื่มทำให้ชุ่มคอ, ตำพอกแก้ช้ำใน[5] ใบใช้ตำประคบแก้ไข้

ตำรายาพื้นบ้านล้านนาใช้ทั้งต้นต้มกับไก่และเนื้อในเมล็ดท้อนึ่ง แก้อาการบวมจากโรคไต, ชาวอาข่าใช้ทั้งต้น ตำพอกหรือคั้นเอาน้ำทารักษาแผลสด แผลถลอก และใช้เป็นยาห้ามเลือด

อ้างอิง แก้

  1. "阿萨姆天胡荽 Hydrocotyle hookeri (C. B. Clarke) Craib". 中国植物物种信息数据库. 中国植物物种名录(CPNI). 17 มกราคม 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2022.
  2. ปิยะ เฉลิมกลิ่น; จิรพันธุ์ ศรีทองกุล & อนันต์ พิริยะภัทรกิจ (2008). วิสุทธิ์ ใบไม้ & รังสิมา ตัณฑเลขา (บ.ก.). พรรณไม้ที่พบครั้งแรกของโลกในเมืองไทย. กรุงเทพฯ: โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพ. p. 56. ISBN 974-229-965-X.
  3. วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล; และคณะ, บ.ก. (1996). ผักหนอก. สมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. กรุงเทพฯ: ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. p. 128. ISBN 974-588-590-8.
  4. "ผักหนอกเขา". สารานุกรมพืชในประเทศไทย. กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช. 30 มกราคม 2017.
  5. "ผักหนอกเขา". ฐานข้อมูลพรรณไม้. องค์การสวนพฤกษศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2022.